New Issues » วิตกปัญหาขยะพลาสติกสะสมเกิน 2 ล้านตัน รัฐ-เอกชนเร่งรณรงค์สร้างแนวทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

วิตกปัญหาขยะพลาสติกสะสมเกิน 2 ล้านตัน รัฐ-เอกชนเร่งรณรงค์สร้างแนวทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

28 พฤศจิกายน 2018
0

alivesonline.com : ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เมลามีนรายใหญ่ “ศรีไทยซุปเปอร์แวร์” ร่วมโครงการ “รณรงค์การใช้ภาชนะหมุนเวียนในเขตอุทยานแห่งชาติ” มอบปิ่นโตเมลามีน 500 เถา ให้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ส่งผ่าน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระจายใช้ในสถานที่ท่องเที่ยวและอุทยานแห่งชาติต่าง ๆ หวังลดปัญหาขยะพลาสติกสะสมปีละกว่า 2 ล้านตัน พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ภาครัฐและภาคเอกชนมีความร่วมมือกันรณรงค์ปลูกจิตสำนึกและกระตุ้นให้นักท่องเที่ยว เกิดความรับผิดชอบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดการสร้างภาระขยะในแหล่งท่องเที่ยว จึงได้จัดตั้ง “โครงการรณรงค์การใช้ภาชนะหมุนเวียนในเขตอุทยานแห่งชาติ” เพื่อรณรงค์และเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและมีส่วนร่วมในการอนุกรักษ์อย่างยั่งยืนต่อไป

ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ ในกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อสังคมเป็นอย่างดี เช่น การร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ขับเคลื่อนกลยุทธ์สร้างสรรค์กิจกรรมโครงการ “เที่ยวไทยเท่ ไม่สร้างขยะ ลดโลกเลอะ” เพื่อลดการใช้พลาสติกในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ลดลงร้อยละ 50 ภายในปี 2563 พร้อม ๆ กับการมุ่งประชาสัมพันธ์ให้เกิดกระแสการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้นักท่องเที่ยวและเจ้าของพื้นที่ได้ตระหนักรู้ถึงปัญหาขยะของแหล่งท่องเที่ยวที่เกิดจากการทำกิจกรรมทางการท่องเที่ยว ซึ่งมีการให้คำแนะนำในการลดการสร้างขยะ หรือ “พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง” (Single-use plastics) และการใช้วัสดุสำหรับทดแทนพลาสติก เช่น การใช้ถุงผ้า, ขวดน้ำพกพา, กล่องข้าวพกพา, หลอดดูดน้ำจากวัสดุธรรมชาติ การใช้ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น

ล่าสุด กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้รับมอบปิ่นโตเมลามีนซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เมลามีนสำหรับใช้ใส่อาหารและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่จำนวน 500 เถา จาก นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งต่อให้แก่ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการกระจายนำไปใช้ยังสถานที่ท่องเที่ยวและอุทยานแห่งชาติต่าง ๆ ภายใต้สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศได้ประกาศงดการนำโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือ Single Use Plastic เข้าไปในเขตอุทยานฯ เนื่องจากโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกก่อให้เกิดปริมาณขยะพลาสติกและโฟมมากกว่าปีละ 2 ล้านตัน ขณะที่ขยะพลาสติกถุงหูหิ้วใช้ครั้งเดียวทิ้งมีปริมาณถึง 1.2 ล้านตันต่อปี

“ขยะพลาสติกแหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าและสัตว์ป่า ดังนั้น โครงการรณรงค์การใช้ภาชนะหมุนเวียนในเขตอุทยานแห่งชาติ จึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดปริมาณขยะพลาสติกและลดการเสียชีวิตของสิ่งมีชีวิตในเขตอุทยานแห่งชาติ และรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวใช้ภาชนะหมุนเวียนในเขตอุทยานเพื่อรักษาระบบนิเวศป่าและชีวิตสัตว์ป่าต่อไป” นายวีระศักดิ์ กล่าวในตอนท้าย

ด้าน พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีพันธกิจหลักในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ควบคุมการจัดสรร และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสร้างคุณค่าที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ดำเนินการโดยการประสานกับเครือข่ายภาคีและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เมื่อกล่าวถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยทั่วไปในช่วงเวลานี้ ประชาชนมักจะให้ความสนใจและความสำคัญกับการเข้าไปท่องเที่ยวและพักผ่อนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

อุทยานแห่งชาติเป็นรูปแบบหนึ่งของพื้นที่คุ้มครองที่ประกาศจัดตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในพื้นที่ ให้คงสภาพดั้งเดิมไว้ เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าวิจัยทางวิชาการ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน มีทั้งสิ้น 154 แห่ง แบ่งเป็นทางบก 128 แห่ง และทางทะเล 26 แห่ง โดยมีการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2505 จนถึงปัจจุบันได้มีการประกาศอุทยานแห่งชาติแล้ว จำนวน 132 แห่ง และยังมีพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติอีก 22 แห่ง รวมเป็นพื้นที่มากกว่า 7 หมื่นตารางกิโลเมตร

“อุทยานแห่งชาติเป็นแหล่งรวบรวมทรัพยากรธรรมชาติอันสวยงามและโดดเด่น จึงเป็นแหล่งรวบรวมทรัพยากรการท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศที่รัฐบาลนำไปส่งเสริมเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอีกทางหนึ่ง เมื่อพิจารณาจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวแล้วพบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นมาโดยตลอด โดยในปีที่ผ่านมามีจำนวนนักท่องเที่ยวถึง 19 ล้านคน เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยว พักแรม หรือประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ก็ย่อมหลีกเลี่ยงปัญหาที่ตามมาจากการท่องเที่ยวไม่ได้นั่นคือ ปัญหาขยะมูลฝอย”

พลเอกสุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการตามโรดแมปการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายที่ผ่านความเห็นชอบจา กคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งมีแนวทางและมาตรการต่าง ๆ ในการลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไป การลดและคัดแยกขยะมูลฝอยที่ต้นทาง การจัดการขยะมูลฝอยแบบศูนย์รวม และกำจัดโดยเทคโนโลยีที่เหมาะสมแบบผสมผสานเน้นการแปรรูปเป็นพลังงาน หรือทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งสร้างวินัยของคนในชาติสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทางจนถึงการกำจัดขั้นสุดท้าย

“สำหรับในพื้นที่อุทยานแห่งชาติยังมีการรณรงค์ในเรื่องการจัดการขยะมูลฝอยมาโดยตลอด โดยในปี 2558 เริ่มมีการดำเนินการโครงการอุทยานแห่งชาติสีเขียว หรือ Green National Park ที่กระตุ้นให้อุทยานแห่งชาติทุกแห่งดำเนินมาตรการต่าง ๆ ในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ให้มีการกำหนดนโยบายในการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน มีการให้บริการด้านการท่องเที่ยวที่ไม่กระทบกับทรัพยากรธรรมชาติ ให้มีการดูแลจัดการเรื่องน้ำเสียและขยะมูลฝอยและพบว่าปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดจากนักท่องเที่ยวลดลงอย่างต่อเนื่อง”

พลเอกสุรศักดิ์ กล่าวในตอนท้ายว่า พลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ประชาชนและนักท่องเที่ยวนิยมใช้เพราะสะดวกในชีวิตประจำวัน แต่เนื่องจากเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ยาก ทำให้มีปริมาณขยะประเภทถุงพลาสติกสะสมและตกค้างเป็นจำนวนมาก โดยพบว่า ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมามีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณ 12% ของปริมาณขยะ หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน แต่สามารถนำขยะพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์เฉลี่ยเพียงปีละประมาณ 0.5 ล้านตัน เพราะส่วนใหญ่ 1.5 ล้านตัน เป็นเศษขยะถุงพลาสติกที่ปนเปื้อน อาทิ ถุงร้อน ถุงเย็นบรรจุอาหาร ถุงหูหิ้ว คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% หรือ ประมาณ 1.2 ล้านตัน

ด้านนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ดำเนินตามโครงการ “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” ตามแนวคิด 3 Rs คือ การใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ (Reduce Reuse Recycle : 3Rs) พร้อมทั้งจัดรณรงค์ลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหาร ขวดน้ำที่มีพลาสติกหุ้มฝาขวด หลอด และช้อน-ส้อม ที่ทำจากพลาสติก ซึ่งเริ่มดำเนินการในวันที่ 12 สิงหาคม 2561 พร้อมกันในอุทยานแห่งชาติ 154 แห่งทั่วประเทศ

อุทยานแห่งชาติทุกแห่งยังได้นำหลักการจัดการขยะแบบเหลือศูนย์มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้การจัดการขยะในอุทยานแห่งชาติได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นต้นแบบในการจัดการขยะ โดยได้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการบริเวณภายนอกเขตอุทยานแห่งชาติ ทั้งชุมชน ร้านค้า ตลาด และท่าเทียบเรือ รอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ในการร่วมโครงการฯ โดยได้สั่งการให้ทุกอุทยานแห่งชาติจัดกิจกรรมโครงการ “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” พร้อมกำหนดเป้าหมายรณรงค์ไม่นำกล่องโฟมบรรจุอาหารเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติและการณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหาร ขวดน้ำที่มีพลาสติกหุ้มฝาขวด หลอด และช้อน-ส้อมที่ทำจากพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างน้อย 3 ล้านใบ/ชิ้น พร้อมผู้เข้าร่วมโครงการ อย่างน้อย 10 ล้านคน

“กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีการจัดกิจกรรมให้ยืมถุงผ้าหรือบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ไว้คอยให้บริการ และจัดกิจกรรมโครงการรณรงค์นำขยะคืนถิ่น / มัดจำขยะ การจัดกิจกรรมเก็บขยะชายหาดและขยะใต้ทะเล ทั้งทางทะเลและแหล่งน้ำ อีกทั้งยังขอความอนุเคราะห์ให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการลดราคาเครื่องดื่ม เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวหวังให้ลดการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหาร ขวดน้ำที่มีพลาสติกหุ้มฝาขวด หลอด และช้อน-ส้อม ที่ทำจากพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างน้อย 3 ล้านใบ/ชิ้น โดยเชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการร้านค้า เยาวชน และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมโครงการฯ อย่างน้อย 10 ล้านคน ในปี 2561” นายธัญญา กล่าวในตอนท้าย

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตภาชนะเมลามีน 100% กล่าวว่า บริษัทฯ เข้าร่วม “โครงการรณรงค์การใช้ภาชนะหมุนเวียนในเขตอุทยานแห่งชาติ” ด้วยการมอบผลิตภัณฑ์ปิ่นโตเมลามีน จำนวน 500 ใบซึ่งเป็นภาชนะสำหรับใส่อาหารที่มีความปลอดภัยและมีความทนทาน สามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้หลายๆ ปี ให้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ส่งมอบต่อไปยัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำไปใช้ยังสถานที่ท่องเที่ยวและอุทยานแห่งชาติต่าง ๆ เพราะตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าและสัตว์ป่า จึงต้องการมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะพลาสติกและลดการเสียชีวิตของสิ่งมีชีวิตในเขตอุทยานแห่งชาติ ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งในทางเลือกของการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่อไป