alivesonline.com : “ทีเส็บ” ดึงการใช้ข้อมูลอัจฉริยะผสานการวิเคราะห์ตอบโจทย์พฤติกรรมนักอุตสาหกรรมไมซ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จัดตั้งฝ่าย MICE Intelligence & Innovation (M2I) ดูแลงานด้านนวัตกรรมและข้อมูลไมซ์ หวังเปลี่ยนผ่านการให้บริการด้านข้อมูลทั่วไปสู่ข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์แล้วด้วยบิ๊กดาต้าและระบบเทคโนโลยี AI คาดเห็นผลช่วงเดือน ก.ย.62 มั่นใจช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์เติบโตขึ้นถึงปีละ 20% จากเดิมที่เติบโตเพียง 5-10% ต่อปี
นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” เปิดเผยว่า ในปี 2562 “ทีเส็บ” มุ่งขับเคลื่อนไมซ์เชิงคุณภาพและกระจายรายได้สู่เมืองต่าง ๆ โดยมีการจัดโครงสร้างทีมงานและแผนงานใหม่ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลงานด้านนวัตกรรมและข้อมูลไมซ์ (MICE Intelligence & Innovation) หรือ M2I โดยเปิดแผนพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยนวัตกรรมและข้อมูลตลอดระยะ 3 ปี (2562-2564) ที่ศึกษาจากพฤติกรรมความต้องการของนักเดินทางไมซ์และผู้ประกอบการเอกชน โดยมีแนวทางการทำงานและ16 โครงการไฮไลท์ที่จะดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมตลอดระยะ 3 ปีเต็มจากนี้เพื่อนำนวัตกรรมและข้อมูลมาใช้พัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ร่วมกับผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิดขับเคลื่อนไมซ์ให้เกิดผลลัพธ์จริงในการสร้างเศรษฐกิจและองค์ความรู้
“ทีเส็บ” มีการศึกษาแนวโน้มสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ระดับโลกในอนาคต ได้แก่ พฤติกรรมความต้องการของนักเดินทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การจัดงานมุ่งเน้นการผสมผสานครบวงจรภายในงาน ความต้องการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมงานที่มีเวลาเข้าร่วมงานน้อยแต่ต้องการผลลัพธ์สูงสุด เนื่องจากนักเดินทางไมซ์มีความสำคัญต่อการเติบโตเศรษฐกิจ รัฐบาลทั่วโลกจึงพยายามผลักดันธุรกิจและเพิ่มจำนวนนักเดินทางไมซ์ให้มากยิ่งขึ้น
ในช่วงที่ผ่านมาการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์เป็นเพียงการสนับสนุนด้านงบประมาณทั้งในมิติของการพัฒนาบุคลากร สถานที่ หรือการดึงงานเข้าสู่ประเทศ ซึ่งยังคงไม่ตอบโจทย์ความต้องการและการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจ รัฐบาลหลายประเทศจึงเริ่มปรับเพิ่มกลยุทธ์การสนับสนุนด้านอื่น ๆ โดยหลาย ๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทยโดยการส่งเสริมการจัดงานของ “ทีเส็บ” กำลังเปลี่ยนผ่านจากการให้บริการด้านข้อมูลทั่วไปสู่ข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์แล้ว (From Information To Insights) เพื่อวางแผนธุรกิจที่ตรงจุดขึ้นผ่านการวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Data Analytic & Artificial Intelligence)
นางศุภวรรณ กล่าวด้วยว่า “ทีเส็บ” มีการดำเนินโครงการ M2I เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและการนำนวัตกรรมและข้อมูลมาใช้เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมบนพื้นฐานความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกอบการ สำรวจและสรุปความคาดหวังที่ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมไมซ์ต้องการในการนำนวัตกรรมและข้อมูลมาใช้ แล้วจึงออกแบบและพัฒนาแผนงานจนได้ 16 โครงการไฮไลท์ด้านข้อมูลและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการเพื่อดำเนินงานพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยนวัตกรรมและข้อมูลตลอดระยะ 3 ปี (2562-2564) ภายใต้การดำเนินงานของฝ่าย M2I โดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดเก็บเป็นบิ๊กดาต้าก่อนที่จะมีการพัฒนาให้สามารถใช้งานจริงผ่านเทคโนโลยี AI ประมาณเดือนกันยายน 2562
เผย 6 ยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยนวัตกรรม
สำหรับโรดแมปการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยนวัตกรรมและข้อมูลตลอดระยะ 3 ปี (2562-2564) ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์16 โครงการไฮไลท์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1.การสนับสนุนการจัดงานและผู้ประกอบการไมซ์ (Support & Sponsorship) มี 4 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการช่องทางสำหรับการขอรับบริการไมซ์เลน เพื่อต้อนรับแขก VIP ภายในสนามบิน หรือ Paperless MICE Lane Request (2) โครงการช่องทางออนไลน์เพื่อขอรับการสนับสนุนจากสสปน. หรือ TCEB Online Financial Support Request (3) โครงการระบบ AI เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับทีเส็บ หรือ TCEB Help Desk Chatbot) (4) โครงการช่องทางให้คำแนะนำเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้าเพื่อจัดแสดงและขอวีซ่า หรือ MICE Permit Advisor
ยุทธศาสตร์ที่ 2.การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไมซ์ (Developing MICE Supply) มี 3 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการช่องทางออนไลน์ให้ผู้ประกอบการขอใบรับรองและมาตรฐานไมซ์ หรือ MICE Online Standard Assessment (2) โครงการศูนย์รวมตำแหน่งงานและการแนะแนวอาชีพตามสายงานไมซ์ หรือ MICE Career Portal (3) โครงการแหล่งเรียนรู้ออนไลน์รวบรวมความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไมซ์ หรือ MICE Digital Learning Platform
