alivesonline.com : “ทีเส็บ” จัดงานใหญ่ “Thailand MICE Forum 2018: Redefining Our Industry” โชว์ผลงาน 13 ปี สร้างรายได้เข้าประเทศไทยกว่า 1 ล้านล้านบาท หลังประมูลสิทธิ์งานไมซ์นานาชาติได้กว่า 300 งาน คิดเฉลี่ยปีละ 20 งาน ทั้งยังให้การรวมทั้งสนับสนุนงานไมซ์ทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 5 พันงาน พลิกโฉมแนวทางดำเนินงานหวังขึ้นอันดับ 5 ด้านการประชุม และอันดับ 6 ด้านการแสดงสินค้าของภูมิภาคเอเชียภายในปี 2564
ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” จัดงาน “Thailand MICE Forum 2018: Redefining Our Industry” ณ ห้องบางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อเป็นเวทีในการแถลงผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 พร้อมนำเสนอแผนกลยุทธ์การส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ตลอดจนจัดกิจกรรมสัมมนาเพื่อถ่ายทอดความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมไมซ์
ตลอดระยะเวลา 13 ปีของการดำเนินงาน “ทีเส็บ” ได้ประมูลสิทธิ์งานไมซ์นานาชาติกว่า 300 งาน คิดเฉลี่ยปีละ 20 งาน พร้อมให้การสนับสนุนงานไมซ์ทั้งในและต่างประเทศแล้วมากกว่า 5 พันงาน รวมสร้างรายได้ให้แก่เศรษฐกิจแล้วกว่า 1 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในการพัฒนาธุรกิจไมซ์ด้านต่าง ๆ อาทิ การสร้างมาตรฐานให้กับธุรกิจไมซ์ การอำนวยความสะดวกด้านลอจิสติกส์ วีซ่า การจัดทำคู่มือขั้นตอนและกระบวนการจัดงานไมซ์ การพัฒนาไมซ์ซิตี้ และ Area Base
การจัดงานไมซ์แต่ละครั้งยังก่อให้เกิดองค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนนวัตกรรม การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจและการลงทุน ซึ่งถือเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2560 พบว่าการดำเนินงานของ “ทีเส็บ” ร่วมกับผู้ประกอบการไมซ์ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ หลายด้านคือ เกิดค่าใช้จ่ายจากการจัดกิจกรรมไมซ์มีมูลค่า 231,200 ล้านบาท ก่อให้เกิดเป็นรายได้ประชาชาติ เป็นมูลค่าปีละ 1.73 แสนล้านบาท คิดเป็น 1.1% ของ GDP ประเทศ โดยมีสัดส่วนเทียบเท่ากับประเทศสิงคโปร์ ขณะเดียวกันยังมีรายได้จากมูลค่าภาษีที่ภาครัฐจัดเก็บได้จากธุรกิจไมซ์ 2.1 หมื่นล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 1.673 แสนตำแหน่ง”
ดร.อรรชกา ยังกล่าวถึงผลการดำเนินงานของทีเส็บ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ว่า จากสามไตรมาสแรกที่ผ่านมามีจำนวนนักเดินทางไมซ์ทั้งจากต่างประเทศและนักเดินทางชาวไทยที่เข้าร่วมงานไมซ์ในประเทศทั้งสิ้นแล้วจำนวนกว่า 25,291,439 ล้านคน สร้างรายได้ให้ประเทศไทยเป็นมูลค่ากว่า 154,779 ล้านบาท โดยประมาณการณ์ว่าเมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.2561 จะมีนักเดินทางไมซ์ทั้งจากต่างประเทศและนักเดินทางชาวไทยที่เข้าร่วมงานไมซ์ในประเทศ ประมาณ 38,397,033 คน สร้างรายได้ให้แก่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 207,561 ล้านบาท
จากรายงาน ของ International Congress and Convention Association (ICCA)และรายงานของ the Global Association of the Exhibition Industry (UFI) ในปี 2560 พบว่า ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 5 ของเอเชียด้านการจัดประชุมนานาชาติ เป็นอันดับที่ 7 ของเอเชียในด้านการแสดงสินค้านานาชาติ โดยเป็นที่ 1 ของอาเซียนทั้งในด้านการประชุมและการแสดงสินค้า
“ความท้าทายของ ทีเส็บ ในการดำเนินงานต่อไปคือการรักษาอันดับ 1 ของไมซ์ในอาเซียน และผลักดันให้ไทยเป็นอันดับ 5 ด้านการประชุม และอันดับ 6 ด้านการแสดงสินค้าของภูมิภาคเอเชียภายในปี 2564 โดยต้องเร่งส่งเสริมการดึงงานและเพิ่มพื้นที่การขายของการจัดงานแสดงสินค้าในประเทศไทย รวมถึงการปรับตัวให้ทันกับเทรนด์ใหม่ของอุตสาหกรรมไมซ์โลก เช่น การสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้เข้าร่วมงานไมซ์ การสร้างความพึงพอใจและความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมงาน ตลอดจนการนำเนื้อหาจากชุมชนและท้องถิ่นในประเทศมาสร้างอัตลักษณ์ให้กับการจัดงานไมซ์”
“ทีเส็บ” จะต้องเร่งสนับสนุนนโยบายรัฐบาล โดยใช้กิจกรรมไมซ์ส่งเสริมอุตสาหกรรมตามนโยบาย Thailand 4.0 ให้มากขึ้น และนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมไมซ์ ตลอดจนกระจายกิจกรรมไมซ์ไปยังภูมิภาคและเมืองรองเพื่อการกระจายรายได้ในประเทศ โดยต้องเร่งสร้างความกระตือรือร้นและการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบขององค์กรภาครัฐในการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมธุรกิจไมซ์
ดร.อรรชกา กล่าวด้วยว่า “ทีเส็บ” จึงกำหนด 3 แนวทางหลักเพื่อดำเนินงาน ได้แก่ (1) การพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมุ่งสร้างรายได้จากกิจกรรมไมซ์เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ เป็นผู้อำนวยความสะดวกและจัดทำแพ็คเกจสนับสนุนและส่งเสริมการตลาดให้แก่ภาคเอกชน ร่วมกันดึงงานและสนับสนุนการจัดงานภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล ดังเช่นในปี 2560 ที่ได้ให้การสนับสนุนงานในอุตสาหกรรม S Curve และ New S Curve ทั้งสิ้นกว่า 90 งาน อาทิ งานด้าน Robotics / ด้าน Logistics / ด้านเชื้อเพลิงและพลังงานทดแทน / ด้านการแพทย์ และด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล
(2) การใช้นวัตกรรมสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ อาทิ โครงการจัดทำแอปพลิเคชัน BIZ CONNECT ที่จะช่วยสร้างเวทีสื่อกลางการเจรจาธุรกิจระหว่างผู้จัดงานและผู้ร่วมงานไมซ์ผ่านแอปพลิเคชันที่สะดวกรวดเร็ว ซึ่งแอปพลิเคชั่นดังกล่าวจะรวบรวมการจัดงานทั้งหมดให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถศึกษาและตอบรับการร่วมงานพร้อมเจรจาธุรกิจได้ทันที นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ในการส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยด้วยนวัตกรรม ส่งเสริมธุรกิจ Start-up ในอุตสาหกรรมไมซ์ ให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ที่ใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
(3) การกระจายรายได้และองค์ความรู้จากกิจกรรมไมซ์สู่ชุมชน ภายใต้โครงการ “ไมซ์เพื่อชุมชน” โดยร่วมมือกับ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อพัฒนาสหกรณ์การเกษตรเป็นสถานที่รองรับการจัดงานไมซ์ โดยเบื้องต้นคัดเลือกสหกรณ์ 35 แห่ง และเตรียมขยายการดำเนินงานไปยังอีก 200 สหกรณ์ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ “ทีเส็บ” ยังร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าในประเทศ โดยจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนางานแสดงสินค้าของประเทศไทยเป็นครั้งแรก หรือ “EMTEX” (Empower Thailand Exhibition) เพื่อเป็นเวทีให้ภาครัฐและเอกชนร่วมกันผลักดันให้เกิดการสร้างงานแสดงสินค้าใหม่ ๆ และกระจายงานแสดงสินค้าสู่ภูมิภาค
“การเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินงานในครั้งนี้ถือเป็นการพลิกโฉมบทบาทและการทำงาน โดยเน้นการทำงานร่วมกันด้วยใจบริการอย่างแท้จริงให้กับอุตสาหกรรม การสร้างความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์และการสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ ซึ่งได้ประมาณการการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ว่าจะมีโอกาสต้อนรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์รวมทั้งสิ้นประมาณ 40,356,337 คน สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศได้ประมาณ 228,627 ล้านบาท แบ่งเป็นนักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างประเทศ ประมาณ 1,419,890 คน สร้างรายได้ให้ประเทศได้ 130,200 ล้านบาท ส่วนนักเดินทางชาวไทยที่เข้าร่วมงานไมซ์ในประเทศนั้นคาดว่าจะมีประมาณ 38,936,447 คน สร้างรายได้ให้ประเทศ 98,427 ล้านบาท” ดร. อรรชกา กล่าวในที่สุด