New Issues » “ดีป้า” ผนึก “ม.เกษตรฯ” เปิดสถาบันพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลเพื่อ EEC

“ดีป้า” ผนึก “ม.เกษตรฯ” เปิดสถาบันพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลเพื่อ EEC

10 กุมภาพันธ์ 2019
0

alivesonline.com : สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมกับม.เกษตรฯ วิทยาเขตศรีราชา เปิด Digital Academy Thailand มุ่งสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน AI และ Data Sciences เข้าสู่อุตสาหกรรมดิจิทัล และเกิดการพัฒนาแรงงานขั้นสูงด้านดิจิทัลในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก พร้อมจับมือ “หัวเว่ย” เปิดตัวโครงการทดสอบ 5G Testbed ที่ อ.ศรีราชา คาดทำให้เกิดการใช้ loT, AI, เครือข่ายคลาวด์ และนวัตกรรมอื่น ๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ได้ร่วมมือกันจัดตั้งสถาบันพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลเพื่อ EEC หรือ Digital Academy Thailand (DAT) สร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน AI และ Data Sciences เข้าสู่อุตสาหกรรมดิจิทัล อีกทั้งพัฒนาความรู้ขั้นพื้นฐานและขั้นสูง เพื่อให้สามารถทำงานกับเครื่องมือประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูง ทั้งยังต้องมีการสร้างผู้เชี่ยวชาญที่สามารถดึงความสามารถของ AI และ Data Sciences มาใช้ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC

โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือของทั้ง 2 ฝ่าย โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ ส่วนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ให้การสนับสนุนพื้นที่และกำลังคนในการผลักดันเพื่อให้เกิดสถาบันแห่งนี้ โดยคาดหวังว่าสถาบันแห่งนี้จะผลิตบุคลากรด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพ สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคงในพื้นที่ EEC ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต

ด้าน ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ในฐานะผู้ดำเนินโครงการสถาบันไอโอที และคณะทำงานเตรียมการและทดสอบเทคโนโลยี 5G กล่าวว่า การจัดตั้งสถาบัน DAT ซึ่งเป็นโครงการเพื่อการพัฒนาแรงงานขั้นสูงด้านดิจิทัล สำหรับเขตพื้นที่ EEC โดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม AI เพื่อสร้างความสามารถของอุตสาหกรรมที่เป็น new S-curve ในการใช้เทคโนโลยีด้าน AI และ Data Sciences อันจะสามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมขั้นสูงอื่นๆ เช่น IoT, Robotics และเพื่อพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัล อันจะนำไปสู่การยกระดับแรงงานในพื้นที่ EEC โดยการฝึกอบรมระยะสั้นเพื่อปรับทักษะ (Reskill) ในหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยโครงการนี้จัดอยู่ในหมวดอุตสาหกรรมดิจิทัล มีมูลค่าโครงการ 63 ล้านบาท โดย depa สนับสนุนผ่านมาตรการ Infra Fund 50 ล้านบาท มีระยะเวลาในการดำเนินการ 3 ปี ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา

depa ยังได้ร่วมมือกับ “หัวเว่ย” (Huawei) ผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เตรียมความพร้อมองค์กรภาครัฐและเอกชนไทย สร้างโอกาสทางธุรกิจจากเทคโนโลยี 5G พร้อมเตรียมดึงหน่วยงานผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ร่วมเปิดตัวการทดสอบการใช้งาน 5G อย่างเป็นทางการ ซึ่งนับเป็นแห่งแรกในภูมิภาค โดยการทดสอบการใช้งาน (Testbed) มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นพันธมิตรด้วย เช่น CAT TOT กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม และ EEC

“การพัฒนาในช่วงแรกอาจจะจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มก่อน เช่น การใช้เทคโนโลยี 5G ในการรักษาคนไข้ หรือ Connected Car ในอุตสาหกรรมยานยนต์ หลังจากนั้นจะค่อย ๆ กระจายออกไป ทั้งนี้ คาดว่าเทคโนโลยีนี้จะเป็นแกนหลักสำคัญในการเชื่อมต่ออุปกรณ์นับพันล้านชิ้นเข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ loT, AI, เครือข่ายคลาวด์ และนวัตกรรมอื่น ๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อันจะช่วยขับเคลื่อนความมุ่งหวังของรัฐบาลไทยให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลได้เร็วขึ้นและกลายเป็นดิจิทัลฮับของภูมิภาคในอนาคตได้อย่างแน่นอน” ดร.ณัฐพล กล่าวในตอนท้าย