alivesonline.com : No One Knows What Thailand Is Doing Right, but So Far, It’s Working เป็นรายงานชิ้นพิเศษจากสื่อดังระดับโลกอย่าง The New York Times เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่พาดหัวข่าวชื่นชมเชิงประหลาดใจถึงศักยภาพของประเทศไทยในการควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 พร้อมวิเคราะห์ถึงหลากหลายแง่มุมและความเป็นได้ต่าง ๆ ที่ว่า ทำไมประเทศไทยถึงรับมือได้ดี
แน่นอนว่าการจะรับมือกับโรคอุบัติใหม่ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และนโยบายที่เข้มงวดจากภาครัฐแล้ว ศักยภาพและความพร้อมทางการแพทย์ก็มีส่วนสำคัญ ประเทศไทยเองถือว่ามีความพร้อมทั้งด้านระบบและบุคลากร เป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ถึงกับขนาดได้รับการยกย่องให้เป็นประเทศที่มีระบบสุขภาพที่ดีที่สุดประจำปี 2562 ติดอันดับ 6 ของโลก และเป็น 1 ใน 13 ประเทศที่มีความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดมากที่สุด
การแพทย์และสาธารณสุขไทยได้รับการพัฒนาและวางรากฐานที่มั่นคงมาอย่างต่อเนื่องนับร้อยปี ซึ่งหากกล่าวถึงองค์กรการกุศลผู้เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการสนับสนุนงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่อยู่เคียงข้างคนไทยมาอย่างยาวนาน เชื่อว่า มูลนิธิรามาธิบดีฯ คงเป็นองค์กรหนึ่งในดวงใจของคนไทยหลายล้านคน
กว่า 50 ปี “มูลนิธิรามาธิบดีฯ” ผู้สืบสานปณิธานการให้
มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์กรการกุศล ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางระดมทุนและสนับสนุนการดำเนินงานของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2512 มี 4 พันธกิจสำคัญ อันได้แก่ การรักษา สร้างงานวิจัย สร้างแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ และสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อสุขภาวะของสังคม มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุข และสร้างโอกาสในการเข้าถึงการรักษาอย่างเต็มประสิทธิภาพให้กับคนไทยทุกคนในทุกระดับชั้น
ที่ผ่านมาได้รับพลังความช่วยเหลือจากประชาชนชาวไทยที่มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคทุนทรัพย์ ทำให้สามารถนำไปจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาและช่วยชีวิตผู้ป่วยกว่า2 ล้านรายต่อปี นอกจากนี้ยังสามารถนำไปสร้างคุณาประโยชน์ให้กับสังคมผ่านโครงการต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้ โครงการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด โครงการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ เพื่อสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ และโครงการป้องกันและช่วยเหลือสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นต้น
ศูนย์รวมบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคซับซ้อน
ทุกข์จากโรคร้ายไม่เพียงกล้ำกลืนร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย หากแต่ยังกัดกินหัวใจครอบครัวของผู้ป่วยที่เฝ้ารอคนที่พวกเขารักกลับบ้าน อย่างครอบครัวเล็ก ๆ ในจังหวัดพิษณุโลก ที่ต้องเผชิญกับความสูญเสียครั้งใหญ่ถึงสองครั้ง เมื่อลูกรักวัยทารกทั้งสองคนที่เปรียบเสมือนกล่องดวงใจจากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับด้วยโรคหัวใจโตไม่ทราบสาเหตุ
