alivesonline.com : “หงษ์ทอง” แจงเหตุตลาดรวมข้าวสารบรรจุถุงไม่กระเตื้อง ราคาข้าวเปลือกพุ่ง-ผู้ประกอบการปรับราคาจำหน่ายปลีกเพิ่มขึ้น 30-40% เตรียมแผนโกยยอดขายในประเทศ ปี 62 รวม 2.5 พันล้านบาท เน้นกลยุทธ์หลัก 3 ด้าน พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพิ่มช่องทางขายออนไลน์ พร้อมปรับสายการผลิต
นายกัมปนาท มานะธัญญา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจียเม้งมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงภายใต้แบรนด์ “หงษ์ทอง” เปิดเผยถึงตลาดรวมข้าวสารบรรจุถุงของประเทศไทยว่า จากสถานการณ์ของข้าวสารเปลือกหอมมะลิในปัจจุบันซึ่งมีราคาสูงอย่างต่อเนื่องถึงตันละ 1.6-1.8 หมื่นบาท ส่งผลให้ผู้ประกอบการข้าวสารบรรจุถุงจำเป็นต้องปรับราคาจำหน่ายปลีกขนาดถุงละ 5 กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 30-40% ทำให้ข้าวสารบรรจุถุงในปัจจุบันมีราคาประมาณ 239-249 บาท จากเดิมที่อยู่ในระดับราคา 185-199 บาท เมื่อช่วงปลายปี 2560 จึงเป็นเหตุให้ตลาดอยู่ในภาวะทรงตัวและมีการเติบโตไม่มากนัก
จากสถานการณ์ดังกล่าวคาดว่าจะยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2562 เนื่องจากผู้บริโภคระดับกลางลงล่างหันไปบริโภคข้าวสวยหุงสุกถุงละ 5 บาทตามตลาดนัดทั่วไปเป็นการทดแทน ประกอบกับสังคมไทยอยู่ในภาวะสังคมผู้สูงวัย (Ageing Society) ที่มีประชากรอายุ 50 ปีขึ้นไปมานานเกือบ 10 ปี ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคข้าวเป็นอาหารเพื่อสุขภาพชนิดอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช เป็นต้น
“สำหรับมูลค่ารวมตลาดข้าวสารบรรจุถุงคาดว่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นตลาดโมเดิร์นเทรดประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตลาดเทรดดิชันนอลเทรดซึ่งมีอยู่กระจัดกระจายทั่วไปจนยากสำรวจคาดว่าน่าจะมีมูลค่ามากกว่า โดยแบ่งออกเป็น 4 เซกเมนต์หลักคือ ข้าวหอมมะลิ 50% ข้าวขาว 40% ข้าวเพื่อสุขภาพ 3% และอื่น ๆ 4%”
นายกัมปนาท กล่าวอีกว่า ในส่วนของ “หงษ์ทอง” มีผลิตภัณฑ์จำหน่ายครอบคลุมทุกเซกเมนต์ภายใต้ 4 แบรนด์คือ ข้าวหอมมะลิ ระดับพรีเมียม “หงษ์ทอง” ข้าวหอมมะลิ คุณภาพดี “หงษ์ทิพย์” ข้าวขาว คุณภาพดี “หงษ์ไทย” และข้าวซูเปอร์ไรซ์เพื่อสุขภาพ “หงษ์ทองไลฟ์” โดยคาดว่าในปี 2561 จะมียอดขายภายในประเทศประมาณ 2 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 4-5% จากเดิมที่ตั้งเป้าว่าจะเติบโตประมาณ 7% โดยมีส่วนแบ่งในตลาดโมเดิร์นเทรด 55% และเทรดดิชันนอลเทรด 45%
ส่วนในปี 2562 บริษัทฯ กำหนดเป้าหมายยอดขายภายในประเทศเป็น 2.5 พันล้านบาท เนื่องจากเริ่มดำเนินแผนการตลาดใหม่ใน 3 ด้านคือ 1.การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ จากปัจจุบันที่มีผลิตภัณฑ์ข้าวสารบรรจุถุงตั้งแต่ขนาด 1-50 กิโลกรัม รวมประมาณ 400-500 เอสเคยู โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบรับความต้องการผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดเมื่อปี 2560 ได้เริ่มทำตลาดข้าวหอมมะลิใหม่ต้นฤดู 100% LIMITED EDITION ขนาด 5 กิโลกรัมซึ่ง 1 ปีผลิตได้เพียงครั้งเดียวและสามารถจำหน่ายได้เพียง 2 เดือนเท่านั้นคือเดือนพ.ย.-ธ.ค. เนื่องจากใช้การปลูกด้วยกลวิธี “นาหยอด” จากเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ที่ได้ชื่อว่าเป็น ข้าวที่อร่อยที่สุด หอมที่สุด และนุ่มที่สุดเป็นจุดขายทำให้มีผลผลิตไม่เพียงต่อความต้องการของตลาด ในปี 2561 จึงได้เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ จากเดิม 4 หมื่นไร่ในปี 2560 เป็น 6 หมื่นไร่ในปี 2561 ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นเป็น 4 แสนถุงจากเดิม 2 แสนถุง ส่วนในปี 2561 ยังได้มีเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มข้าวเพื่อสุขภาพคือ ข้าวกล้องหอมใหม่ขนาด 5 กิโลกรัม และข้าวกล้องซูเปอร์ไรซ์ขนาด 1 กิโลกรัม นอกจากนั้นในช่วงต้นปี 2562 ยังเตรียมทำตลาดข้าวหอมผสม ข้าวขาว และข้าวกล้องในตลาดกลางลงล่าง จำหน่ายในราคา 159 บาทขึ้นไป เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ครอบคลุมตลาดทุกระดับ
2.การเพิ่มช่องทางขายออนไลน์ หลังจากพบว่าในช่วงเทศกาลแคมเปญ 11-11 ที่ผ่านมา สามารถจำหน่ายข้าวหอมมะลิใหม่ต้นฤดู 100% LIMITED EDITION ขนาด 5 กิโลกรัมผ่านช่องทางออนไลน์ Shopee และ Lasada ได้ถึง 1.5 หมื่นถุงภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมงและยังมียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ จนส่งผลให้มียอดขายผลิตภัณฑ์รวมผ่านช่องทางออนไลน์เติบโตขึ้นมากกว่า 500% เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีการเติบโตเพียง 12-15% ในปี 2562 จึงจะเริ่มทำตลาดอย่างจริงจังมากขึ้น
3.การปรับระบบการผลิต ด้วยการใช้งบประมาณ 20 ล้านบาทในการนำหุ่นยนต์ (Robot) เข้ามาใช้ในสายการผลิตใหม่เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตโดยไม่มีการลดจำนวนบุคลากร พร้อมกันนั้นยังมีการเพิ่มรูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้ตรงความต้องการของตลาดโมเดิร์นเทรด เป็นลักษณะบรรจุ 3-6 ถุง พร้อมกันนั้นยังมีการเพิ่มประสิทธิภาพด้านระบบขนส่ง (Logistic) ตลอดจนมีการจัดการระบบบริหารด้านต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนอีกด้วย