New Issues » “ถิรไทย” คาดตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าปรับตัวดีขึ้น

“ถิรไทย” คาดตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าปรับตัวดีขึ้น

18 มีนาคม 2019
0

 

alivesonline.com : “ถิรไทย” ผู้นำตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าของประเทศ มั่นใจปี 62 ความต้องการหม้อแปลงไฟฟ้าปรับตัวดีขึ้นจากภาครัฐกลับมาใช้งบฯ ปกติ คาดบริษัทฯ ได้คำสั่งซื้อประมาณ 20-25 % หลังประเดิมสัญญาแรกงาน กฟผ. งานจัดซื้อหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังขนาด 333.33 MVA 500 kV จำนวน 6 ยูนิต มูลค่า 268 ล้านบาท ในโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า พร้อมตั้งเป้าปีนี้โตกว่า 20 %

นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TRT ผู้ผลิต จำหน่าย และซ่อมบำรุงหม้อแปลงไฟฟ้าทุกขนาดของคนไทยเพียงแห่งเดียว เปิดเผยถึงภาวะอุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าของทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศว่า มีการปรับตัวลดลง เนื่องจากนโยบายรัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดซื้อจากเดิมเป็นระบบ e-Bidding ทำให้เกิดความล่าช้าและชะงักงันต่อการใช้งบประมาณในการจัดซื้อ ประจำปี 2560-2561 ส่งผลให้ยอดรับคำสั่งซื้อของหม้อแปลงไฟฟ้าของภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศ ลดลง จาก 1,625 ล้านบาท ในปี 2560 เป็น 931 ล้านบาท ในปี 2561 ขณะที่ภาคส่งออกปรับตัวดีขึ้นจาก 174 ล้านบาท ในปี 2560 เป็น 789 ล้านบาท ในปี 2561 เนื่องจากรับงานโปรเจกต์ใหญ่ที่ประเทศสิงค์โปร์ คิดเป็นร้อยละ 51% ของภาคส่งออก

บริษัทฯ ยังมีมูลงานคงเหลือ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 ในส่วนของหม้อแปลงไฟฟ้าอยู่ที่ 1,039 ล้านบาท ซึ่งจะส่งมอบในปี 2562 จำนวน 788 ล้านบาท และ 251 ล้านบาท ในปี 2563 ส่วนในปี 2562 บริษัทฯ มีการส่งมอบสินค้าที่มีกำไรขั้นต้นสูง โดยเฉพาะภาคส่งออก ทำให้กำไรขั้นต้นของหม้อแปลงไฟฟ้าปรับตัวจาก 16.77% ใน ปี 2560 เป็น 18.76% ในปี 2561

ในปี 2562 คาดว่าความต้องการหม้อแปลงไฟฟ้าโดยรวมยังคงปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการใช้งบประมาณของภาครัฐกลับเข้าสู่ภาวะปกติและภาคเอกชนมีความต้องการมากขึ้น เนื่องจากการลงทุนของภาครัฐทางด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาดคือ หม้อแปลงไฟฟ้าชนิดพิเศษที่เรียกว่า Unit Substation เพื่อตอบสนองต่อนโยบายในการนำสายไฟฟ้าอากาศลงสู่ใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งอาเซียน รวมถึงการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตามจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มความปลอดภัยต่อชีวิต ทรัพย์สิน และคำนึงถึงภูมิทัศน์ รักษาสภาพแวดล้อมให้สวยงาม

“จากสถานการณ์ที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ลงนามสัญญากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ สำหรับงานจัดซื้อจัดจ้างหม้อแปลงไฟฟ้า ขนาด 333.33 MVA 500 kV ซึ่งเป็นหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุด จำนวน 6 เครื่อง มูลค่างาน 268 ล้านบาท สำหรับโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพฯ เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าตามแผน PDP โดยมีกำหนดส่งมอบในปี 2563”

นายสัมพันธ์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของรายได้ของกลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่หม้อแปลงไฟฟ้า (Non-Transformer Group) นั้น เนื่องจากในปี 2560-2561 ภาครัฐยังคงชะลอการประมูลสำหรับโครงการใหญ่ ๆ ส่งผลให้ในปี 2561 TRT ได้รับงานลดลง จำนวน 61 ล้านบาท ประกอบด้วยรายได้จากการขายรถกระเช้า 23 ล้านบาท และรายได้จากการบริการ 38 ล้านบาท โดยคาดว่าการประมูลน่าจะกลับมาสูภาวะปกติในปี 2562 โดยประมาณการมูลค่างานที่รอประมูลในปี 2562 อยู่ที่ 1,857 ล้านบาท ซึ่ง TRT มีส่วนแบ่งการตลาด 15% -20% ประมาณการส่งมอบในปี 2562-2563

“ในส่วนของบริษัทย่อยคือ LDS ในปี 2561 ยังมีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย มีผลให้ขาดทุนสุทธิ 74 ล้านบาท ประกอบด้วยการปรับปรุงผลประโยชน์ทางภาษีที่ยังไม่ได้ใช้ของปีก่อน ๆ ที่เคยรับรู้เป็น จำนนวน  21 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 54 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม LDS ยังมีมูลค่างานคงเหลือ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 ประมาณ 80 ล้านบาท มีกำหนดส่งมอบในปี 2562 ทั้งหมด ในขณะที่มีงานที่อยู่ระหว่างการติดตาม ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 ทั้งสิ้น 1,424 ล้านบาท คาดว่ามีโอกาสจะเป็นยอดรับคำสั่งซื้อได้ประมาณ 20-25% อีกด้วย”

นายสัมพันธ์ กล่าวอีกว่า ในปี 2561 ภาพรวมของผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจถิรไทยปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีรายได้รวมทั้งสิ้น 2,637 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8% โดยมีอัตรากำไรขั้นต้น ต่อรายได้ขายและบริการ 21.90% เปรียบเทียบกับ 20.10% ในปี 2560 แต่เนื่องจาก LDS มีรายได้เติบโตไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ประกอบกับมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น เป็นผลให้กลุ่มบริษัทถิรไทยมีผลขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 30.76 ล้านบาท โดย ณ 31 ธันวาคม 2561 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมี Backlog แล้วกว่า 1,748 ล้านบาท ซึ่งจะส่งมอบในปี 2562 จำนวน 1,257 ล้านบาท และในปี 2563 จำนวน 491 ล้านบาท โดยมีมูลค่างานที่กำลังเสนอราคาและประมาณการของมูลค่าโครงการของภาครัฐ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 ประมาณ 13,031 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะได้คำสั่งซื้อประมาณ 20-25%

“ในปี 2562 คาดว่าภาวะการแข่งขันทางด้านราคายังคงอยู่ในระดับปานกลาง–สูง เพื่อลดความสี่ยงในเรื่องนี้ บริษัทฯ จะมุ่งเน้นตลาดที่ต้องการสินค้าที่มีการออกแบบทางวิศวกรรมที่การแข่งขันไม่สูงมากนัก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำกำไรและจะดำเนินการทุกมาตรการที่จะบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อที่จะรักษาอัตรากำไรเฉลี่ยขั้นต่ำ 20% เพื่อควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้และให้มั่นใจว่าบริษัทฯ และบริษัทย่อยดำเนินตามแผนงานอย่างมีการควบคุมที่เหมาะสม” นายสัมพันธ์ กล่าวในตอนท้าย