alivesonline.com : “ทีเส็บ”ปรับตัวรับอุตสาหกรรมไมซ์เอเชียแข่งเดือด ชูประเด็นจุดต่างด้านการท่องเที่ยวและการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ระดมสมองทุกภาคส่วนวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ตอบโจทย์กลุ่มไมซ์ในประเทศและนานาชาติ 7 ด้าน รวม 25 เส้นทาง นำร่อง 5 เมือง “ไมซ์ซิตี้” ก่อนขยายเส้นทางไมซ์ในอีก 5 เมืองรอง กระตุ้นนักเดินทางไมซ์ทั้งในประเทศและนานาชาติ หวังเร่งขับเคลื่อนรายได้ 2.2 แสนล้านบาทเข้าเป้าในปี 62
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” เปิดเผยว่า จากภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมไมซ์นานาชาติมีอัตราที่สูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจและความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว โดยการสร้างจุดเด่น ความแตกต่าง และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อันนำมาซึ่งการพัฒนาสินค้าและบริการด้านธุรกิจไมซ์ ทั้งสถานที่จัดงาน ตลอดจนกิจกรรมใหม่ ๆ ทั้งก่อนและหลังการประชุมเพื่อรองรับนักเดินทางไมซ์ซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญในการตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการไมซ์ทั้งในและต่างประเทศ
“ทีเส็บ” จึงวางยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์โดยมุ่งเน้นด้านมิติการพัฒนาพื้นที่ เพื่อเพิ่มและยกระดับสถานที่จัดงาน รวมถึงกิจกรรมใหม่เพื่อรองรับการจัดงานไมซ์ โดยเน้นการดำเนินงานใน 5 ไมซ์ซิตี้ประจำภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ และขอนแก่น โดยร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษา รวมถึงชุมชนในพื้นที่ บูรณาการพัฒนาธุรกิจไมซ์ในจังหวัดร่วมกัน สร้างความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ของธุรกิจไมซ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
อุตสาหกรรมไมซ์โดยเฉพาะกลุ่มการประชุมมีความจำเป็นต้องสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดนักเดินทางไมซ์คุณภาพเข้าสู่ประเทศ หรือเมืองของตน เพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการจัดงานไมซ์ในประเทศและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไมซ์ในประเทศ ในปี 2559 “ทีเส็บ” จึงริเริ่มโครงการศึกษาและวิเคราะห์ศักยภาพเส้นทางไมซ์ภายในประเทศ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมไมซ์ภายในประเทศ หรือ “Thailand 7 MICE Magnificent Themes” ซึ่งเป็นหนึ่งในการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาไมซ์ซิตี้ทั้ง 5 เมือง เพื่อค้นหาเส้นทางใหม่ ๆ และพัฒนาสถานประกอบการและชุมชนสำหรับการจัดงานไมซ์ทั่วประเทศ
