alivesonline.com : ทิศทางตลาดแรงงานไทยชะลอตัว เหตุภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวนจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน แม้ภาวะการว่างงานปี 61 ลดลง 0.04% แต่คนรุ่นใหม่ยังเลือกงานมากขึ้น “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย” แนะองค์กรธุรกิจเตรียมรับมือเร่งพัฒนาคนด้านทักษะแรงงานและด้านการศึกษา โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี เผยผลประกอบการปี 61 กวาดรายได้ 4.5 พันล้านบาท เติบโต 12% เร่งพัฒนานวัตกรรมแรงงานตอบโจทย์ตลาด พร้อมวิเคราะห์ 10 อันดับสายงานที่เป็นที่ต้องการของแรงงาน รวมถึงธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด
นายไซมอน แมททิวส์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย แถบตะวันออกกลาง และเวียดนาม “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” ผู้นำที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมแรงงานกว่า 80 ประเทศทั่วโลกและในประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะที่ในประเทศไทยมีนโยบายการลงทุนด้านการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor Development (EEC) อีกทั้งการที่ภาครัฐได้กำหนดนโยบายการปฏิรูประดับประเทศโดยเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve ที่เป็นการพัฒนาและต่อยอดกลุ่มธุรกิจเดิมที่มีศักยภาพ ทำให้ประเทศไทยควรต้องมีการส่งเสริมพัฒนาคนด้านทักษะแรงงานและด้านการศึกษา โดยเฉพาะภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะทักษะความรู้ทางด้านเทคโนโลยี (High-Tech Skill) ซึ่งเป็นที่ต้องการสูงมากในปัจจุบัน
จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนและการแข่งขันทางธุรกิจ หลายองค์กรมุ่งการบริหารจัดการบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับการให้บริการของ “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” ในบทบาทที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมแรงงาน เราจึงพัฒนาบริการและโซลูชั่นที่มีความยืดหยุ่นรองรับกับลูกค้าทุกกลุ่มธุรกิจ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ด้วยการบริการหลากหลายรูปแบบ ทั้งการจ้างงานแบบประจำ งานชั่วคราว งานสัญญาจ้าง รวมไปถึงงานรับเหมาประเภทต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังตอบโจทย์ยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ด้วยการให้บริการแรงงานข้ามชาติ (Borderless Talent Solutions) และการให้บริการสรรหาผู้บริหารระดับสูงและผู้เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะทาง (Experis) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการสูงในปัจจุบัน ถือว่าสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ EEC ที่ต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านด้านต่าง ๆ รองรับการลงทุนจากทั้งจากภาครัฐ เอกชนและนักลงทุนต่างชาติ
นายไซมอน กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับผลประกอบการของ “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” ประเทศไทย ในปี 2561 มีผลประกอบการ 4.5 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 12% โดยในปี 2562 จะยังคงมีการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นสัดส่วน 10% ของรายได้ แบ่งเป็นการลงทุนทางด้านออนไลน์ 70% และออฟไลน์ 30% อีกทั้งยังได้ทำการสำรวจกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการเพื่อนำมาปรับปรุงการให้บริการที่ตรงกับความต้องการลูกค้าเสมอมา
เผยกลยุทธ์รับมือประเทศไทย 4.0
นายวรรณชัย ไพบูลย์บารมี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการ “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” กล่าวว่า ในปี 2562 ถือเป็นปีการดำเนินงานปีที่ 21 ของ “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย” จึงมีแผนขยายงานทั้งในส่วนของการบริการ การพัฒนาด้านนวัตกรรมแรงงาน และจัดหาแรงงานที่ตอบโจทย์ตลาด โดยได้รับการตอบรับที่ดีด้วยความเชื่อมั่นจากผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และแรงงานทุกระดับ ครอบคลุมตั้งแต่องค์กรขนาดใหญ่จนถึงธุรกิจเอสเอ็มอีที่ใช้บริการสรรหาบุคลากรด้านการขายและการบริการลูกค้า
ปัจจุบัน “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” มีสัดส่วนลูกค้าแบ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ 35% อุตสาหกรรมด้านการผลิต เช่น ยานยนต์ อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และโลจิสติกส์ 25% และกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี เช่น พนักงานขาย ล่ามภาษาจีน และอื่น ๆ 15% กลุ่มแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง 15% ซึ่งยังมีบริการพิเศษเฉพาะกลุ่มซึ่งเป็นสายงานที่ต้องการแรงงานเฉพาะทาง เพื่อเข้ามาตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 อาทิ ทักษะความเชี่ยวชาญด้านโรโบติกส์และ AI โดยกลุ่มนี้ต้องมีการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ และกลุ่มอื่น ๆ อีก 10%
