New Issues » “ทีเส็บ” ขับเคลื่อนไมซ์ไทยสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน

“ทีเส็บ” ขับเคลื่อนไมซ์ไทยสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน

7 มกราคม 2019
0

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา (กลาง) ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” และนางอรชร ว่องพรรณงาม (ที่ 2 จากขวา) ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ พร้อมด้วยผู้บริหาร “ทีเส็บ”

alivesonline,com : “ทีเส็บ” เผยยุทธศาสตร์ 5 ปีพัฒนามาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย ตั้งเป้ามีผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน 600 แห่ง คิดเป็นจำนวน 1.2 พันห้อง รวมถึงบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ 500 คน ภายในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 371 แห่ง 949 ห้อง และบุคลากร 187 คน พร้อมต่อยอดจัดทำ “มาตรฐานการบริหารการจัดงานอย่างยั่งยืนประเทศไทย” ตอบรับกระแสโลกที่มุ่งเน้นธุรกิจใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม เบื้องต้นคาดมี 15 องค์กรผ่านเกณฑ์ในปี 2562

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” เปิดเผยว่า โครงการมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย หรือ Thailand MICE Venue Standards (TMVS) เป็นหนึ่งโครงการสำคัญในการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศ เพื่อให้เติบโตทัดเทียมและแข่งขันได้กับนานาชาติและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายให้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างรายได้หลักของประเทศ เนื่องจากการมีมาตรฐานจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือและเป็นเครื่องยืนยันความพร้อม ความเป็นมืออาชีพของสถานที่จัดงานในประเทศไทย เพื่อให้สามารถดึงงานและผู้จัดงานทั้งในและต่างประเทศเข้ามาจัดงานในสถานที่จัดงานที่ได้มาตรฐาน โดยโครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 และได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการเป็นอย่างดี อีกทั้งไทยยังเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ริเริ่มการจัดทำมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ ตลอดจนผลักดันไปสู่มาตรฐานสถานที่จัดงานของอาเซียน หรือ ASEAN MICE Venue Standards (AMVS)

ผลสำเร็จของโครงการฯ เป็นไปตามแผนแม่บทการพัฒนามาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย ประจำปี 2558-2562 ซึ่งประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์หลักคือ การพัฒนามาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย (TMVS) ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล / การพัฒนาศักยภาพบุคลากร / การพัฒนาระบบสารสนเทศ / การประชาสัมพันธ์และส่งเสริมตลาด / การส่งเสริมมาตรฐานสถานที่จัดงานในกลุ่มประเทศอาเซียน / การขับเคลื่อนมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ให้เกิดความยั่งยืน

“ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน TMVS รวมทั้งสิ้น 371 แห่ง คิดเป็นจำนวน 949 ห้อง/พื้นที่ทั่วประเทศ แบ่งเป็น 1.ประเภทห้องประชุม 344 แห่ง รวม 910 ห้อง 2.ประเภทสถานที่จัดงานแสดงสินค้า จำนวน 11 แห่ง 23 ฮอลล์ และ3.สถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ 16 แห่ง รวม 16 พื้นที่ นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสถานที่จัดงานของอาเซียน หรือ AMVS ประเภทห้องประชุมรวมทั้งสิ้น 33 แห่งทั่วประเทศ”

“ทีเส็บ” ยังสามารถพัฒนาผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านหลักสูตรบริหารจัดการสถานที่จัดงานประเทศไทย หรือ Venue Management Course (VMC) รวมทั้งสิ้น 187 คน พร้อมทั้งสนับสนุนด้านประชาสัมพันธ์ส่งเสริมตลาดให้ผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองและได้รับตราสัญลักษณ์มาตรฐานให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นผ่านทางระบบออฟไลน์และออนไลน์

ปักธงปี 66 มีสถานที่ 600 แห่ง 1.2 พันห้องได้มาตรฐาน

นายจิรุตถ์ กล่าวอีกว่า “ทีเส็บ” ยังได้เตรียมปรับปรุงแผนพัฒนามาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย ประจำปี 2562-2566 เป็นแผนแม่บท 5 ปีในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ของเอเชียด้วยมาตรฐานสากล โดยจะเน้นการเพิ่มจำนวนสถานที่จัดงานไมซ์ที่ได้มาตรฐานทั้งในเมืองหลักไมซ์ซิตี้และเมืองรองตามนโยบายของรัฐบาล โดยกำหนดเป้าหมายว่าจะมีผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน TMVS และ AMVS ทั้งประเภทห้องประชุม สถานที่จัดงานแสดงสินค้าและสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษรวมกว่า 600 แห่ง คิดเป็นจำนวน 1.2 พันห้อง ภายในปี 2566

