alivesonline.com : กรมการพัฒนาชุมชน ปลื้ม “โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” มีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้สังคม หลังสนับสนุนให้ชุมชนที่มีความพร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์ OTOP ที่โดดเด่น วิถีชีวิตอัตลักษณ์ ทุนทางวัฒนธรรม และทรัพยากรทางธรรมชาติจนได้ผลสำเร็จ จัดโครงการ “พช.สัมพันธ์สัญจร สมุทรสาคร-ราชบุรี” นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี 3 ชุมชน ใน 2 จังหวัด หวังเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้สังคมรับรู้ในวงกว้าง
นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดโครงการ “พช.สัมพันธ์สัญจร สมุทรสาคร-ราชบุรี” เพื่อศึกษาความสำเร็จของชุมชนท่องเที่ยว “OTOP OTOP นวัตวิถี” ที่ กรมการพัฒนาชุมชน มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและให้การสนับสนุนแนวทางการดำเนินงาน จนสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชน และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม
การขับเคลื่อน “โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” นับเป็นการพลิกโฉมครั้งใหญ่ของการพัฒนารูปแบบใหม่และเป็นโครงการที่ถูกจับตามองจากหลายฝ่ายว่าจะเข้าไปมีส่วนช่วยในการลดความเหลื่อมล้ำให้สังคมได้อย่างไร และมีวิธีการดำเนินงานรูปแบบใด โดย กรมการพัฒนาชุมชน ได้เข้าไปสนับสนุนให้ชุมชนที่มีความพร้อม มีสินค้า OTOP และมีทุน หรือเสน่ห์ชุมชนที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น เสนอเป็นหมู่บ้าน/ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ OTOP ที่โดดเด่น วิถีชีวิตอัตลักษณ์ ทุนทางวัฒนธรรม ทรัพยากรทางธรรมชาติของชุมชน
สำหรับ โครงการ “พช.สัมพันธ์สัญจร” ถือเป็นโครงการที่จะมีส่วนช่วยเสนอภาพลักษณ์ของ กรมการพัฒนาชุมชน ได้อย่างชัดเจนในทุกมิติ พร้อมกับเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ ภารกิจ รวมถึงผลการดำเนินงานของกรมการพัฒนาชุมชน จากสถานที่ปฏิบัติงานจริง โดยได้นำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปยังชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี 3 ชุมชน ใน 2 จังหวัด ได้แก่ “หมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี” จ.สมุทรสาคร “กาดวิถีชุมชนคูบัว” บ้านสระโบสถ์ จ.ราชบุรี และ “ตลาดโอ๊ะป่อย” บ้านท่ามะขาม จ.ราชบุรี
นายนิสิน กล่าวอีกว่า ในส่วนของชุมชนแรกในโครงการคือ “หมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี” จ.สมุทรสาคร” ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ต.ดอนไก่ดี อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เป็นหมู่บ้านที่ขึ้นชื่อในการทำเครื่องเบญจรงค์ที่มีความสวยงามและมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นของลวดลายที่เสนอเรื่องราววิถีชีวิตความเป็นไทยได้อย่างประณีตสวยงามและทรงคุณค่า น่าสะสม ถือเป็นมรดกประเทศชาติที่น่าหวงแหนและอนุรักษ์ให้คงอยู่คู่บ้านคู่เมืองสมุทรสาคร โดยในอดีตเมื่อประมาณปี 2525 กลุ่มชาวบ้านเคยทำงานในโรงงานเสถียรภาพ หรือโรงชามไก่ จึงทำให้มีภูมิความรู้และทักษะการผลิตเครื่องลายคราม ต่อมาเมื่อโรงงานปิดกิจการลง ชาวชุมชนที่ว่างงานจึงได้รวมกลุ่มกัน เพื่อผลิตถ้วยชามลายคราม และมีการพัฒนารูปแบบอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นเครื่องเบญจรงค์มาจนถึงทุกวันนี้
“กระทั่งปี 2546 ผลิตภัณฑ์เครื่องเบญจรงค์บ้านดอนไก่ดีก็ได้รับรางวัลสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาว และยังได้รับรางวัลชุมชนดีเด่นทางด้านการท่องเที่ยว เมื่อปี 2550 และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมายอีกด้วย ซึ่งนี่คือสิ่งที่รับประกันถึงคุณภาพของเครื่องเบญจรงค์และหมู่บ้านแห่งนี้เป็นอย่างดี”
นายนิสิต กล่าวอีกว่า สำหรับจุดต่อมาเป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี “กาดวิถีชุมชนคูบัว บ้านสระโบสถ์” จ.ราชบุรี ซึ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2560 ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 6 ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี มีไฮไลท์สำคัญคือ “กาดวิถีชุมชน” ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน ตั้งอยู่ภายในวัดโขลงสุวรรณคีรี จุดเด่นอยู่ที่กลิ่นอายวิถีชีวิตชุมชน “ไท-ยวน” และซุ้มร้านค้ามากมายถึง 87 ซุ้ม ครบถ้วนทั้งอาหารคาว อาหารหวาน ผักและผลไม้ ตลอดจนอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทานและอาหารสด รวมถึงผลิตภัณฑ์ชุมชนต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์จักสาน ผลิตภัณฑ์จากไม้ต่าง ๆ เสื้อผ้า และเครื่องแต่งกาย นอกจากนี้ ยังมีศิลปะพื้นบ้านไท-ยวน ซุ้มถ่ายภาพ มีชุดไท-ยวนให้สวมใส่เดินเที่ยวตลาดอีกด้วย