“เนื่องจากมีประวัติพี่ทั้ง 2 คนเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจโตไม่ทราบสาเหตุ เมื่อน้องรชนีเกิด คุณหมอจึงให้อยู่ที่โรงพยาบาลต่อเพื่อดูอาการ เลยพบว่ามีอาการหายใจเร็วและหัวใจเริ่มโตขึ้น จึงถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลรามาธิบดี น้องได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น โรคพอมเพย์ ตั้งแต่อายุเพียง 25 วัน การรักษาเดียวคือ ต้องใช้ยาเอนไซม์ทดแทนให้ทางเส้นเลือด ซึ่งบัตร 30 บาทไม่ได้ครอบคลุม เป็นบุญของน้องและพวกเราทุกคนในครอบครัวที่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการผู้ป่วยยากไร้ จนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลากว่า 5 ปี เนื่องจากน้องได้รับการวินิจฉัยก่อนมีอาการรุนแรง ทำให้รอดชีวิตจากภาวะหัวใจวายและหัวใจของน้องไม่โตอีกเลย ความช่วยเหลือจากทุก ๆ ท่าน ไม่เพียงช่วยต่อลมหายใจของน้อง แต่ยังช่วยต่อลมหายใจของดิฉันและครอบครัว ขอขอบพระคุณทุกท่าน ๆ จากหัวใจของคนเป็นแม่” คุณแม่ของเด็กหญิงรชนี กล่าว
“โรคพอมเพย์” (Pompe Disease) เป็นหนึ่งในโรคพันธุกรรมกลุ่ม LSD ที่เกิดจากการขาดเอนไซม์ที่ย่อยสลายสารโมเลกุลใหญ่ (ไกลโคเจน) ซึ่งอยู่ในเซลล์กล้ามเนื้อแขนขาและหัวใจ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการตัวอ่อนและหัวใจโตตั้งแต่วัยทารก โรคนี้มีความรุนแรงสูง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนด้วยเอนไซม์ทดแทน ผู้ป่วยจะเกิดภาวะการหายใจล้มเหลวฉับพลันซึ่งมีอันตรายถึงชีวิต จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจช่วยเหลือ โรคพอมเพย์เป็นหนึ่งในโรคหายากไม่ทราบอุบัติการณ์ที่แน่ชัดในประเทศไทย ปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยเพียง 8 ราย ซึ่งทั้งหมดได้รับความช่วยเหลือทางด้านการรักษาอย่างเต็มกำลังจาก ศูนย์รวมทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปรียบดังแสงแห่งความหวังของผู้ป่วยโรคซับซ้อนในปัจจุบัน
ถึงแม้ว่าประชาชนชาวไทยจะได้รับสิทธิการรักษาฟรีตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิพื้นฐานอื่น ๆ แต่ก็ยังพบว่า ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ เพราะสิทธิไม่ครอบคลุม ยาหรืออุปกรณ์การแพทย์บางรายการไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติและมีค่าใช้จ่ายสูง เป็นต้น โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้ จึงถือกำเนิดขึ้น จากความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยโรงพยาบาลรามาธิบดี และสร้างความหวังทางการรักษาให้กับผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ ให้ได้รับโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
“เสียงจากใจผู้รับ” กับบทบาทความเป็นผู้ให้ในวันนี้
ทุกพลังของ ‘การให้’ ของคนไทย สามารถแปรเปลี่ยนเป็นพลังการให้ที่ยิ่งใหญ่ได้
หนึ่งในอดีตผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง วัยเพียง 10 ขวบ นักศึกษาแพทย์กรณัฐ ทิพย์ทะเบียนการ จากทุนมูลนิธิรามาธิบดีฯ คงจะเป็นอีกคนที่ยืนยันถึงคำกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดี
“การให้ของทุกคนในวันนั้นช่วยต่อลมหายใจของผมและครอบครัว ทำให้ผมมีชีวิตที่ปราศจากโรคร้าย เหมือนได้ชีวิตใหม่อีกครั้งได้ เมื่อตอนเป็นเด็กผมต้องเข้าออกโรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ จากจุดนั้นทำให้ผมได้พบกับคุณหมอโรงพยาบาลรามาธิบดีผู้ที่รักษาผม ซึ่งจุดประกายความฝันและเป็นแรงบันดาลใจให้ผมมุ่งมั่นมาเป็นนักศึกษาแพทย์อย่างเช่นทุกวันนี้ ในอนาคตผมอยากเป็นคุณหมอรักษามะเร็งในเด็กและต้องการตอบแทนสังคมที่ช่วยเหลือผม ด้วยการส่งต่อการให้กลับคืนไปสู่สังคมในฐานะแพทย์รามาธิบดี” นักศึกษาแพทย์กรณัฐ นักศึกษาแพทย์รามาธิบดี ชั้นปีที่ 5 กล่าว
สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ โรงเรียนแพทย์ของแผ่นดิน…เพื่อคนไทยทุกคน
หลายคนอาจจะรู้จัก “สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์” จากการเป็นโรงพยาบาลหลักในการรักษาและดูแลผู้ป่วย COVID-19 ในช่วงตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ก็อาจจะยังไม่ทราบว่า สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์แห่งนี้ เป็นการดำเนินงานภายใต้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ไม่เพียงเปิดให้บริการในรูปแบบของโรงพยาบาล แต่ยังมีอีกบทบาทสำคัญในฐานะโรงเรียนแพทย์ต้นแบบและสถานที่วิจัยทางการแพทย์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ของประเทศให้เป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ ดังพระราชปรารภและพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙)
“มูลนิธิรามาธิบดีฯ เชื่อว่า การที่สังคมจะมีสุขภาวะหรือความมีสุขภาพดีได้อย่างยั่งยืนนั้น นอกจากจำเป็นจะต้องมีศักยภาพทางด้านการรักษาแล้ว ยังต้องมีความก้าวหน้าทางการวิจัย ความแข็งแกร่งทางบุคลากรทางการแพทย์ และความรู้เพื่อสร้างเสริมสุขภาพหรือเป็นเกราะป้องกันความเจ็บป่วย ควบคู่ไปกับโอกาสในการเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงของทุกคนในชาติ”
“จากจุดกำเนิดที่ต้องการเป็นสะพานบุญให้พี่น้องชาวไทยร่วมให้สุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนกับผู้ที่เจ็บป่วย และความหมายมั่นที่จะเป็นกำลังสนับสนุนให้ภารกิจของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีบรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ คงจะไม่ผิดหากจะกล่าวว่าหลากหลายความสำเร็จทางการแพทย์คงจะเป็นไปได้ยาก หากไม่ได้มาซึ่งความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน”
“ในวาระครบรอบ 51 ปีและในนามของมูลนิธิรามาธิบดีฯ ดิฉันขอกราบขอบพระคุณทุกการให้จากประชาชนชาวไทยทุกคนมา ณ โอกาสนี้ มูลนิธิรามาธิบดีฯ ขอให้คำมั่นว่า ทุกเงินบริจาคจะได้รับการจัดสรรอย่างคุ้มค่าเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย สร้างสาธารณประโยชน์และพัฒนาการสาธารณสุขของประเทศ เราจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางอย่างเต็มกำลังความสามารถให้ผู้มีจิตศรัทธาซึ่งเชื่อในสิ่งเดียวกันได้สร้างและร่วมสืบสานวัฒนธรรมการให้นี้แก่สังคมไทยตลอดไป” นางสาวพรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวปิดท้าย
ปัจจุบันวิทยาการด้านการแพทย์ของประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากการต่อยอดผลงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนและผลักดันงานวิจัยให้เกิดประโยชน์และสามารถใช้ได้จริงอย่างแพร่หลาย อันจะนำไปสู่การป้องกัน บำบัด และรักษาที่มีประสิทธิภาพในที่สุด จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน มูลนิธิรามาธิบดีฯ
จึงขอเรียนเชิญพี่น้องชาวไทยผู้มีจิตศรัทธา บริจาคสมทบทุนและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการ “ให้” และ “สร้าง” สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ โรงเรียนแพทย์ของแผ่นดิน เพื่อเตรียมความพร้อมแพทย์ไทยในการรับมือกับภาวะฉุกเฉินต่างๆ เติมเต็มโอกาสและความหวังในการรักษาที่ดียิ่งขึ้นให้กับพี่น้องคนไทยทุกคนต่อไป ดังปณิธานที่ว่า “การให้…ไม่สิ้นสุด”
ชื่อบัญชี มูลนิธิรามาธิบดี ธนาคารกสิกรไทย บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 879-2-00448-3
ธนาคารไทยพาณิชย์ บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 026-3-05216-3
ธนาคารกรุงเทพ บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 090-3-50015-5
บริจาคออนไลน์ www.ramafoundation.or.th
สอบถาม โทร.0 2201 1111