New Issues » ภาคีรัฐ-เอกชน ร่วมดันสตาร์ทอัปพัฒนานวัตกรรมไมซ์

ภาคีรัฐ-เอกชน ร่วมดันสตาร์ทอัปพัฒนานวัตกรรมไมซ์

11 กรกฎาคม 2019
0

alivesonline.com : “ทีเส็บ” ร่วมกับ พันธมิตรเดินหน้าโครงการ “Thailand’s MICE Startup” มุ่งสานฝันกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้มีเวทีพัฒนาต่อยอดธุรกิจ พร้อมร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทย หลังเปิดตัวโครงการฯ จัดแข่งขันประกวดการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดงานไมซ์ เฟ้นหา 3 ทีมสตาร์ทอัปสุดยอดไอเดียนวัตกรรมเข้าโครงการบ่มเพาะ ก่อนนำเสนอผลงานในงานประชุมสมาคมอุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้าโลก หรือ UFI Annual Global Congress ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือน พ.ย.ศกนี้

นางจารุวรรณ สุวรรณศาสน์ ผู้อำนวยการฝ่าย MICE Intelligence และนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” เปิดเผยว่า โครงการ “Thailand’s MICE Startup” เป็นความร่วมมือของ “ทีเส็บ” กับภาคีจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ NSTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และอิมแพคเทค (ไทยแลนด์) ที่มุ่งหวังจะช่วยกันสร้างเวทีให้กับกลุ่มสตาร์ทอัปซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหาให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ เพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินงาน และสนับสนุนให้กลุ่มสตาร์ทอัปสามารถเติบโต พัฒนาต่อยอดธุรกิจของตนเอง

การจัดแข่งขันประกวดการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดงานไมซ์ เปิดตัวโครงการฯ มีผู้เข้าร่วมแข่งขัน 47 ทีม จาก 9 ประเทศ และผ่านเข้าสู่รอบคัดเลือก 12 ทีม มาประชันกันในการนำเสนอไอเดียนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่อคณะกรรมการ โดยได้ผู้ผ่านเข้ารอบจำนวน 3 ทีมคือ “สนีค” (SNEAK) “ไมนด์ทรี” (Mindstree) และ “โพชั่นเนียร์” (Potioneer)

สำหรับผู้ผ่านเข้าสู่รอบคัดเลือกทั้ง 12 ทีมมีความน่าสนใจมาก แต่ต้องคัดเลือกเพียง 3 ทีมที่โดดเด่นที่สุด โดยทีม “สนีค” ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งนำเสนอแพลตฟอร์มวางแผนการท่องเที่ยวด้วยรูปภาพ โดยใช้รูปแนะนำเส้นทางที่ต้องการจะไป แม้จะยังไม่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมไมซ์ในปัจจุบัน แต่สามารถต่อยอดได้ในอนาคต ด้วยรูปแบบที่ใช้งานง่ายอาจจะสามารถขายจุดหมายปลายทางไมซ์ด้วยภาพ การจัดการเดินทางพักผ่อนหย่อนใจหลังงานประชุม (Post Tour) หรือการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล (Incentive) โดยให้ลูกค้าเลือกรูปสถานที่ที่ชอบและระบบจะแนะนำเส้นทางให้ ซึ่งจุดนี้สามารถใช้เป็นลูกเล่นเพิ่มสีสันให้กับผู้ที่เข้าร่วมงานไมซ์ได้ด้วย

ส่วนอันดับสองคือ ทีม “ไมนด์ทรี” นำเสนอระบบที่มุ่งให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือกระจายรายได้สู่ชุมชน โซลูชั่นของ “ไมนด์ทรี” นับว่าสร้างผลกระทบสูงมาก ระบบนี้ต้องการที่จะดึงชุมชนเข้ามารองรับตลาดไมซ์ ทำให้เกิดกระจายรายได้และการจัดงานไม่ให้กระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ โดยการเข้าไปให้ความรู้ชุมชนว่าจะสนับสนุนอุตสาหกรรมไมซ์ได้อย่างไร มีจุดขายและความแตกต่างอย่างไร ซึ่งในอนาคตจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งชุมชนและผู้ประกอบธุรกิจในการจัดทำเส้นทางไมซ์นำเสนอให้ลูกค้าเลือกชุมชนที่พวกเขาสนใจได้

