New Issues » ม.กรุงเทพธนบุรี ทุ่ม 111 ล้าน ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

ม.กรุงเทพธนบุรี ทุ่ม 111 ล้าน ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

22 มีนาคม 2019
0

alivesonline.com : ม.กรุงเทพธนบุรี ลงนามสัญญา “เอเซียนโซลาร์” ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ขนาด 3 เม็กกะวัตต์ มูลค่าลงทุน 111 ล้านบาท นับเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดใหญ่แห่งแรกที่เป็นผู้นำด้านการประหยัดพลังงาน ลดภาวะโลกร้อน ผลิตพลังงานสะอาดมาใช้ในมหาวิทยาลัย พร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.6 พันตันคาร์บอนไดออกไซด์

ผศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีมีความมุ่งมั่นตั้งใจและผลิตบัณฑิตออกไปสู่สังคมเพื่อเป็นบุคคลากรของประเทศที่มีคุณภาพและมีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับในการสร้างสรรค์สังคม มหาวิทยาลัยจึงเน้นเรื่องการปลูกฝังค่านิยมการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยและสังคมโลกแก่นักศึกษาและบัณฑิต โดยเฉพาะในเรื่องภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นขณะนี้ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับโลกและเป็นเรื่องที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตระหนักและให้ความสำคัญในการร่วมกันแก้ไขปัญหา ด้วยเหตุนี้ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี จึงมีนโยบายให้มหาวิทยาลัยฯ เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาโลกร้อนและลดจำนวนปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับมุ่งเน้นที่จะผลิตพลังงานสะอาดเพื่อใช้เองภายในมหาวิทยาลัยฯ

มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี จึงได้ลงนามสัญญาการจัดการพลงงานด้วยระบบผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์กับ บริษัท เอเซียนโซลาร์ จำกัด เพื่อติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) ของอาคารภายในมหาวิทยาลัยฯ เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 3 เม็กกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 111 ล้านบาท โดยนอกจากมหาวิทยาลัยสามารถลดต้นทุนค่าไฟฟ้าแล้ว ยังช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเลือกใช้เทคโนโลยีของประเทศเยอรมนีทั้งหมด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าสูงสุด

“มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี นับเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดใหญ่เป็นรายแรกของประเทศที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และยังเป็นผู้บุกเบิกด้านการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ รวมทั้งการลงทุนด้านพลังงานทดแทนขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้นำพามหาวิทยาลัยฯ ไปอีกมิติหนึ่ง พร้อมกันนี้ยังจะเปิดให้มีศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาและบุคคลภายนอกที่สนใจเรื่องการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์” ผศ.ดร.บังอร กล่าวในตอนท้าย

ด้าน นายประมวล บุตรดา ผู้บริหารบริษัท เอเซียนโซลาร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็นองค์กรชั้นนำด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ยินดีที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีให้ความไว้วางใจเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา ขนาด 3 เม็กกะวัตต์ หรือ 8,956 แผงนั้นจะสามารถช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 4 ล้านหน่วยต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดของมหาวิทยาลัยฯ เทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.6 พันตันคาร์บอนไดออกไซด์ แสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่าทั้งในแง่ของการประหยัดค่าไฟฟ้า และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย