วิกฤตโควิด-19 ได้ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค ทั้งด้านความพึงพอใจ และความต้องการสินค้าที่สนับสนุนระบบภูมิคุ้มกันร่างกายและส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ผลิตอย่างยั่งยืนก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
แนวโน้มทางตลาดที่เปลี่ยนแปลงมีความสำคัญอย่างมากต่อการปรับตัวของผู้ประกอบการ ด้วยเหตุนี้ “อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์” ผู้ประกอบธุรกิจการจัดแสดงสินค้าและกิจกรรมสำหรับเจรจาธุรกิจระดับนานาชาติ จึงได้จัดงาน “ProPak Asia Webinar Series – CONNECT: Food Industry” ขึ้น ในวันที่ 7 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา เพื่ออัพเดตเทรนด์ของตลาดให้กับผู้ประกอบการและผู้ซื้อทั่วโลก
ครั้งนี้ ProPak Asia นำเสนองานสัมนาแบบเสมือนจริง (virtual) ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ฟรี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนจากทั่วโลกได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญและสมาคมชั้นนำ เพื่อจะได้นำความรู้ไปประยุกต์พัฒนาธุรกิจของตนเองให้นำหน้าคู่แข่ง
นอกจากนั้น งานสัมมนานี้ยังเป็นการอุ่นเครื่องก่อนที่จะมี ProPak Asia 2021 งานแสดงสินค้าแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ชั้นนำ สำหรับอาหาร เครื่องดื่ม ยา เครื่องสำอาง และสินค้าอุปโภคบริโภค ปีที่ 29 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในรูปแบบ VIRTUAL EVENT วันที่ 9-23 มิถุนายน 2564 นี้
ProPak Asia Webinar Series – CONNECT: Food Industry ประกอบด้วย 3 หัวข้อที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ 1.เทรนด์อาหารและเครื่องดื่ม และสถานการณ์การนำเข้าและส่งออก (Food and Beverage Trends and Import & Export Projection) ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป (TFPA) 2.เทรนด์อาหารของประเทศไทย: หลักเกณฑ์ GMP ฉบับใหม่ (Thailand Food Trend: New GMP requirements) ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT) 3.นวัตกรรมอาหารรูปแบบใหม่ (Smart Food Solutions) ร่วมกับ World Packaging Organization (WPO)
สำหรับการสัมนาในหัวข้อ “นวัตกรรมอาหารรูปแบบใหม่” เริ่มด้วยการกล่าวเปิดงานโดย “ศาสตราจารย์ ปีแอร์ ปีเอียนาร์” (Prof. Pierre Pienaar) ประธาน World Packaging Organisation (WPO) โดยกล่าวว่า “งานสัมนาครั้งนี้มีความพิเศษมาก เพราะเป็นการรวบรวมวิทยากรระดับสูงจากทั่วโลก เพื่อนำเสนอข้อมูลที่ทันสมัยให้กับคนทั่วโลก ทั้งวิทยากรจาก ประเทศไทย บราซิล ออสเตรีย และออสเตรเลีย เป็นต้น” ซึ่งศาสตราจารย์ปิแอร์เองก็ได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลและองค์ความรู้เป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้แต่ละคนมีความเข้าใจในความยั่งยืนได้ลึกซึ้งมากขึ้น อย่างที่ศาสตราจารย์กล่าวว่า “การตัดสินใจที่จะให้ความรู้และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนนั้น จะช่วยสร้างรากฐานของคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนให้กับลูกหลานในอนาคตของเราได้”
จากนั้นวิทยากร 3 คน ได้แก่ “ดร. โจฮันเนส เบิร์กแมร์” (Dr. Johannes Bergmair) เลขาธิการ WPO และผู้ตรวจสอบเทคโนโลยีอาหารระดับโลก จากประเทศออสเตรีย, “โจ ฟอสเตอร์” (Joe Foster) ผู้รับรางวัล WPO Lifetime Achievement Award ปี 2020 และกรรมการผู้จัดการ O F Packaging จากประเทศออสเตรเลีย และ “อลัน อดัมส์” (Alan Adams) ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืน ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท Sealed Air ได้ร่วมพูดถึงนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารในแง่มุมต่าง ๆ รวมถึงเรื่องความยั่งยืน (sustainability) ดังนี้
“ดร. โจฮันเนส” กล่าวว่า หากจะพูดถึงความยั่งยืนและบรรจุภัณฑ์ในปัจจุบัน หลายคนมักโฟกัสไปที่ปัญหาขยะ อย่างเช่นขยะพลาสติกในท้องทะเล แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกกว่านั้นจะเห็นว่า การสร้างความยั่งยืนไม่เกี่ยวกับเรื่องการลดขยะพลาสติกเท่านั้น เพราะปัญหาใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกตอนนี้และสหประชาชาติ (United Nations – UN) ให้ความสนใจคือ การสูญเสียอาหารจากขั้นตอนการผลิต (food loss) และปริมาณอาหารถูกทิ้งให้เสียหรือหมดอายุ (food waste) ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีความสำคัญ เพราะยังมีหลายร้อยล้านคนทั่วโลกที่กำลังเผชิญกับความอดอยาก และภายในปี 2050 โลกจะมีจำนวนประชากรเพิ่มอีก 9 พันล้านคน ที่ต้องใช้อาหารในการดำรงชีวิต
“บรรจุภัณฑ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาขยะอาหาร เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยปกป้องอาหารให้ปลอดภัยจากความชื้นและแมลง เป็นต้น ในขณะเดียวกันบรรจุภัณฑ์ก็เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ มีการใช้วัตถุดิบและพลังงาน ที่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และการฝังกลบขยะ”
