New Issues » พบธุรกิจเอเชียแปซิฟิกละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ 57%

พบธุรกิจเอเชียแปซิฟิกละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ 57%

14 มีนาคม 2019
0

alivesonline.com : “บีเอสเอ พันธมิตรซอฟต์แวร์” จัดโครงการ “Legalize & Protect” ในไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มุ่งแก้ไขปัญหาการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ หวังสร้างความเข้าใจถึงประโยชน์ของการใช้ซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิทั้งทางกฎหมาย การดำเนินธุรกิจ และความมั่นคงปลอดภัยของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เผยปี 61 องค์กรธุรกิจไทยละเมิดลิขสิทธิ์เป็นมูลค่า 661 ล้านบาท

นายดรุณ ซอว์เนย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บีเอสเอ  พันธมิตรซอฟต์แวร์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ปัจจุบันเราให้ความสำคัญในเรื่องการใช้ซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซ่นส์) เพื่อช่วยองค์กรธุรกิจลดความเสี่ยงจากการใช้งานซอฟต์แวร์ โดยมีเป้าหมายคือการเห็นองค์กรธุรกิจจำนวนมากเข้าใจถึงความจำเป็นในการใช้ซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิถูกต้องครบถ้วน และเข้าใจว่าการลงทุนในการใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมายนั้นส่งผลดีต่อความปลอดภัย ชื่อเสียงองค์กร การดำเนินธุรกิจขององค์กรและผลกำไรของพวกเขาด้วยเช่นกัน

“บีเอสเอ” ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐของหลายประเทศในอาเซียน เพื่อช่วยให้กลุ่มธุรกิจต่าง ๆ เข้าใจถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับจากการใช้ซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิถูกต้องครบถ้วน โดย ข้อมูลจากไอดีซี (IDC) ประเมินว่า องค์กรธุรกิจจะมีผลกำไรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11 จากการเปลี่ยนมาใช้งานซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ รวมถึงมีการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ที่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้การใช้ซอฟต์แวร์ดังกล่าวยังเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับความสามารถในการแข่งขันระดับประเทศ ทำให้รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ สนับสนุนให้องค์กรธุรกิจจำนวนมากเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

“บริษัทที่ใช้ซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิถูกครบถ้วนจะมีประสิทธิภาพในการการปฏิบัติงานที่สูงกว่า ลดความเสี่ยงที่ข้อมูลองค์กรจะรั่วไหลและเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ดังนั้นองค์กรที่ดีและสามารถสร้างกำไรได้จึงควรใช้งานซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของลูกค้า ตลอดจนข้อมูลทางธุรกิจของตน ยิ่งไปกว่านั้นคือการป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อองค์กรเอง”

นายดรุณ กล่าวด้วยว่า ในสัปดาห์นี้ “บีเอสเอ” ได้เปิดตัวโครงการ “Legalize & Protect” ในประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งก่นหน้านี้เคยเปิดตัวโครงการที่คล้ายกันนี้มาก่อนแล้วในประเทศเวียดนาม และผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง โดยบริษัทเป้าหมายสำหรับโครงการนี้ล้วนอยู่ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิต ไอที การเงิน การบริการ การก่อสร้าง การดูแลสุขภาพ สินค้าอุปโภคบริโภค วิศวกรรม สถาปัตยกรรมและการออกแบบ

ในเดือนต่อๆ ไป “บีเอสเอ” จะจัดกิจกรรมในการให้ความรู้แก่ผู้นำองค์กรธุรกิจ เพื่อให้มั่นใจว่ากลุ่มนักธุรกิจต่างตระหนักถึงความเสี่ยงของการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ รวมถึงกิจกรรมทางการตลาด การสื่อสาร บทความบนโซเชียลมีเดีย และในบางกรณีอาจมีการติดต่อโดยตรงไปยังองค์กรธุรกิจเพื่อส่งเสริมให้พวกเขาดำเนินการ เพื่อให้แน่ใจว่าซอฟต์แวร์ที่ใช้งานอยู่นั้นมีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิถูกต้องครบถ้วน

นายดรุณ กล่าวในตอนท้ายว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีอัตราการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิสูงที่สุดในโลกถึงร้อยละ 57 ทั้ง ๆ ที่ภูมิภาคอาเซียนเป็นพื้นที่ที่มีพลวัตรทางเศรษฐกิจมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยองค์กรธุรกิจของท้องถิ่นและข้ามชาติต่างกำลังเติบโตและได้รับประโยชน์จากโอกาสอันหลากหลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่สำหรับบริษัทในภูมิภาคอาเซียนที่จะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างแท้จริง พวกเขาจำเป็นต้องใช้ซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ เพราะการทำธุรกิจด้วยซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิแสดงให้เห็นการขาดธรรมภิบาลในด้านการบริหารจัดการและเป็นสิ่งที่ไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับการทำธุรกิจในระดับสากลและมืออาชีพ

ผลการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจไทย ปี 61

ในปี 2561 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ได้ตรวจค้นและดำเนินคดีกับองค์กรธุรกิจละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ จำนวน 395 ราย พบคอมพิวเตอร์ติดตั้งใช้งานซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ จำนวน 4,431 เครื่อง คิดเป็นมูลค่าการละเมิดฯ มากกว่า 661 ล้านบาท พื้นที่ที่มีการตรวจค้นและดำเนินคดีสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี ชลบุรี ระยอง และนนทบุรี ตามลำดับ

สำหรับองค์กรธุรกิจที่ถูกดำเนินคดีในปี 2561 ประกอบด้วยธุรกิจเอสเอ็มอี และองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งในบางรายมีรายได้สูงระดับหมื่นล้านบาทต่อปี โดยส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจหลักอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต คิดเป็นร้อยละ 31.54 ธุรกิจออกแบบ ก่อสร้าง ตกแต่งภายใน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องในกลุ่มนี้ ร้อยละ 28.85 ธุรกิจบริการ เช่น บริการทางด้านวิศวกรรม บริการด้านสื่อโฆษณา ฯลฯ ร้อยละ 24.23 ธุรกิจตัวแทนจำหน่าย ค้าปลีกและค้าส่ง ร้อยละ 15.38 ตามลำดับ ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่คนไทยถือหุ้น 100% จำนวน 350 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 88.61 ของบริษัทที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมด

ในปี 2562 บก.ปอศ. จะยังคงมาตรการด้านการป้องปรามและปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยการสร้างความตระหนักรู้เรื่องความเสี่ยงทางด้านกฎหมายผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ โดยจะยังคงทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา บีเอสเอ พันธมิตรซอฟต์แวร์ ฯลฯ เพื่อลดปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย นอกจากนี้ จะดำเนินการตรวจค้นองค์กรธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ตามเบาะแสที่ได้รับจากการแจ้งผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ทั้งของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าของลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ โดยในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการตามกฎหมายกับองค์กรธุรกิจที่ทำผิดไปแล้วประมาณ 65 ราย

บก.ปอศ. แนะนำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีและองค์กรขนาดใหญ่ตรวจสอบซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งใช้งานภายในองค์กรอย่างสม่ำเสมอ หากพบซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิที่เข้าข่ายเป็นการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ควรแก้ไขให้ถูกต้องเพื่อลดความเสี่ยงทางด้านกฎหมายและความเสี่ยงอื่น ๆ ที่จะตามมา เช่น ความเสี่ยงต่อชื่อเสียงขององค์กรหากถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

เผยผลเสียต่อธุรกิจมหาศาล

ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ซีไอโอ (CIO) ทั่วโลกต่างพบว่าซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซ่นส์) มีความเสี่ยงมากและส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามมา

ปัจจุบัน องค์กรธุรกิจจำนวนมากมีความเสี่ยงสูงถึงหนึ่งในสามที่จะเผชิญกับการจู่โจมของมัลแวร์ ในเวลาที่ใช้งาน หรือติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ รวมถึงใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิด้วย

การจู่โจมของมัลแวร์ในแต่ละครั้งสามารถก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรธุรกิจโดยเฉลี่ยถึง 2.4 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยอาจใช้เวลาในการแก้ปัญหาดังกล่าวนานถึง 50 วัน นอกจากนี้ หากการจู่โจมของมัลแวร์ดังกล่าวทำให้องค์กรธุรกิจไม่สามารถให้บริการ หรือดำเนินงานได้ หรือสูญเสียข้อมูลทางธุรกิจ ย่อมส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงด้วยเช่นกัน

ค่าใช้จ่ายในการจัดการกับมัลแวร์ที่มีสาเหตุมาจากการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเพิ่มสูงขึ้น โดยสูงกว่า 1 หมื่นเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.2 แสนล้านบาท) ต่อเครื่องคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องที่ถูกมัลแวร์จู่โจม ทั้งยังสร้างความเสียหายให้แก่องค์กรธุรกิจทั่วโลกเกือบ 3.59 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (ประมาณ 114.88 แสนล้านบาท)

“บีเอสเอ” ทำงานร่วมงานกับรัฐบาลในประเทศต่าง ๆ มาอย่างยาวนาน เพื่อให้ความรู้แก่องค์กรธุรกิจเกี่ยวกับผลกระทบด้านลบจากการใช้งานซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ โดยความร่วมมือดังกล่าวนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่น่ายินดี ดังจะเห็นได้จากอัตราการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซ่นส์) ที่ลดลงในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของ “บีเอสเอ” ยังคงแสดงให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าวยังคงมีอยู่ในอัตราที่สูง