นายวรรณชัย กล่าวด้วยว่า “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” มีกลยุทธ์ 3 ส่วนหลักในการรับมือการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ คือ 1.มุ่งเน้นการบริการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง 2.การพัฒนาบุคลากรของเราให้มีความเชี่ยวชาญและปลูกฝังวัฒนธรรมแห่งการมีนวัตกรรมในองค์กร 3.การพัฒนาด้านเทคโนโลยีในกระบวนการด้านทรัพยกรบุคคลเชื่อมต่อกับพนักงาน ลูกค้าและผู้สมัครงานเพื่ออำนวยความสะดวกและง่ายต่อการเข้าถึง
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเรามีบริการ Business Solutions ที่มาช่วยตอบโจทย์ในเรื่องของการบริหารจัดการแรงงานในเชิงนวัตกรรม คำนึงถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของลูกค้า โดยเข้าไปทำงานร่วมกับลูกค้าในการบริหารจัดการกลุ่มแรงงานที่ลูกค้าต้องการด้วยการบริหารเชิงผลลัพธ์ผ่านตัวชี้วัดของงาน ซึ่งเป็นบริการแบบเต็มรูปแบบ ทำให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่ายและยังลดภาระด้านการบริหารจัดการแรงงานด้วย พร้อมยังมีบริการส่งออกแรงงานเพื่อรองรับการขยายธุรกิจของลูกค้าที่มีการลงทุนไปยังประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม AEC ถือเป็นแผนรับมือของ แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ที่สอดคล้องกับเทรนด์ธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในยุค 4.0” นายวรรณชัย กล่าวในตอนท้าย
วิเคราะห์ภาพรวมตลาดแรงงานปี 61 – แนวโน้มปี 62
ทางด้าน นางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า จากผลการสำรวจอัตราความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันมีสัดส่วนความต้องการ ดังนี้ 10 อันดับสายงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ได้แก่ 1.งานขายและการตลาด 22.65% 2.งานบัญชีและการเงิน 12.16% 3.งานวิศวกรและการผลิต 8.62% 4.งานไอที 8.11% 5.งานธุรการ 7.15% 6.งานบริการลูกค้า 6.39 % 7.งานระยะสั้นต่าง ๆ 6.28% 8.งานระดับผู้บริหาร 5.63% 9.งานทรัพยากรบุคคล 5.02 % 10.งานโลจิสติกส์ 3.04%
ส่วน 10 อันดับแรกสายงานที่เป็นที่ต้องการของแรงงาน ได้แก่ 1.งานขายและการตลาด 22.57% 2. งานวิศวกร 13.42% 3.งานธุรการ 11.48% 4.งานทรัพยากรบุคคล 8.66% 5.งานบัญชีและการเงิน 8.57% 6.งานบริการลูกค้า 8.26% 7.งานโลจิสติกส์ 6.42 % 8.งานไอที 4.73% 9.งานระดับผู้บริหาร 4.18 %และ 10.งานด้านการผลิต 4.14 %
สำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด 3 อันดับแรกคือ ธุรกิจการบริการ ได้แก่ ขนส่งและโลจิสติกส์ ค้าปลีกค้าส่ง, บริการเฉพาะกิจและที่ปรึกษาด้าน ๆ รองลงมาคือ ธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์ , วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร, ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ อันดับสามคือ ธุรกิจด้านเทคโนโลยี ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
“ในภาพรวมของสถานการณ์ตลาดแรงงานแม้จะอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่อัตราการว่างงานในปี 2561 ลดลงประมาณ 0.04% คิดเป็นจำนวน 1.1 หมื่นคน จากจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด 4 แสนคน ในขณะที่มีผู้มีงานทำประมาณ 38 ล้านคน ไม่รวมแรงงานนอกระบบ 20 ล้านคน โดยคาดว่าในปี 2562 ภาวะการว่างงานอาจเพิ่มขึ้นประมาณ 1.0-1.2% อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจผันผวนอันเนื่องมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน รวมถึงผลกระทบจากภาคการผลิตด้านการส่งออกซึ่งอาจต้องมีการปรับลดพนักงานลง โดยเฉาะปัจจัยหลักคือคนรุ่นใหม่เลือกงานมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่บางสาขาอาชีพมีการปรับลดวุฒิการศึกษาลงมาแล้ว เช่น พนักงานขาย พนักงานบริการ และอื่น ๆ ที่เคยรับผู้มีวุฒิปริญญาตรีก็ลดเหลือเพียงวุฒิ ปวส. หรือ ปวช. แต่ก็ยังคงขาดแคลนกำลังแรงงาน”
“อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีปัจจัยบวกจากการที่เข้าสู่นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งเป็นนโยบายการปฏิรูปประเทศไทย และการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล หรือ Digital Transformation ทำให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ตลาดแรงงาน และภาคการศึกษาทุกฝ่ายตื่นตัว มีการตั้งรับและวางแผน รวมถึงบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนตนเอง องค์กรและประเทศไทยก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน จึงนับเป็นความท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องรับมือให้ทันกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป” นางสาวสุธิดา กล่าวในตอนท้าย