Variety » จริงหรือหลอก! 8 เรื่องผิด ๆ ที่คุณอาจได้ยินเกี่ยวกับ “แซลมอน”

จริงหรือหลอก! 8 เรื่องผิด ๆ ที่คุณอาจได้ยินเกี่ยวกับ “แซลมอน”

9 พฤษภาคม 2019
0

 

alivesonline.com : การเสาะหาของอร่อย ๆ รับประทานคือสวรรค์บนดินของผู้รักการกินเป็นชีวิตจิตใจ หากอยากรับประทานบาร์บีคิว ปิ้งย่างเลิศรสก็ต้องนึกถึงเนื้อวากิวจากญี่ปุ่น หากเป็นปาร์ตี้ไก่ทอดก็ต้องยกให้ผู้เชี่ยวชาญด้านความอร่อยอย่างเกาหลี แต่ถ้าเป้าหมายของคุณคือการมีสุขภาพดี และ “แซลมอน” เป็นสิ่งที่คุณชื่นชอบเป็นชีวิตจิตใจ “นอร์เวย์” คือแหล่งแซลมอนชั้นเยี่ยมสำหรับคุณ

ผู้ชื่นชอบการรับประทานแซลมอนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่านอร์เวย์เป็นแหล่งกำเนิดแซลมอนชั้นดี นอร์เวย์คือผู้ริเริ่มการเพาะเลี้ยงแซลมอนสมัยใหม่ โดยมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมายาวนานกว่า 10 ปี ด้วยการเป็นผู้ผลิตแซลมอนอันดับหนึ่งของโลกโดยยึดหลักความยั่งยืนและปลาที่มีสุขภาพดี พร้อมใช้เทคโนโลยีอันล้ำสมัยและระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจด้านอาหารปลอดภัยและการเพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืน เพราะฉะนั้นหากจะรับประทานบุฟเฟต์แซลมอนครั้งต่อไปต้องมั่นใจว่าแซลมอนมาจากนอร์เวย์เท่านั้น!

หลายคนไม่กล้ารับประทานแซลมอนดิบเพราะเชื่อว่าอาจเสี่ยงอันตรายจากพยาธิในลำไส้ แต่มั่นใจได้เลยว่าแซลมอนจากนอร์เวย์ไม่มีความเสี่ยงเหล่านั้น ที่สำคัญแซลมอนถึง 90% ที่นำเข้ามายังประเทศไทยคือแซลมอนจากนอร์เวย์ หากชาวประมงนอร์เวย์ที่ใช้เวลากว่า 30 เดือนในการเพาะเลี้ยงแซลมอนมาตั้งแต่ยังเป็นไข่ได้ยินสิ่งที่ไม่จริงเหล่านี้พวกเขาคงจะเสียใจมาก

 

นี่คือ 8 สิ่งที่ไม่จริงเกี่ยวกับ “แซลมอน” ที่คุณควรทราบ

1.แซลมอนถูกเพาะเลี้ยงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แออัด

ความจริงก็คือแซลมอนนอร์เวย์ถูกเพาะเลี้ยงอย่างดีในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม แซลมอนอาศัยอยู่ในกระชังขนาดใหญ่กลางมหาสมุทรแอตแลนติกที่มีความลึกถึง 40 เมตร โดยกระชังมีเส้นรอบวงถึง 200 เมตร เทียบได้กับเพ้นท์เฮ้าส์ขนาดใหญ่ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา แต่ละกระชังมีแซลมอนอาศัยอยู่เพียง 2.5% ในขณะที่ส่วนที่เหลือคือน้ำทะเล ภายในน้ำยังมีกล้องที่คอยตรวจดูความปลอดภัยและการดำรงชีวิตของแซลมอนตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย

2.แซลมอนมักไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ

ด้วยระบบการเลี้ยงดูที่ดี มีประสิทธิภาพ อาหารที่ใช้เลี้ยงแซลมอนจึงต้องผ่านการรับรองตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป (EU) ถือว่าเป็นมาตรฐานที่สูงกว่าอาหารที่เรารับประทานกันเสียอีก ส่วนประกอบมาจากอาหารปลาธรรมชาติที่มีส่วนผสมของน้ำมันปลาและพืชซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่ทำให้แซลมอนมีสุขภาพดี

3.แซลมอนมักถูกใช้สารเร่งสีเพื่อให้สวยงาม

เป็นไปได้อย่างไรที่มนุษย์จะฉีดสารเร่งสีให้แซลมอนที่ว่ายอยู่นับล้านตัวในมหาสมุทร ความจริงแล้วเม็ดสีแดงตามธรรมชาติที่ปรากฏในแซลมอนของนอร์เวย์มาจากสาร “แอสตาแซนธิน” ซึ่งมีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ พบได้ในสัตว์ทะเลเปลือกแข็งซึ่งเป็นอาหารของแซลมอนที่อยู่ตามธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้ “แอสตาแซนธิน” จึงถูกสกัดและนำไปผลิตอาหารสำหรับแซลมอน นอกจากเป็นสารอาหารสำคัญสำหรับแซลมอนแล้ว ยังทำให้แซลมอนมีสีสันสวยงาม เนื้อปลามีสีส้มน่ารับประทานเป็นอย่างยิ่ง

4.แซลมอนเลี้ยงมักเสี่ยงอันตรายจากพยาธิในลำไส้และมักพบยาปฏิชีวนะในปริมาณมาก

แซลมอนเลี้ยงของนอร์เวย์ไม่มีความเสี่ยงในการพบพยาธิในลำไส้แต่อย่างใด เนื่องจากปลากินอาหารที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป (EU) ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนสูง จึงไม่มีพยาธิในลำไส้อย่างแน่นอน ผู้เชี่ยวชาญในประเทศนอร์เวย์ได้พัฒนาวัคซีนยาที่ใช้ป้องกันและรักษาโรคให้กับแซลมอน ส่วนการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นไปอย่างจำกัด เพื่อให้การเพาะเลี้ยงแซลมอนเป็นไปอย่างยั่งยืน จำนวนของแซลมอนนอร์เวย์ที่ได้รับยาปฏิชีวนะจึงมีน้อยกว่า 1% และหลังได้รับยาปฏิชีวนะก็ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสารตกค้างในตัวปลา ก่อนผ่านกระบวนการต่าง ๆ มาสู่จานอาหารของท่าน

5.แซลมอนเลี้ยงเต็มไปด้วยสารปนเปื้อน

ความปลอดภัยของอาหารเป็นหัวใจสำคัญของการเพาะเลี้ยงแซลมอน และชาวนอร์เวย์เองก็ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหารเป็นอย่างมาก นอร์เวย์เพาะเลี้ยงแซลมอนปฏิบัติตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรปอย่างเคร่งครัดและมีมาตรการตรวจสอบสารปนเปื้อนที่อาจเกิดจากสภาพแวดล้อมรวมถึงสิ่งไม่พึงประสงค์อื่นที่อาจส่งผลกระทบต่อแซลมอนเลี้ยง โดยมีการสุ่มตรวจแซลมอนจากจำนวนที่ผลิตทั้งหมดในหนึ่งปี เพื่อนำมาตรวจสอบปริมาณสารปนเปื้อน ด้วยเหตุนี้ แซลมอนจากนอร์เวย์จึงเป็นหนึ่งในอาหารที่ปลอดภัยต่อการบริโภคมากที่สุด เพราะโอกาสที่จะพบสารโลหะหนัก หรือสารปรอท และระดับสารกำจัดศัตรูพืชถือว่าต่ำกว่าปริมาณที่กำหนด ตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร และมีปริมาณน้อยกว่าเมื่อเทียบกับแซลมอนที่เติบโตตามธรรมชาติปัจจัยสำคัญมาจากอาหารที่ใช้เลี้ยงแซลมอนนั่นเอง

6.แซลมอนส่วนใหญ่มาจากญี่ปุ่น

ย้อนไปในปีช่วงต้นปีค.ศ.1980 นอร์เวย์ผลิตแซลมอนสำหรับบริโภคภายในประเทศเท่านั้น แต่เนื่องจากปริมาณผลผลิตมีมากเกินความต้องการ พวกเขาจึงตัดสินใจส่งออกแซลมอนที่สดและอร่อยไปยังประเทศญี่ปุ่นที่ประชากรในประเทศชื่นชอบการบริโภคปลาดิบ หลังจากใช้เวลากว่า 2-3 ปีในการโน้มน้าวให้คนญี่ปุ่นหันมาบริโภคแซลมอนจากนอร์เวย์ ในที่สุดชาวญี่ปุ่นก็ยอมรับแซลมอนที่แหวกว่ายในน้ำทะเลที่เย็นเฉียบและใสสะอาดของนอร์เวย์ การผสมผสานวัฒนธรรมอาหารของชาวญี่ปุ่นโดยใช้แซลมอนสดจากนอร์เวย์จึงเริ่มขึ้น เกิดเป็นเมนูอาหารขึ้นชื่อของญี่ปุ่น ได้แก่ ซาชิมิแซลมอนและซูชิ ทำให้แซลมอนกลายเป็นปลาที่คนนิยมบริโภคในรูปแบบซูชิและซาชิมิมากที่สุดในโลก

7.แซลมอนที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติมีกรดไขมันโอเมกา-3 มากกว่าแซลมอนเลี้ยง

ความจริงแล้วแซลมอนเลี้ยงของนอร์เวย์มีปริมาณไขมันดีมากกว่าแซลมอนที่อาศัยตามธรรมชาติ จึงทำให้มีกรดไขมันโอเมกา-3 มากกว่า และเนื่องจากอาหารที่ใช้เลี้ยงแซลมอนมีสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ทำจากวัตถุดิบที่ดี จึงทำให้แซลมอนเลี้ยงมีรสชาติอร่อยกว่า ที่สำคัญแซลมอนเลี้ยงมีไขมันแบบไม่อิ่มตัวเป็นส่วนใหญ่ซึ่งเรารับประทานเข้าไปแล้วไม่อ้วนแน่นอน

8.แซลมอนตัวผู้รสชาติดีกว่าแซลมอนตัวเมีย

ไม่จริงเอาเสียเลย ในนอร์เวย์แซลมอนเลี้ยงได้รับการส่งออกสู่ตลาดก่อนเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ และไม่ว่าจะเป็นแซลมอนตัวผู้หรือตัวเมีย พวกมันจะถูกเลี้ยงด้วยอาหารที่เหมือนกัน โดยสรุปแล้วไม่ว่าจะเป็นแซลมอนเพศใด รสชาติก็อร่อยเหมือนกันทั้งนั้น

Nordlaks.
Photo: Marius Fiskum © Norwegian Seafood Council