แต่ถึงอย่างไร การยกเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ 100% ไม่ได้ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ 100% เพราะการไม่ใช้บรรจุภัณฑ์จะส่งผลต่อการปกป้องอาหาร และทำให้เกิดปัญหาขยะอาหารตามมา ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือ หาจุดที่พอดี เลือกใช้วัตถุดิบในการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และใช้วัตถุดิบให้น้อยลง เช่น ลดขนาดขวด และฝา ก็จะส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมน้อยลง
ด้าน “โจ” อธิบายว่า รูปแบบการจัดหาอาหาร การผลิต และการบริโภคได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะ หากย้อนไปเมื่อ 100 ปีที่แล้วจะเห็นว่า การบรรจุสินค้าต้องการอายุเก็บรักษาเพียง 1 สัปดาห์หรืออย่างมาก 1 เดือนเท่านั้น แต่ในปัจจุบันความต้องการยืดอายุสินค้ายาวนานขึ้น อาจเป็น 1 ปี หรือ 5 ปี
“เราจึงต้องพึ่ง flexible packaging (บรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว) ที่มีองค์ประกอบ 4-5 ชั้น ประกอบไปด้วยพลาสติก ฟิล์ม ฟอล์ย และกระดาษ ซึ่งบรรจุภัณฑ์ปะเภทนี้มีประโยชน์ต่อการทำการค้า เพราะปรับรูปทรงให้ตอบสนองการบรรจุสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะได้ มีน้ำหนักเบา ไม่กินพื้นที่ และง่ายต่อการขนย้าย นอกจากนั้นชาวยลดต้นทุนการขนส่งอีกด้วย”
แต่ในขณะเดียวกันก็มีหลายคนไม่ชอบ flexible packaging เพราะไม่สามารถรีไซเคิลได้ แต่ความจริงแล้วเราสามารถทำ flexible packaging ที่ยั่งยืนได้ โดยกว่า 3 ปีที่ผ่านมา O F ได้ทำงานศึกษาหาโซลูชั่นเพื่อทำบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัวให้ยั่งยืน และสร้างการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่การปรับจำนวนชั้นให้น้อยลงเหลือ 1 ชั้น (single layer) ทำให้รีไซเคิลได้ รวมถึงปรับเม็ดพลาสติกให้มีคุณสมบัติแข็งแรงมากขึ้น และนำวัตถุดิบรีไซเคิลมาใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์
ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องลงทุนกับการปรับไปทำบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยสิ่งแวดล้อม แต่ยังคงมีประสิทธิภาพปกป้องอาหารได้ดี เพื่อช่วยลด food loss และ food waste
“อลัน” กล่าวถึงอนาคตของบรรจุภัณฑ์เนื้อสัตว์ว่า บรรจุภัณฑ์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ เพราะเป็นสิ่งที่ลูกค้าเห็น สัมผัส และดึงดูดความสนใจ แต่ต้องทำให้บรรจุภัณฑ์มีการหมุนเวียน (circular) มากขึ้น ดังนั้น Sealed Air จึงลงทุนและร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อทำให้บรรจุภัณฑ์สามารถรีไซเคิลได้ภายในปี 2025 ซึ่งปัจจุบันมีบรรจุภัณฑ์พลาสติกมากมายในท้องตลาดที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม แต่ปัญหาคือ เราขาดโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยเก็บบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว
“จากการทำการสำรวจของ Sealed Air ในประเทศจีน อิตาลี และสหรัฐอเมริกาในปี 2020 พบว่า ผู้บริโภคมองว่าเนื้อสัตว์ที่จำหน่ายแบบให้ลูกค้าเลือกหยิบเอง (self-service meat) ที่ส่วนใหญ่ใส่บรรจุภัณฑ์พลาสติก ไม่ช่วยส่งเสริมความยั่งยืน แต่อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังคงเลือกซื้อ self-service meat เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ร้อยละ 32 ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่า self-service meat มีความยั่งยืนมากกว่าการซื้อเนื้อสัตว์แบบที่มีพนักงานหยิบชั่งน้ำหนักและใส่บรรจุภัณฑ์ให้ (full-service meat) และร้อยละ 69 ซื้อ self-service meat มากกว่า full-service meat”
“ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการล็อคดาวน์ ส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 59 ลองซื้อสินค้าผ่านช่องทางใหม่ และร้อยละ 52 เลือกทำการซื้อผ่านทางอีคอมเมิร์ซครั้งแรก”
เมื่อเปรียบเทียบบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกแบบดั้งเดิมกับบรรจุภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ย่อยสลายได้ (ที่มีราคาและอายุการเก็บรักษาใกล้เคียงกัน) ผู้บริโภคจะเลือกซื้อรูปแบบที่ย่อยสลายได้มากกว่า แต่ถ้าหากบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้มีอายุการเก็บรักษาน้อยกว่าแบบดั้งเดิม 2 วัน ผู้บริโภคจะมีความสนใจในบรรจุภัณฑ์แบบดั้งเดิมมากกว่า แต่จะเอามาวนกลับใช้อีกครั้ง
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วม PROPAK ASIA VIRTUAL EVENT ได้ที่ WWW.PROPAKASIA.COM จับคู่ธุรกิจในอุตสาหกรรมการผลิตการแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ และสัมมนาคุณภาพจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก อีกกว่า 20 หัวข้อ