“กาดวิถีชุมชนแห่งนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเฉลี่ยสัปดาห์ละประมาณ 800-1,000 คน สร้างรายได้หมุนเวียนสัปดาห์ละ 3-5 แสนบาท หรือประมาณ 1.2-2 ล้านบาทต่อเดือน แต่หากเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดยาวนักขัตฤกษ์ เช่น สงกรานต์, ปีใหม่ จะมีรายได้หมุนเวียนเพิ่มขึ้นถึงสัปดาห์ละ 1 ล้านบาท”
นายนิสิต กล่าวด้วยว่า หลังจากที่มีโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการว่า ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในตัวคุณภาพของสินค้ามากขึ้น ขายสินค้าได้มากขึ้น เพราะนอกจากกาดวิถีชุมชนจะมีการประชาสัมพันธ์ตัวเองอย่างต่อเนื่องแล้ว โครงการชุมชนท่องเที่ยวโอทอปนวัตวิถียังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ OTOP ที่เข้าร่วมโครงการให้มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ทำให้ทุกวันนี้ กาดวิถีชุมชนคูบัวแห่งนี้ไม่เพียงแต่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้เป็นอย่างดีเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมและความรักความสามัคคีของชาวไท-ยวนที่สืบทอดมาเป็นร้อยปีอีกด้วย
นายนิสิต ยังกล่าวถึง ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี “ตลาดโอ๊ะป่อย บ้านท่ามะขาม” จ.ราชบุรี หมู่ที่ 2 ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ว่า “โอ๊ะป่อย” เป็นตลาดริมธารภาชี โดยที่มาของชื่อ “โอ๊ะป่อย” นั้นมาจากภาษากะเหรี่ยง แปลว่า “พักผ่อน” โดยการท่องเที่ยวที่ชุมชนแห่งนี้ นอกจากจะได้สัมผัสวิถีริมน้ำภาชีแล้ว ยังได้อิ่มบุญกับกิจกรรม “ใส่บาตรพระล่องแพ” หนึ่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นที่หาได้ยาก
ภายในตลาดโอ๊ะป่อยมีสินค้าน่าสนใจหลายอย่าง ประกอบไปด้วยอาหารท้องถิ่นและข้าวของเครื่องใช้ รวมถึงสินค้า OTOP โดยเมนูแนะนาของตลาดโอ๊ะป่อยคือ “ข้าวแดกงา” เป็นการนำข้าวเหนียวและงาดามาตำรวมกัน แล้วนำไปนวดและย่างบนเตา นอกจากนี้ ยังมีอีกหลากหลายเมนูท้องถิ่น อาทิ “ก๋วยเตี๋ยวม่อนไข่” ซึ่งเป็นอาหารร้านดังประจำอำเภอ และ ”บ้าบิ่นมะพร้าว” ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้า OTOP ของท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีข้าวของเครื่องใช้ให้เลือกซื้ออีกมามาย ได้แก่ ตุ๊กตาผึ้งถักไหมพรม ผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่ ตุ๊กตาปั้นดินไทย และสบู่สมุนไพร
ประโยชน์ที่ชุมชนได้รับจากโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ได้แก่ การบริหารจัดการและรู้จักประสานงาน การแก้ไขปัญหา เป็นที่มาของสถานที่พักผ่อนแบบธรรมชาติที่ยังรักษาสิ่งแวดล้อมไว้เป็นอย่างดี เพราะตลาดโอ๊ป่อยแห่งนี้ไม่ใช้พลาสติก โฟม และวัสดุทำลายสิ่งแวดล้อมทุกชนิด อีกทั้งยังเป็นตลาดแห่งการเรียนรู้ มีวินัย เคารพกฎระเบียบ เป็นตลาดคุณธรรมที่มีความเอื้ออาทร ชาวชุมชนช่วยกันพัฒนาสินค้าให้สินค้าขายไม่ซ้ำกัน เป็นตลาดที่สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนและชุมชนใกล้เคียง เป็นตลาดที่สนับสนุนให้นักเรียนมีรายได้ มีงานทำ และยังเป็นตลาดที่มีกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา
“ในส่วนของนักท่องเที่ยวถือได้ว่ามีจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากวันแรกที่เปิดโครงการ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเพียง 250 คน แต่ในปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวพุ่งสูงถึง 5.5 พันคน สร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยรายได้จาก 1.5 พันบาท เพิ่มขึ้นเป็น 2.5 หมื่นบาท โดยรายได้จากร้านค้าทุกร้านต่อสัปดาห์เฉลี่ยอยู่ที่ 2.5-3 แสนบาท และรายได้ต่อเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.1 ล้านบาท”
นายนิสิต กล่าวในตอนท้ายว่า การนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ในครั้งนี้ นอกจากเป็นการประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีให้กลุ่มเป้าหมายและประชาชนทั่วไปเกิดการรับรู้แล้ว ยังจะนำไปสู่การเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อสร้างส่วนร่วมของประชาชนในรูปแบบประชารัฐ และขับเคลื่อนโครงการสำคัญของรัฐบาลที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้คนในชุมชน เสริมความแกร่งให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงอย่างยั่งยืนต่อไป