พระปฐมบรมราชโองการ คือพระบรมราชโองการครั้งแรกของพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับบรมราชาภิเษกแล้ว
เมื่อทรงรับพระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย เครื่องขัตติยราชวราภรณ์ [เคฺรื่อง-ขัด-ติ-ยะ-ราด-ชะ-วะ-รา-พอน] เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ [เบ็น-จะ-ราด-ชะ-กะ-กุด-ทะ-พัน] และเครื่องราชูปโภคแล้วหัวหน้าพราหมณ์กราบบังคับทูลถวายพระพรชัยมงคล [ไช-ยะ-มง-คน] ด้วยภาษามคธและภาษาไทย
พระมหากษัตริย์จะมีพระราชดำรัสตอบเรียกว่า พระปฐมบรมราชโองการ ซึ่งเนื้อความเป็นการพระราชทานอารักขาแก่ประชาชนชาวไทย
ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อบรมราชาภิเษกครั้งแรก มีพระปฐมบรมราชโองการเป็นภาษาไทย
ต่อมาในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ ๕ ครั้งหลัง ได้มีพระปฐมบรมราชโองการเป็นภาษามคธเพิ่มขึ้นอีกภาษาหนึ่ง
พระปฐมบรมราชโองการของรัชกาลที่ ๑ พระราชทานว่า “พรรณพฤกษ ชลธี แลสิ่งของในแผ่นดิน ทั่วเขตพระนคร ซึ่งหาผู้หวงแหนมิได้นั้น ตามแต่สมณชีพราหมณาจารย์ราษฎรปรารถนามาเถิด…”
พระปฐมบรมราชโองการของรัชกาลที่ ๒ ถึงรัชกาลที่ ๗ มีข้อความแตกต่างกันบ้าง แต่ความหมายคล้ายกับของรัชกาลที่ ๑
ส่วนรัชกาลที่ ๙ มีพระปฐมบรมราชโองการเป็นภาษาไทยว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
สำหรับพระปฐมบรมราชโองการของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ความว่า
“เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”
Cr : คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีพรมราชาภิเษก