New Issues » แนะพรรคการเมืองชูนโยบาย “ท่องเที่ยว” หาเสียง มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ

แนะพรรคการเมืองชูนโยบาย “ท่องเที่ยว” หาเสียง มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ

1 กุมภาพันธ์ 2019
0


alivesonline.com : เจ้ากระทรวงการท่องเที่ยวฯ ปลื้มผลการทำงานแบบบูรณาการของทุกภาคส่วนสอดรับนโยบาย
“สะดวก สะอาด ปลอดภัย ได้เอกลักษณ์ และยั่งยืน” มั่นใจแนวโน้มท่องเที่ยวไทยปี 62 ยังโตไม่หยุด คาดนักท่องเที่ยวต่างชาติพุ่งเกิน 40 ล้านคน ทำรายได้รวม 3.33 ล้านล้านบาท ปลื้ม “ท่องเที่ยวเมืองรอง” ได้ผลเกินคาด มี 18 เมืองรองที่รายได้จากการท่องเที่ยวขยายตัวสูงกว่าภาพรวมของเมืองรองทั้งหมด พร้อมแนะพรรคการเมืองใช้นโยบายพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หาเสียงมัดใจประชาชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและกระจายรายได้สู่ภูมิภาค

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในปี 2561 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 3.07 ล้านล้านบาท สูงเป็นลำดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา สเปน และฝรั่งเศส ตามลำดับ โดยมีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 38.27 ล้านคน เติบโตขึ้น 7.54% มีรายได้ทั้งสิ้น 2.01 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้น 9.63% โดยรายได้กว่า 1 ใน 4 มาจากนักท่องเที่ยวชาวจีนและมาเลเซีย รวมกว่า 1 แสนล้านบาท ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายต่อวันต่อคน 5,557 บาท เพิ่มขึ้น 3.43% แต่ใช้ระยะเวลาพำนักน้อยลง .01 วัน เหลือ 9.44 วัน อันเนื่องมาจากข้อจำกัดเรื่องเวลาของนักท่องเที่ยวเอง ขณะที่ในส่วนของนักท่องเที่ยวชาวไทยมีจำนวน 164 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้รวม 1.06 ล้านบาท

รายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ในปี 2561 ยังมีมูลค่าสูงคิดเป็นสัดส่วนถึง 19% ของอัตราการเติบโตทางจีดีพีของประเทศ แบ่งเป็นสัดส่วนจีดีพีการท่องเที่ยวทางตรงต่อจีดีพีประเทศ 7% และจีดีพีทางอ้อม 12% สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกระจายใน 12 สาขา ได้แก่ ที่พัก 23% คมนาคมขนส่ง 23% ร้านอาหาร 19% สินค้าและของที่ระลึก 14% และอื่น ๆ 21% ทั้งยังก่อให้เกิดการจ้างงานด้านการท่องเที่ยว 4.385 ล้านคน

จากข้อมูลดังกล่าว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงคาดการณ์สถานการณ์การท่องเที่ยวไทย โดย “การวิเคราะห์อนุกรมเวลา” (Time Series) ด้วยการใช้ฐานข้อมูลเชิงปริมาณที่จัดเก็บไว้มาแปลงข้อเท็จจริงในอดีตไปพยากรณ์คาดการณ์แนวโน้มในอนาคตได้ว่า ในปี 2562 ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นประมาณ 7.5% คิดเป็นจำนวน 41.1 ล้านคน คิดเป็นรายได้ 2.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% ขณะที่ในส่วนของนักท่องเที่ยวชาวไทยจะเพิ่มขึ้น 3% คิดเป็น 166 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้รวม 1.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% คิดเป็นรายได้รวมจากการท่องเที่ยวทั้งสิ้นประมาณ 3.33 ล้านบาท

นายวีระศักดิ์กล่าวอีกว่า ความสำเร็จด้านรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวดังกล่าวเกิดขึ้นจากการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันของทุก ๆ ฝ่าย ทั้ง ด้านการขับเคลื่อนนโยบายและแผน โดย สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ด้านการส่งเสริมการตลาด โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว โดย กรมการท่องเที่ยว และด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว โดย สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นไปตามนโยบายสำคัญที่ตนมอบไว้ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 1560 คือ 1.การให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ 2.การท่องเที่ยวต้อง “สะดวก สะอาด ปลอดภัย ได้เอกลักษณ์ และยั่งยืน” 3.การจัดตั้งคลินิกด้านการท่องเที่ยว และ 4.การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ซึ่งหลายอย่างกำลังเดินหน้าไปด้วยดี

“สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากการทำงานภายใต้นโยบายดังกล่าวคือ การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำของรายได้และสร้างความเป็นธรรมให้แต่ละชุมชนได้อย่างชัดเจน โดยพบว่า รายได้จากการท่องเที่ยวเมืองรองขยายตัวสูงจากการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้เยี่ยมเยือน โดยมี 18 เมืองรองที่รายได้จากการท่องเที่ยวขยายตัวสูงกว่าภาพรวมของเมืองรองทั้งหมด โดย บุรีรัมย์ มีรายได้ขยายตัวสูงสุด 55.04% คิดเป็นจำนวนเงิน 4,247 ล้านบาท ตามมาด้วย สุรินทร์ ขยายตัว 13.09% คิดเป็นจำนวนเงิน 3,026 ล้านบาท และราชบุรี ขยายตัว 12.58% คิดเป็นจำนวน 4,197 ล้านบาท”

ในส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยวที่กระจายตัวสู่เมืองรองยังมีสัดส่วนขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ซึ่งมีเพียง 50 ล้านคน เป็น 90 ล้านคนในปี 2561 ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวในเมืองรองคิดเป็น 29.76% และเมืองหลัก 70.27% โดยนักท่องเที่ยวเมืองรองที่ขยายตัวสูงสุด 2 ลำดับแรกคือ ราชบุรี มีการขยายตัวจากปี 2557-2561 คิดเป็น 14% และชัยนาท 13% ขณะเดียวกันการสร้างจุดขายทางการท่องเที่ยวด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย ยังส่งผลให้การท่องเที่ยวกระจายรายได้สู่เมืองรองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นรายได้รวม 2.66 แสนล้านบาท โดยเฉพาะ บุรีรัมย์ เน้นการท่องเที่ยวเชิงกีฬา มีจำนวนผู้มาเยือนเพิ่มขึ้น 21% ในปี 2561 และมีรายได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 27% ในปี 2557-2561 ส่วน ราชบุรี เน้นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ศิลปะ และวัฒนธรรม มีรายได้ในปี 2557-2561 ขยายตัว 23% และมีผู้มาเยือนขยายตัว 7.65% ในปี 2561

นายวีระศักดิ์ กล่าวด้วยว่า นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองยังทำให้เมืองรองมีสัดส่วนรายได้การท่องเที่ยวจากผู้มาเยี่ยมเยือนต่อรายได้เมืองรองทั้งหมด แบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีรายได้เติบโตต่ำกว่า 5% มีจำนวน 3 จังหวัด คิดเป็นสัดส่วน 1.3% กลุ่มที่มีรายได้เติบโต 5-10% มี 39 จังหวัด คิดเป็นสัดส่วน 76.1% กลุ่มที่มีรายได้เติบโต 10-15% มี 12จังหวัด คิดเป็นสัดส่วน 21% และกลุ่มที่มีรายได้เติบโตมากกว่า 15% มี 1 คือบุรีรัมย์ คิดเป็นสัดส่วน 1.6%

“ในส่วนของกลุ่มที่มีรายได้เติบโตต่ำกว่า 5% จำนวน 3 จังหวัดคือ ร้อยเอ็ด พิจิตร และอำนาจเจริญ ไม่ได้หมายความว่าทั้ง 3 จังหวัดนั้นมีศักยภาพ หรือมีขนาดพื้นที่เป็นรองจังหวัดอื่น ๆ แต่ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดหลาย ๆ ด้านที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างหนักเพื่อร่วมกันแก้ไขและพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวด้วยการสร้างความแตกต่างและจุดเด่นของจังหวัดเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น”

นายวีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า ความสำคัญของเมืองรองไม่ได้จำกัดอยู่เพียงคนไทยเท่านั้น เพราะปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มให้ความสนใจในเมืองรองต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ชาวอังกฤษ นิยมเดินทางไปแม่ฮ่องสอน ชาวฝรั่งเศสและสเปนชื่นชอบในจังหวัดเชียงราย ส่วนชาวจีนและญี่ปุ่นมีการกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ขณะเดียวกันสายการบินต่าง ๆ ยังให้ความสำคัญกับเมืองรองด้วยการเพิ่มเที่ยวบินไปยังเมืองรองเพิ่มขึ้นถึง 61 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จึงถือเป็นสัญญาณบวกที่ทุกฝ่ายจะต้องเร่งส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรองต่อไป

“ในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าในปี 2562 จะยังคงมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แยกตามสัญชาติหลักคือจีน 11.69 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11% อาเซียน 11.31 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10% ยุโรป 6.90 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2% อินเดีย 2.01 ล้านคน เพิ่มขึ้น 26% รัสเซีย 1.50 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3% และสหราชอาณาจักร 0.99 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1% โดยปัจจัยหลักมาจากผลการดำเนินการมาตรการ Visa on Arrival (VOA) ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.61 – 13 ม.ค.62 ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นตลาดจีนให้กลับมาคึกคักขึ้นอีก รวมไปถึงประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะอินเดียซึ่งเป็นตลาดใหม่ เมื่อมีการขยายระยะเวลาไปถึงวันที่ 30 เม.ย.62 เพื่อครอบคลุมเทศกาลวันตรุษจีนและเทศกาลสงกรานต์ จึงคาดว่าจะทำให้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาประเทศไทยอีกเป็นจำนวนมาก”

 

สำหรับนโยบายสำคัญในปี 2562 ที่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะต้องดำเนินงานต่อไปยังคงเน้น 4 ด้านสำคัญคือ 1.การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวในเรื่องความปลอดภัย รวมทั้งให้คุณค่าและความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงยกระดับการพัฒนาสังคม 2.การพัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) ทั้งในเรื่องความสะอาด ความสะดวก เอกลักษณ์ความเป็นไทย การลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจสตาร์ทอัปและเอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน 3.การพัฒนาเชิงพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นท่องเที่ยวเมืองรอง ท่องเที่ยวชุมชน ท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มน้ำโขง และพื้นที่ศักยภาพ Thailand Riviera 4.การส่งเสริมการตลาด ด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง รวมถึงเน้นการตลาดเฉพาะกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง

ส่วนแนวทางการดำเนินงานด้านอื่น ๆ ที่กำลังเร่งขับเคลื่อนให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ยังมีอีกหลายด้าน เช่น การจัดทำ e-VISA ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ การร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 39 หน่วยงานจัดทำแพลตฟอร์มข้อมูลด้านการท่องเที่ยวให้มีความละเอียดครอบคลุมให้ทุก ๆ ด้าน การเพิ่มความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว การให้ความสำคัญเรื่องสุขอนามัยและความสะอาดของนักท่องเที่ยวด้วยการเพิ่มเจ้าหน้าที่ท่องเที่ยวและกีฬาอำเภอทุกอำเภอซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว รวมไปถึงการเสนอควบรวม องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เข้ามาอยู่ในสังกัดกระทรวงฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานให้เต็มศักยภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการกวาดล้างขบวนการมิจฉาชีพในลักษณะต่าง ๆ เช่น ไกด์เถื่อน แท็กซี่ไม่กดมิเตอร์ และอื่น ๆ เป็นต้น

“เรื่องรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวคงไม่ใช่ประเด็นหลักของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยในอนาคตอีกต่อไป แต่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องของนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ นอกจากนั้นยังควรเร่งพัฒนาแนวทาง รวมถึงนโยบายการสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการกระจายรายได้สู่ภูมิภาคอย่างแท้จริงและยั่งยืน ผมจึงอยากส่งมอบข้อมูลด้านการท่องเที่ยวให้พรรคการเมืองนำไปใช้ประโยชน์ในการต่อยอดด้านการหาเสียงกับประชาชนราษฎรในทุกพื้นที่ก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 เพราะทุกวันนี้เรื่องการท่องเที่ยวไม่ได้จำกัดอยู่เพียงภายในวงการธุรกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ถือเป็นเรื่องของประชาชนทุกคนที่จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนั้นยังถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถตอบคำถามได้จากสารพัดโจทย์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม” นายวีระศักดิ์ กล่าวในตอนท้าย