New Issues » ไทยติดอันดับ 5 ตลาดน่าลงทุนในภูมิภาค

ไทยติดอันดับ 5 ตลาดน่าลงทุนในภูมิภาค

19 พฤศจิกายน 2018
0

alivesonline.com : PwC เผย CEOในกลุ่มประเทศ “เอเปก” ยังคงเชื่อมั่นว่า แนวโน้มการเติบโตของรายได้และธุรกิจของตนในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะแข็งแกร่ง แม้ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีนจะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมากกว่าครึ่งมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในปีหน้า ขณะที่ “ไทย” ติดอันดับ 5 ตลาดน่าลงทุนในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ รองจาก เวียดนาม จีน สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ชี้ผู้นำธุรกิจ “เอเปก” ตื่นตัวต่อการเข้ามาของเทคโนโลยี พร้อมเล็งจ้างงานเพิ่ม แต่วอนภาครัฐให้ปรับปรุงระบบการศึกษาและพัฒนาทักษะ STEM ให้แก่แรงงาน

 

นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย ที่ปรึกษาทางธุรกิจ กฎหมาย และบัญชี เปิดเผยถึงผลสำรวจล่าสุด “APEC CEO Survey 2018” ที่ใช้เผยแพร่ในการประชุมสุดยอดผู้นำ “APEC CEO Summit ประจำปี 2561” ณ เมืองพอร์ตมอร์สบี ประเทศปาปัวนิวกินี ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งทำการสำรวจผู้บริหารในกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ “เอเปก” จำนวน 1,189 รายใน 21 ประเทศ ว่า 35% ของ CEO “เอเปก” แสดงความมั่นใจมากว่า รายได้ของบริษัทในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะเติบโต เปรียบเทียบกับ 37% ในปีที่ผ่านมา ขณะที่ 51% ของผู้นำธุรกิจในภูมิภาคยังมีแผนจะเพิ่มการลงทุนในปี 2562

ผลสำรวจยังระบุด้วยว่า CEO จากสหรัฐอเมริกาและไทย ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำทางธุรกิจที่แสดงความมั่นใจต่อการเติบโตของรายได้มากที่สุดในปีนี้ (ที่ 57% และ 56% ตามลำดับ) ในขณะที่ผู้ถูกสำรวจจากจีนและเม็กซิโก ซึ่งทั้งสองถือเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา มีความเชื่อมั่นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 25% และ 21%

ทั้งนี้ จากการสำรวจครั้งที่ 2 กับผู้นำทางธุรกิจของสหรัฐอเมริกา จำนวน 100 ราย ภายหลังจากการที่สหรัฐอเมริกาและจีนตั้งกำแพงภาษีตอบโต้กันเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาพบว่า ส่วนใหญ่ (69%) คาดว่า การจัดเก็บภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากจีนจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อรายได้บริษัทของพวกเขา โดยมีเพียง 27% ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบต่อต้นทุนของบริษัท

นอกเหนือจากมุมมองเชิงบวกต่อการเติบโตของรายได้แล้ว 51% ของผู้บริหาร “เอเปก” ยังวางแผนจะเพิ่มระดับของการลงทุนมากขึ้น เปรียบเทียบกับ 43% ในปี 2559 โดยประเทศที่ถูกจัดให้เป็นเป้าหมายของการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด ได้แก่ เวียดนาม จีน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และไทย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของออสเตรเลียที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ตลาดที่เป็นเป้าหมายการลงทุน ขณะที่อินโดนีเซียหลุดอันดับไปในปีนี้

 

 

“ไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและการลงทุนในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศ เพราะสภาพเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มที่ดี โดยได้รับปัจจัยหนุนทั้งจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ซึ่งจะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว ประกอบกับการขยายตัวของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ในด้านทรัพยากรและแรงงานเอง ไทยก็มีความพร้อมทั้งทางด้านทักษะ และค่าแรงที่ไม่สูงมากนัก อย่างไรก็ดี สิ่งที่รัฐบาลไทยควรเร่งผลักดันคือ การพัฒนาและฝึกอบรมทักษะ STEM ซึ่งจะกลายเป็นหนึ่งในทักษะที่มีความสำคัญและจำเป็นมากต่อแรงงานในยุคดิจิทัล” นายศิระ กล่าว

สำหรับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย หรือ GDP ในช่วงไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 4.6% เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกขยายตัว 4.8%

นอกเหนือจากการลงทุนในตลาดยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา และจีน ผู้บริหารยังมองหาโอกาสในการทำธุรกิจในตลาดสำคัญอื่น ๆ ด้วย โดยมองว่า สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ถือเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอันดับต้น ๆ ที่มีความพร้อมและระบบนิเวศที่เอื้อต่อธุรกิจสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น (สตาร์ทอัปที่มีมูลค่าบริษัทเกิน 1 พันล้านเหรียญ)