โครงการดังกล่าวเริ่มต้นจากการวิจัยศึกษาเมืองที่มีศักยภาพรองรับนักเดินทางไมซ์ ศึกษาต้นทุนทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ วิเคราะห์ศักยภาพและความสามารถทั้งด้านพื้นที่ สถานประกอบการ และชุมชน รวมถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค ที่มีศักยภาพในการรองรับกลุมไมซ์ได้ โดยเน้นการพัฒนาพื้นที่ใหม่ ๆ ของ 5 เมืองไมซ์ที่มีอยู่เป็นหลักและพัฒนาเป็นเส้นทางไมซ์ใหม่ผ่าน 7 มุมมองที่วิจัยมาแล้วว่าเป็นแนวคิดเส้นทาง Top Hits กลุ่มไมซ์ทั้งนานาชาติและในประเทศ (Thailand 7 MICE Magnificent Themes) ได้แก่ 1.ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม (Fascinating History and Culture) 2.การผจญภัย (Exhilarating Adventure) 3.การสร้างทีมเวิร์ค (Treasured Team Building) 4.กิจกรรม CSR และการประชุมเชิงอนุรักษ์ (CSR and Green Meeting) 5.กิจกรรมบรรยากาศชายหาด (Beach Bliss) 6 การจัดงานและกิจกรรมหรูหรามีระดับ (Lavish Luxury) 7.การนำเสนออาหารไทยในทุกการจัดงานที่หลากหลาย (Culinary Journeys)
“หลักการพิจารณาการพัฒนาและยกระดับสถานประกอบการที่สามารถจัดกิจกรรมไมซ์ได้จะมีเกณฑ์การคัดเลือกสถานที่ 3 องค์ประกอบหลักคือ สามารถรองรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมไมซ์ไม่น้อยกว่า 30 คน และสถานที่จัดกิจกรรมไมซ์ได้อย่างน้อยใน 1 มุมมอง อีกทั้งต้องมีความพร้อมด้านความปลอดภัย ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจและสามารถให้บริการไมซ์ได้”
นายจิรุตถ์ กล่าวอีกว่า “ทีเส็บ” บูรณาการความร่วมมือในระดับจังหวัดกับทุกภาคส่วนทั้ง ภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา จัดทำเวิร์คชอปร่วมกับจังหวัดใน 4 ภูมิภาคคือ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อระดมความคิดเห็นและหารือร่วมกันถึงศักยภาพของสถานประกอบการและชุมชนที่สามารถรองรับการจัดงานและนักเดินทางไมซ์ได้จริง รวมถึงการลงพื้นที่จริงร่วมศึกษาและหารือกับสถานประกอบการที่ตรงตามหลักเกณฑ์ พร้อมทั้งหารือและดำเนินงานร่วมกับสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) หรือ “ทิก้า” พัฒนาเส้นทางไมซ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเป้าหมาย ได้แก่ ผู้จัดงาน และองค์กรหน่วยงานรัฐและเอกชน จนกระทั่งสามารถพัฒนา 25 เส้นทางไมซ์ภายใต้ 7 มุมมองใหม่ใน 5 เมืองไมซ์ได้สำเร็จ
สำหรับเส้นทางไมซ์ 25 เส้นทาง ใน 5 ไมซ์ซิตี้ แบ่งเป็นจังหวัดละ 5 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ เส้นที่ 1 ศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง พิพิธภัณฑ์งู เส้นที่ 2 ชุมชนหัวตะเข้ เส้นที่ 3 ศูนย์เรียนรู้อาหารไทย สถาบันอาหาร ท่ามหาราช สุภัทราริเวอร์เฮ้าส์ เส้นที่ 4 จักรพงษ์วิลล่า ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ บ้านเลขที่ 1 โบสถ์กาลหว่าร์ ธนาคารไทยพาณิชย์ตลาดน้อย เส้นที่ 5 เสาชิงช้า ตลาดบางรัก ถนนเยาวราช
ขอนแก่น เส้นที่ 1 ออร่า ฟาร์ม สวนสัตว์ขอนแก่น เส้นที่ 2 บ้านหัวฝาย เส้นที่ 3 อุทยานแห่งชาติน้ำพอง เส้นที่ 4 วัดป่ามัญจาคีรี บ้านหวายหลืมสิม วัดสระทองบ้านบัว เส้นที่ 5 ชุมชนบ้านดงบัง
เชียงใหม่ เส้นที่ 1 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ฮอไรซั่นวิลเลจแอนด์รีสอร์ท เส้นที่ 2 สหกรณ์นิคมแม่แตง จำกัด อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า เฮลท์ ล้านนา สปา เส้นที่ 3 อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก เส้นที่ 4 วิสาหกิจชุมชน กาแฟสดบ้านแม่ตอน สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด เส้นที่ 5 บ้านถวาย ปันผลฟาร์ม ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่
พัทยา เส้นที่ 1 ไฟล์ท ออฟ เดอะ กิบบอน อะลาคอมปาณย์ โอเชี่ยน มารีน่า ยอร์ช คลับ เส้นที่ 2 ชุมชนนาเกลือ สวนนงนุช ชุมชนจีนบ้านชากแง้ว เส้นที่ 3 มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ พัทยา ชู้ทติ้ง พาร์ค รอยัล คลิฟ โฮเต็ล กรุ๊ป เส้นที่ 4 อุทยานใต้ทะเลเกาะขาม สวนน้ำรามายณะ ไร่องุ่นซิลเวอร์เลค เส้นที่ 5 ชุมชนตะเคียนเตี้ย
ภูเก็ต เส้นที่ 1 ภูเก็ต เวค พาร์ค โบ๊ทลากูน รีสอร์ท เส้นที่ 2 หมู่บ้านวัฒนธรรมถลาง บ้านแขนน โรงเรียนและร้านอาหารบลูเอเลเฟ่นท (บ้านพิทักษ์ชินประชา) เส้นที่ 3 ชุมชนป่าคลอก พิพิธภัณฑ์ เพอรานากัน เส้นที่ 4 ไทเกอร์ คิงดอม ไร่วานิช เส้นที่ 5 อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ชุมชนทองเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต
นายจิรุตถ์ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการพัฒนาโครงการต่อเนื่องในปี 2562 คือ ส่งเสริมการตลาดและการประชาสัมพันธ์ โดยให้มีการจัดสัมมนา การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การจัดประชุมนานาชาติ และงานแสดงสินค้านานาชาติ ตามเส้นทางไมซ์ใหม่ทั้ง 25 เส้นทางในไมซ์ซิตี้ทั้ง 5 เมือง ผ่าน 2 ช่องทางหลักคือ สร้างการรับรู้ผ่านสื่อและกิจกรรมของ “ทีเส็บ” ได้แก่ การจัดทำแผ่นพับแต่ละเมืองไมซ์, คู่มือไอเดียสร้างสรรค์เส้นทางสายไมซ์ พร้อม QR Code การโปรโมทผ่านงานเทรดโชว์ระดับนานาชาติ พร้อมเตรียมการจัดทำวิดิทัศน์ส่งเสริมการขาย ตลอดจนสร้างการรับรู้ผ่านสื่อและกิจกรรมร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ หน่วยงานเครือข่ายจังหวัด สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) หรือ “ทิก้า” รวมถึงองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่อีกด้วย
“ในปี 2562 ทีเส็บ เตรียมแผนขยายโครงการพัฒนาเส้นทางไมซ์ในอีก 5 เมืองรอง โดยขยายเส้นทางจากเมืองรองที่อยู่รอบเมืองไมซ์ซิตี้ และวางแผนทำ Mobile Application รวมถึงการเชื่อมโยงกับหน่วยงาน องค์กร ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มการรับรู้ในเส้นทางเหล่านี้มากขึ้น อีกทั้งยังสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาไมซ์ซิตี้ และนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเมืองรอง ร่วมขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการจัดกิจกรรมไมซ์ที่หลากหลายระดับคุณภาพ ยกระดับสินค้าบริการและสถานประกอบการไมซ์ใหม่ ๆ ทั่วทุกภูมิภาค เพื่อสร้างรายได้และโอกาสในการพัฒนาไมซ์ทั่วประเทศ”
นายจิรุตถ์ กล่าวในตอนท้ายว่า จากการดำเนินงานโครงการพัฒนาเส้นทางไมซ์ครั้งนี้คาดว่าจะกระตุ้นนักเดินทางไมซ์ทั้งในและต่างประเทศได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งสิ้น 35,982,000 คน สร้างรายได้ 221,500 ล้านบาท แบ่งออกเป็น นักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างประเทศ 1,320,000 คน สร้างรายได้ 100,500 ล้านบาท และนักเดินทางชาวไทยที่เข้าร่วมงานไมซ์ในประเทศ 34,662,000 คน สร้างรายได้ 121,000 ล้านบาท”