alivesonline.com : สมาคมนวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย หรือ “ไททา” ประกาศความร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน และสื่อมวลชนไทย ตั้งเป้าพัฒนาเกษตรกร เพิ่มผลผลิตร้อยละ 30 ด้วยนวัตเกษตร สร้างอนาคตใหม่เกษตรกรรมไทย
ดร.เซียง ฮี ตัน ผู้อำนวยการบริหาร ครอปไลฟ์ เอเชีย กล่าวในงานเปิดตัวสมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทยว่า ประเทศไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับสองของโลกและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในฐานะประเทศชั้นนำด้านเกษตรกรรม เกษตรกรไทยจึงมีบทบาทสำคัญต่อการผลิตอาหารให้สามารถเลี้ยงดูประชากรทั้งในและต่างประเทศ ส่งเป็นสินค้าออก สร้างรายได้กลับเข้าประเทศ มากกว่า 4 แสนล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในปี 2563 ซึ่งคาดว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีประชากรสูงถึง 60 ล้านราย “ครอปไลฟ์” ในฐานะองค์กรไม่แสวงผลกำไร ตระหนักถึงปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ การผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงดูประชากรที่เพิ่มมากขึ้น จึงพิจารณาเลือกประเทศไทยให้เป็น “ประเทศต้นแบบของการพัฒนาเกษตรกรรมสมัยใหม่” พร้อมที่จะให้การสนับสนุนและส่งเสริม เพื่อนำไปสู่การผลิตอาหารได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”
ด้าน ดร.วรณิกา นาควัชระ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมนวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย หรือ “ไททา” เปิดเผยว่า “ไททา เป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรด้านนวัตกรรมการเกษตรระดับโลก หนึ่งในสำนักงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ “ครอปไลฟ์ อินเตอร์เนชันแนล” มีเป้าหมายหลักในการช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถผลิตผลิตผลทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่อเป็นอาหารให้ประชากรโลก ด้วยนวัตเกษตรที่เหมาะสมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินงานในประเทศไทยมาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2561 โดยมีโครงการแรกที่ได้ดำเนินการคือ “โครงการรักษ์ผึ้งชันโรง” หรือ Protect Stingless Bee ภายใต้แนวคิด “เกษตรกรรม รักษ์โลก เพื่อคน สร้างชุมชน” อันเป็นหนึ่งในโครงการ “รักษ์แมลงผสมเกสร” ของ “ครอปไลฟ์ อินเตอร์เนชันแนล” ซึ่งได้เริ่มโครงการในประเทศอินเดีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย โดยจัดขึ้นในจังหวัดจันทบุรีซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสวนผลไม้ในส่วนใหญ่ของพื้นที่ มีเกษตรกรเข้าร่วมมากกว่า 100 ราย สามารถเพิ่มผลผลิตได้ถึงร้อยละ 23 และกำลังดำเนินการโครงการนี้ในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่ ๆ มีสวนลิ้นจี่และลำไยมากที่สุดของประเทศ โดยจะรวบรวมเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งจากจังหวัดแพร่และน่านเข้าร่วมโครงการอีกด้วย
“นวัตเกษตร” หรือ การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์พืชสมัยใหม่เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จะช่วย “รักษ์โลก” ให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ลดการใช้ทรัพยากรดินและน้ำอย่างสิ้นเปลือง รักษาสมดุลธรรมชาติ ขณะเดียวกันยังก็สามารถผลิตอาหาร “เพื่อคน” ได้อย่างเพียงพอ มีคุณภาพและปลอดภัย เตรียมพร้อมรองรับการเพิ่มของประชากรทั่วโลกในอนาคต รวมทั้ง สร้างรายได้ “เพื่อชุมชน” ของเกษตรกรไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ปัจจุบันพื้นที่เกษตรกรรมของไทยมีประมาณ 138 ล้านไร่ โดยเกษตรกรในหลายพื้นที่ยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ดินไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก ตลอดจนต้องเผชิญกับโรคแมลงและศัตรูพืช แต่สิ่งเหล่านี้สามารถจัดการได้ด้วยนวัตเกษตร โดยแผนการดำเนินงานระยะสั้น 2 ปี (2562-2563) จะมุ่งเน้นพัฒนาความรู้เกษตรกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตอย่างน้อย ร้อยละ 30 ใช้ทรัพยากรน้อยลงแต่ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ใช้ต้นทุนน้อยลงแต่ได้ผลผลิตมีคุณภาพมากขึ้น ส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่สู่ภาคการเกษตร ในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งและพืชเศรษฐกิจ อาศัยความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มูลนิธิโครงการหลวง และสมาคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมทางด้านเกษตรกรรม โดยสมาคมฯ ได้รับความไว้วางใจจาก กรมวิชาการเกษตร และ กรมส่งเสริมการเกษตร ให้เป็นหนึ่งในองค์กรที่ร่วมสนับสนุนความรู้ทางวิชาการและบุคคลากรในกิจกรรมต่าง ๆ ด้านการฝึกอบรมและการเผยแพร่ความรู้สู่เกษตรกร
ดร. วรกา กล่าวในตอนท้ายว่า “ไททา” พร้อมที่จะเดินหน้าสู่อนาคตแห่งเกษตรกรรมไทยไปกับทุกภาคส่วน ควบคู่กับการนำองค์ความรู้และนวัตเกษตรระดับโลกมาสนับสนุน เพื่อบรรลุเป้าหมายระดับโลก “สร้างความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร” และส่งเสริมยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ของไทยที่ว่า “เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง ทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน”