alivesonline.com : ตามที่ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร (คชก.กทม.) มีมติเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 ให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA Report) ของโครงการอาคารชุดที่ตั้งอยู่ติดประชิดกับพระตำหนักปลายเนินซึ่งเป็นสถานที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวัฒนธรรมของประเทศ นั้น
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธุ์ 2562 เวลา 13.00 น. ผู้ฟ้องคดีจำนวน 19 ราย นำโดยผู้ฟ้องคดีจำนวน 19 ราย นำโดยหม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์ (ที่ 2 จากซ้าย) หม่อมราชวงศ์ กัลยา ติงศภัทิย์ (ที่ 2 จากขวา) หม่อมหลวงสุธานิธิ จิตรพงศ์ (ขวาสุด) และนางอภิรดี พิชัยศรทัต (ซ้ายสุด) ตัวแทนราชสกุลจิตรพงศ์ พระทายาทในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางกรณีที่ คชก.กทม. โดยผู้ฟ้องคดีได้พิจารณาแล้วเห็นว่า มติของ คชก.กทม. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีข้อบกพร่องอย่างร้ายแรงและผิดพลาดในการพิจารณา มติดังกล่าวอาจสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อพระตำหนักปลายเนินอันเป็นสถานที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวัฒนธรรมของประเทศได้
พระตำหนักปลายเนินเป็นอดีตที่ประทับในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ผู้ทรงสร้างสรรค์ผลงานทั้งสถาปัตยกรรม ทัศนศิลป์ วิจิตรศิลป์ นาฏศิลป์ ไว้มากมายจนทรงได้รับการเชิดชูพระเกียรติยศโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในฐานะบุคคลสำคัญของโลกเมื่อปี 2506 โดยทรงเป็นคนไทยคนที่สองที่ได้รับการยกย่องในระดับสากลเช่นนี้
ในบริเวณพระตำหนักปลายเนินมีสถาปัตยกรรมสำคัญ ๆ รวมทั้งผลงานศิลปะมากมายหลายชิ้นล้วนที่แต่มีความสำคัญต่อประเทศไทย ทั้งยังเป็นสถานที่ตั้งของมูลนิธินริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อมอบ “รางวัลนริศ” เพื่อให้เป็นเกียรติและสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่นิสิต นักศึกษาและนักเรียนจากทั่วประเทศ ในการศึกษา เรียนรู้ และวิจัยศิลปไทยทุกแขนงมาเป็นเวลามากกว่า 50 ปี เพื่อส่งเสริมศิลปินที่มีความรู้ความสามารถให้สืบสานงานศิลป์คู่กับแผ่นดินไทย
พระทายาทในสมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือสมเด็จครูวางผังแม่บทอนาคตของบ้านปลายเนินด้วยการจัดทำทะเบียนภาพแบบร่างฝีพระหัตถ์ ศิลปวัตถุโบราณที่ทรงสะสม และข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันส่วนพระองค์ อีกทั้งเตรียมการซ่อมแซมและอนุรักษ์อาคารสำคัญภายในบริเวณทั้งหมด ได้แก่ ตำหนักไทย ตำหนักตึก เรือนคุณย่า และเรือนละคร ด้วยความตั้งใจว่าจะได้อนุรักษ์เพื่อเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ ศูนย์เรียนรู้ และสถานที่อบรมที่สาธารณชนทั่วไปสามารถเข้าชมและศึกษาได้ในวันข้างหน้า