ด้าน นายเรย์มันด์ ชาว ประธาน บริษัท PwC สาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า ถึงแม้ว่าผู้บริหารจะไม่ชอบความไม่แน่นอนทางธุรกิจในทุก ๆ มิติ อย่าว่าแต่ประเด็นเรื่องของการค้าเลย พวกเขาก็เรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับโลกแห่งความเป็นจริงใหม่และแสวงหาหนทางที่จะเติบโตและประสบความสำเร็จ ในขณะที่ประมาณ 1 ใน 5 ของผู้นำธุรกิจที่เราได้มีโอกาสพูดคุยด้วย บอกว่าเผชิญกับอุปสรรคทางการค้าใหม่ ๆ ในปีนี้ แต่จำนวน CEO ที่มองเห็นโอกาสใหม่ ๆ จากการข้อตกลงทางการค้าก็ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา

“ในทุกสงครามทางการค้าย่อมมีทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ แต่รายงานของเราก็สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว ธุรกิจยังค้นพบลู่ทางใหม่ ๆ เพื่อดำเนินไปสู่การเติบโต” นายเรย์มันด์ กล่าว

สำหรับแนวโน้มของตลาดการจ้างงานใน “เอเปก” นั้น ผลสำรวจพบว่า ยังคงมีทิศทางเชิงบวก โดย 56% ของผู้นำทางธุรกิจบอกว่า มีการจ้างงานมากขึ้นและมีเพียง 9% เท่านั้นที่กำลังลดจำนวนพนักงานซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะที่ใช่สำหรับองค์กรยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก โดย 34% ของผู้บริหารยังคงเผชิญกับปัญหาการเฟ้นหาพนักงานที่มีทักษะและประสบการณ์ที่เหมาะสมกับองค์กร ซึ่งช่องว่างดังกล่าวนี้พบมากในส่วนของการขาดแคลนทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (Science, Technology, Engineering, Maths : STEM) ทั้งนี้ 65% ของผู้บริหารระบุว่า ภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการสนับสนุนการฝึกอบรมแรงงานให้มีความเชี่ยวชาญในทักษะมากขึ้น และมีเพียง 14% ที่รู้สึกว่าภาครัฐดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้ดีแล้ว

ส่วนประเด็นเรื่องของการขาดแคลนทักษะที่จำเป็นนี้ยังสะท้อนได้จากความเห็นของผู้บริหารเมื่อถูกถามว่า ปัจจัยใดที่ผู้นำ “เอเปก” ควรร่วมกันผลักดันให้เกิดการเติบโตอย่างทั่วถึงต่อประชากรทั่วทั้งภูมิภาคซึ่งนั่นก็คือ การขยายการเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสูงในทุก ๆ ระดับ ตามด้วยการพัฒนาทางด้านคมนาคม

“ปัญหาการฝึกอบรมและการศึกษากลายเป็นวาระสำคัญของผู้นำทางธุรกิจของ “เอเปก” ที่ต้องการส่งสาส์นไปถึงบรรดาผู้นำประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ ณ เมืองพอร์ตมอร์สบี ในปีนี้ว่า ยังต้องการความช่วยเหลือตรงจุดไหนและด้านใดบ้างที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว”

นอกจากนี้ CEO “เอเปก” ยังตระหนักดีถึงความจำเป็นต่อการลงทุนในการเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัล เห็นได้จากภารกิจในการลงทุนที่สำคัญของผู้บริหารในปีนี้มุ่งเน้นไปที่การสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านดิจิทัล ตามมาติด ๆ ด้วยการเพิ่มทักษะทางด้านดิจิทัลให้แรงงาน ทั้งนี้ รายงานคาดการณ์ว่า ภายในปี 2568 เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำทางธุรกิจของ “เอเปก” รู้ด้วยว่า ยังมีสิ่งที่ตนต้องทำมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ดิจิทัล ส่วนหนึ่งเพราะมีเพียง 15% ของผู้บริหารเท่านั้นที่บอกว่า มีใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพื่อการแข่งขันสูงมาก ขณะที่ 33% ยังไม่มีการใช้งาน AI เลย โดยผู้บริหารที่บอกว่า ธุรกิจของตนมีการใช้งาน AI เพื่อการแข่งขันสูงมากนั้น รู้ว่าตนต้องสานต่อศักยภาพด้านดิจิทัลผ่านการขยายการลงทุน เพิ่มขีดความสามารถในการใช้ AI รวมถึงลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพท้องถิ่น

แม้ว่า เทคโนโลยีจะเป็นส่วนหนึ่งที่ตอบโจทย์การเติบโตอย่างยั่งยืน แต่ก็นำมาซึ่งความท้าทายในสภาพแวดล้อมทางการค้าที่การเคลื่อนย้ายข้อมูลข้ามพรมแดน (20%) กลายเป็นอุปสรรคใหม่ที่หลายธุรกิจกำลังเผชิญเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาที่ 15%

“ในขณะที่ธุรกิจเอเปกก้าวสู่ดิจิทัลและมีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น AI เข้ามาประยุกต์ใช้ กระแสของข้อมูลจะยิ่งกลายเป็นเชื้อเพลิงที่ช่วยผลักดันการค้าโลกมากขึ้น ดังนั้นการรับมือกับอุปสรรคที่มากับกระแสของข้อมูลที่เพิ่มขึ้นจะยังคงเป็นความกังวลสำหรับธุรกิจในระยะต่อไป” นายเรย์มันด์ กล่าวในตอนท้าย