ยุทธศาสตร์ที่ 3.การยกระดับประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมงาน (Enhancing Attendee Experience) มี 1 โครงการ ได้แก่ โครงการแอปพลิเคชันสำหรับให้บริการผู้เข้าร่วมงาน เพื่ออำนวยความสะดวกอย่างครบวงจร หรือ Event Application for Attendee ยุทธศาสตร์ที่ 4.การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดงาน (Organizing Event with Efficiency) มี 2 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการแอปพลิเคชันมือถือสำหรับอำนวยความสะดวกผู้จัดงาน หรือ Organizer Mobile Application (2) โครงการระบบประเมินผลผู้เข้าชมงานด้วยภาพจากกล้องวิดีโอ หรือ Event Traffic Analytics
ยุทธศาสตร์ที่ 5.การเป็นศูนย์กลางการซื้อขายสินค้าและบริการไมซ์ (Connecting MICE Supply & Demand) มี 5 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการแหล่งรวบรวมรายชื่อและข้อมูลงานอีเวนต์ที่สามารถเข้าร่วมประมูลสิทธิ์ในการจัดงานได้ หรือ Event Opportunities Portal (2) โครงการศูนย์กลางการระดมเงินทุนเพื่อสนับสนุนการจัดงาน หรือ MICE Crowd Funding Platform (3) โครงการแหล่งรวบรวมผู้ประกอบการด้านไมซ์ หรือ MICE Supply Market Place (4) โครงการช่องทางโปรโมทอีเวนต์เพื่อให้ผู้สนใจลงทะเบียน หรือจองพื้นที่แสดงสินค้า หรือ Event Discovery Platform Platform (5) โครงการศูนย์กลางการซื้อขายสินค้าและบริการ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจก่อนและหลังการจบงาน หรือ e-Commerce Platform
ยุทธศาสตร์ที่ 6.ด้านการเป็นแหล่งข้อมูลอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE Intelligence & Resource Center) มี 1 โครงการ ได้แก่ โครงการฐานข้อมูลไมซ์เพื่อสร้างนวัตกรรมและเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ หรือ MICE Intelligence & Resource Center
จัดงานใหญ่แนะนำแผนงานและ 16 โครงการไฮไลท์
นางศุภวรรณ กล่าวอีกว่า ล่าสุด “ทีเส็บ” โดยฝ่าย M2I ได้จัดงาน “MICE INTELLIGENCE AND INNOVATION CONFERENCE 2019” (M2IC 2019) ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Break Through the Hype – Uncover the Reality of Customer Insights” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดตัวแนะนำแผนงานและ 16 โครงการไฮไลท์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยนวัตกรรมและข้อมูลตลอดระยะ 3 ปี (2562-2564) รวมถึงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมไมซ์ เล็งเห็นความสำคัญของการใช้นวัตกรรมและข้อมูลอัจฉริยะวางแผนและกำหนดกลยุทธ์การพัฒนางานไมซ์ในอนาคต พร้อมเปิดตัวโครงการแรกคือ โครงการฐานข้อมูลไมซ์เพื่อสร้างนวัตกรรมและเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ (MICE Intelligence & Resource Center) หนึ่งในโครงการที่จะพลิกโฉมด้านนวัตกรรมและข้อมูลสำคัญของอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา รวมถึงประชาชน เข้ามาใช้บริการข้อมูลไมซ์เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้ระหว่างภาคธุรกิจ โดยร่วมมือกับพันธมิตรสำคัญระดับโลกด้านข้อมูล อาทิ ธนาคารโลก (World Bank) สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (PATA) บริษัทที่ปรึกษาด้านการวิจัย Frost & Sullivan และบริษัทจัดการข้อมูลอัจฉริยะ Meltwater Singapore
ภายในงานยังมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญระดับโลกทั้งในและต่างประเทศร่วมให้ความรู้ อาทิ นายกอร์ดอน อเล็กซานเดอร์ แคนเดอลิน จากบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารชื่อดังแมคเคนซี (McKinsey & Company) และนายคเณศ กิจเสรีบริรักษ์ จากไลน์ประเทศไทย (LINE Thailand) เป็นต้น โดยแบ่งช่วงเวลาออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 วิทยากรนำเสนอเนื้อหาท่านละ 20 นาที ช่วงที่ 2 การแบ่งกลุ่มเพื่อให้ผู้สนใจสอบถามเชิงลึก และช่วงที่ 3 วิทยากรทั้งหมดขึ้นเวทีร่วมกันเปิดโอกาสให้สอบถาม นำคำถามที่น่าสนใจมาถามพร้อมกันบนเวที ซึ่งการจัดงานในรูปแบบนี้จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมงานได้โฟกัสในเนื้อหาได้อย่างแท้จริง
นางศุภวรรณ กล่าวในตอนท้ายว่า ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 5-10% ซึ่งหากมีเครื่องมือทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนจะมีโอกาสเติบโตได้ถึงปีละ 20% ขณะเดียวกันเทคโนโลยีจะเป็นสิ่งที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมไมซ์ทุกกลุ่มได้เข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน อีกทั้งการสร้างพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่ง (Empowering Partnership) จะขยายจากผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมเดิมสู่สตาร์ทอัป หรือกลุ่มธุรกิจอื่นที่ใช้ไมซ์เป็นแพลตฟอร์ม จะช่วยทำให้วงจรของอุตสาหกรรมไมซ์กว้างและเข้มแข็งขึ้น สร้างโอกาสทางธุรกิจ การแลกเปลี่ยนความรู้และการต่อยอดอุตสาหกรรมให้ดียิ่งขึ้น นำไปสู่ความสามารถทางการแข่งขันที่ยั่งยืนต่อไป