นอกจากนั้น ยังจะคงสร้างผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านหลักสูตรบริหารจัดการสถานที่จัดงานประเทศไทยให้ได้มากกว่า 500 คน พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำหลักสูตรดังกล่าวโดยผ่านการรับรองในระดับอาเซียน รวมถึงการดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์และการส่งเสริมการตลาดมาตรฐาน TMVS ทั้งในระบบออฟไลน์และออนไลน์ การจัดทำการประเมินความพึงพอใจของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการของมาตรฐานดังกล่าวเพื่อให้เห็นผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนการมุ่งพัฒนาระบบสารสนเทศของมาตรฐาน TMVS ด้วยระบบ Data Platform ในการจัดเก็บข้อมูล การจัดทำฐานข้อมูลสถานที่จัดงานประเภทต่าง ๆ การประเมินผล รวมทั้งการต่อยอดทางด้านการขายผ่านโปรแกรมการจับคู่ทางธุรกิจ (Matching Program) ภายในระบบสารสนเทศดังกล่าว

นายจิรุตถ์ กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากแนวโน้มของโลกได้ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นอย่างมาก และมีผลต่อการตัดสินใจเลือกสถานที่จัดงานของผู้จัดงาน “ทีเส็บ” จึงได้เตรียมจัดทำ “มาตรฐานการบริหารการจัดงานอย่างยั่งยืนประเทศไทย” หรือ Thailand Sustainable Event Management Standard (TSEMS) เพื่อเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการให้สามารถรองรับความต้องการของตลาดและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยนำหลักการวงจร PDCA (Plan-Do-Check-Act Cycle) มาเป็นเครื่องมือในการกำหนดมาตรการและกรอบในการดำเนินงาน โดยจะประกาศใช้และมีการจัดอบรมให้ความรู้ ตรวจประเมิน และคาดการณ์ว่าในปี 2562 จะมีสถานประกอบการที่ผ่านการรับรองจำนวนทั้งสิ้น 15 องค์กร

ต่อยอดความพร้อม-ความได้เปรียบผู้ประกอบการ

ด้าน นางอรชร ว่องพรรณงาม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ “ทีเส็บ” กล่าวเสริมว่า การจัดทำมาตรฐานการบริหารการจัดงานอย่างยั่งยืนประเทศไทย หรือ Thailand Sustainable Event Management Standard (TSEMS) มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการโดยเน้นกลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน TMVS และผู้ประกอบการสถานที่จัดงาน หรือออร์แกไนเซอร์ เพื่อให้มีความสามารถรองรับความต้องการของตลาดและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เนื่องจากปัจจุบันแนวโน้มของโลกให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่ห่วงใยสังคม สิ่งแวดล้อม และสร้างผลกำไรสูงสุดให้แก่ธุรกิจ

สำหรับประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้จากการเข้ารับการรับรองมาตรฐานการบริหารการจัดงานอย่างยั่งยืนมีหลายด้าน ทั้งความได้เปรียบทางการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เนื่องจากเทรนด์โลกให้ความสำคัญด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้จัดงานในการเลือกผู้ให้บริการจัดงาน และสถานที่จัดงานต่าง ๆ ที่มีมาตรฐาน นอกจากนั้น ยังทำให้องค์กรมีภาพลักษณ์ที่ดี รวมถึงช่วยส่งเสริมการตลาดตรงสู่กลุ่มเป้าหมายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เนื่องจากผู้ประกอบการมีเกณฑ์ในการบริหารการจัดงานที่สอดคล้องกับหลักความยั่งยืนของสากลตามมาตราฐาน ISO 20121 : Event Sustainability Management System

นางอรชร กล่าวด้วยว่า ผู้ประกอบการยังจะได้รับประโยชน์ด้านการบริหารจัดการที่ประหยัดต้นทุนและค่าใช้จ่าย เนื่องจากผู้ประกอบการสถานที่จัดงานมีเกณฑ์และแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนในการใช้ทรัพยากร ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ วัสดุสิ้นเปลือง และวัสดุเหลือทิ้ง รวมถึงบุคลากร และงบประมาณอย่างคุ้มค่า ประการสำคัญคือเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน เปิดโอกาสการเรียนรู้ และการปฏิบัติต่อบุคลากรอย่างถูกต้องและเป็นธรรม ซึ่งผู้ประกอบการสถานที่จัดงานมีเกณฑ์และแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนในการสร้างสัมพันธ์อันดีกับชุมชนซึ่งจะนำไปสู่การสนับสนุนจากภาคสังคมในที่สุด