New Issues » อี-คอมเมิร์ซไทยปี 61 มูลค่ากว่า 3.15 ล้านล้านบาท

อี-คอมเมิร์ซไทยปี 61 มูลค่ากว่า 3.15 ล้านล้านบาท

10 กุมภาพันธ์ 2019
0

alivesonline.com : ETDA เผย อี-คอมเมิร์ซไทยมาแรงที่สุดในอาเซียนด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้มูลค่าพุ่งสูงกว่าถึง 3.15 ล้านล้านบาทในปี 61 หลังยอดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเติบโตเกือบ 4 เท่าในรอบ 10 ปี พบแพลตฟอร์มไทย-เทศเกิดขึ้นเพื่อรองรับการใช้งานนักชอปออนไลน์เป็นจำนวนมาก มั่นใจอี-คอมเมิร์ซไทยเจาะตลาดต่างชาติได้ไม่ยากหลังพบหลายประเทศชื่นชอบสินค้าไทยหลายชนิด

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยพบว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 8-10% ต่อปี โดย ETDA ได้จัดเก็บสถิติมาตั้งแต่ปี 2557 เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่าจากจำนวนเพียง 9.3 ล้านคน ในปี 2551 ปัจจุบันมีผู้ใช้มากกว่า 45 ล้านคน สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ขณะเดียวกันการพัฒนาของเครื่องมือสื่อสารและราคาที่ถูกลง ยังทำให้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น ส่งผลให้ตลาดอี-คอมเมิร์ซของประเทศไทยเติบโตไปด้วย ทั้งจำนวนผู้ซื้อและผู้ขายทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น สอดรับกับจำนวนแพลตฟอร์มโดยผู้ประกอบการในไทยและต่างประเทศเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเช่นกัน

จากสถิติของประเทศไทยพบว่ามีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 45 ล้านคน (2560) มี Mobile Subscriber กว่า 124.8 ล้านราย (2561) ผู้ใช้ไลน์กว่า 44 ล้านคน (2561) ผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 52 ล้านราย (2561) โดยมีแนวโน้มว่ามูลค่าอี-คอมเมิร์ซของประเทศไทยในปี 2561 สูงกว่า 3.15 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่าง ๆ เช่น 11.11, 12.12, Black Friday ฯลฯ ซึ่งผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซต่างจัดโปรโมชันส่งเสริมทางการตลาดอย่างเต็มที่ โดยพบว่าในปี 2561 ผู้ประกอบการบางรายมียอดขายสูงถึง 1.44 พันล้านบาท ด้วยปริมาณการสั่งชื่อสินค้ากว่า 1.7 ล้านชิ้นภายในระยะ 3 วัน โดยกลุ่มสินค้าที่เป็นที่นิยมอันดับต้น ๆ คือ สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าสำหรับเด็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า สมาร์ทโฟน เครื่องสำอาง และสกินแคร์ เป็นต้น

สำหรับธุรกิจ B2C (Business to Consumer) พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตสูงเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน เมื่อเทียบมูลค่าระหว่างปี 2559 กับปี 2560 พบว่า มีมูลค่าเพิ่มถึงกว่า 1.6 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี รวมถึงระบบ e-Payment ที่สะดวกมากขึ้น ตลอดจนการขนส่งที่รวดเร็วทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความนิยมซื้อของออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เมื่อมองมาถึงโอกาสของสินค้าและบริการจะเห็นได้ว่าธุรกิจห้างสรรพสินค้าออนไลน์เติบโต เนื่องจากโปรโมชันที่ดึงดูดใจลูกค้า ความน่าเชื่อถือ และความเชื่อมั่นในแหล่งขายที่มีตัวตน

นางสุรางคณา กล่าวอีกว่า ในส่วนของสินค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และอาหารเสริม ยังมีการเติบโตด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมอาหารและรักสุขภาพมากขึ้น มีการกระตุ้นความต้องการซื้อผ่านทางอินฟลูเอนเซอร์และ Youtuber ซึ่งเติบโตมาตลอดช่วงปีที่ผ่านมา โดยการทำการตลาดออนไลน์ในปี 2560 สูงถึง 69.92% โดยอันดับแรกที่นิยมมากที่สุดคือเฟซบุ๊กทั้งในรูปแบบของการบูสต์โพสต์และบูสต์โฆษณาเพื่อเข้าถึงลูกค้าและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

ด้านผู้ใช้บริการนั้นได้มีการนำข้อมูล หรือ Big Data มาพัฒนาธุรกิจอี-คอมเมิร์ซโดยการนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อนำเสนอสินค้าใหม่ ๆ ถึง 100% เพื่อให้ตรงกับความต้องการ ตลอดจนเพื่อการวางแผนด้านการตลาดมากถึง 92.85% และใช้วิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อม เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การจำหน่ายสินค้าที่ 85.71% ส่วนปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ถูกนำมาใช้เพื่อการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ โดยพบว่าอันดับที่ 1 ใช้ในการให้บริการ เช่น Chatbot เพื่อให้ข้อมูลกับลูกค้าได้รวดเร็ว และ CRM (69.23%) อันดับที่ 2 ใช้ในด้านอื่น ๆ อาทิ Claim Analytics, Underwriting (23.07%) และใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค รวมทั้งใช้เพื่อการตัดสินใจในเชิงการบริหาร ด้วยสัดส่วนที่เท่ากัน (15.38%)

“ขณะที่ Social Commerce ก็มาแรงไม่แพ้กัน โดยพบว่าคนไทยเลือกซื้อสินค้าผ่าน Social Commerce มากเป็นอันดับสองรองจาก e-Marketplace เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่ซื้อง่ายขายคล่อง ทั้งยังช่วยลดช่องว่างระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย และเพิ่มอำนาจการต่อรองของลูกค้า ทำให้ลูกค้ามีตัวเลือกมากขึ้น ขณะเดียวกันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค 5G จึงส่งผลทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้โดรนขนส่งและตรวจตราความปลอดภัย วิดีโอสตรีมมิ่งและถ่ายทอดสดแบบ 360 องศา โลกเสมือนจริงแบบสามมิติเพื่อการเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้จะขับเคลื่อนอี-คอมเมิร์ซไทยให้ก้าวหน้าต่อไป”

ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ลูกค้ามักให้ความสำคัญคือ ระบบโลจิสติกส์ซึ่งพัฒนาตามความต้องการของลูกค้า โดยมีระบบการติดตาม (Tracking) ระบบตรวจสอบสถานะการส่งที่แม่นยำ ทำให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจในการสั่งซื้อ โดยผู้ให้บริการโลจิสติกส์ภาคเอกชนก็มีตัวเลือกหลากหลาย ส่งผลให้ระบบบริการมีการแข่งขันสูงทำให้ผู้รับบริการมีความพึงพอใจ เพราะครอบคลุมพื้นที่ให้บริการมากขึ้นและไม่ได้กระจุกตัวในเมืองใหญ่เท่านั้น

“หากต้องการจะผลักให้อี-คอมเมิร์ซไทยเปิดตลาดต่างประเทศถือว่ามีโอกาสสูงมาก เพราะเมื่อวิเคราะห์จากจุดแข็งของประเทศไทยที่เป็นเมืองท่องเที่ยวติดอันดับ 4 ของโลก โดยสินค้าไทยยังเป็นที่ชื่นชอบของหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน ซึ่งชื่นชอบเครื่องสำอาง สมุนไพร เสื้อผ้าและกระเป๋า เวียดนามชอบสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องสำอาง และสินค้าเกี่ยวกับเด็ก อินโดนีเซียชอบอาหารทานเล่น หรือสแน็ก อินเดียชอบสินค้าเครื่องปรุงรส และเครื่องสำอาง เป็นต้น”

นางสุรางคณา กล่าวในตอนท้ายว่า สินค้าไทยสามารถสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการ อี-คอมเมิร์ซด้วยเอกลักษณ์และจุดเด่นที่ไม่มีใครเหมือน และเพื่อต่อยอดมูลค่าตลาดให้เติบโตยิ่งขึ้น ETDA จึงร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ร่วมสนับสนุนการพัฒนาให้เป็น Silicon Valley ด้านอี-คอมเมิร์ซ ของไทย ผ่าน “ยังทะเล้น” แพลตฟอร์ม (Young Talent Platform) เพื่อสร้าง Workforce สนับสนุนผู้ประกอบการ อี-คอมเมิร์ซของไทยในด้านต่าง ๆ ที่จะร่วมเป็นหนึ่งในการพัฒนาผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดโลกต่อไป