ส่วนทีมสุดท้ายคือ “โพชั่นเนียร์” นำเสนอระบบที่ช่วยให้ผู้ที่สนใจงานอาหารและเครื่องดื่มแบบเอ็กซ์คลูซีฟค้นหางานได้ง่ายขึ้น จุดขายของระบบนี้คือความเป็นส่วนตัว ซึ่งสนองตอบกับลูกค้าในปัจจุบันที่มีความเป็นปัจเจกชนค่อนข้างสูง สามารถจะพัฒนาเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมไมซ์ในการตอบโจทย์กลุ่มคอร์ปอเรต หรือกลุ่มพรีเมียมที่ต้องการความแตกต่างและประสบการณ์พิเศษเฉพาะตัว ซึ่งอาจจะพัฒนาต่อยอดไปได้หลายธีมตอบโจทย์กลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะ เช่น กลุ่มมังสวิรัติ หรือกลุ่มที่ต้องการอาหารโปรตีนสูง เช่น นักกีฬา ฯลฯ

“ในขั้นต่อไปผู้ผ่านเข้ารอบทั้ง 3 ทีมจะต้องเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม หรือโซลูชั่นให้คมชัดขึ้น สามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมไมซ์ได้จริง และทำเป็นธุรกิจได้ รวมถึงการได้รับโอกาสนำเสนอผลงานในงานประชุมสมาคมอุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้าโลก หรือ UFI Annual Global Congress ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งจะเป็นงานที่ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจของกลุ่มสตาร์ทอัปที่จะนำเสนอผลงานสู่สายตาของผู้เข้าร่วมงานซึ่งมีโอกาสจะเป็นลูกค้าของพวกเขาในอนาคตด้วย และเนื่องจากปีนี้เป็นปีแรกของโครงการฯ คณะกรรมการจึงเห็นชอบที่จะให้สิทธิ์ทั้ง 12 ทีมที่ผ่านเข้ารอบคัดเลือกได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะด้วย เพื่อสร้างเครือข่ายและสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจให้กับเหล่าสตาร์ทอัปมีชุมชนในการพัฒนาเติบโตต่อไปด้วยกัน”

ด้าน นางสาวจิดาภา บี. เอบราโมวิช ผู้จัดการโครงการและชุมชนสตาร์ทอัป “อิมแพ็คเท็ค ไทยแลนด์” กล่าวว่า “อิมแพคเทค” จะรับหน้าที่ในการจัดการและออกแบบหลักสูตรโครงการบ่มเพาะ รวมทั้งสรรหาผู้ให้การอบรม ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านต่างกัน รวมถึงเมนเทอร์สำหรับสตาร์ทอัปแต่ละทีม เพื่อให้คำปรึกษาได้อย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพ โดยจะเน้นในเรื่องทักษะด้านสังคม การเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ รวมถึงความรู้ด้านอื่น ๆ ทั้งการตลาด การระดมทุน กฎหมายที่ควรรู้ และการรับมือกับการเติบโตในอนาคต เพื่อให้สตาร์ทอัปเข้าใจความต้องการของลูกค้า สามารถพัฒนาสินค้าได้ตรงจุด และเตรียมการระดมทุนพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะมีระยะเวลาการอบรม 3 เดือน เริ่มตั้งแต่ 27 สิงหาคม- 6 พฤศจิกายน 2562 อีกทั้งตอนจบหลักสูตรจะมีกิจกรรมที่เรียกว่า Demo Day ให้บรรดาสตาร์ทอัปได้แสดงพลัง และฝึกฝนการนำเสนอผลงาน ก่อนจะไปพบกับสนามจริงต่อหน้านักลงทุน

นางสาวธันยธร เพ็ญบำรุงวงศ์ ผู้แทนจากทีม “สนีค” กล่าวว่า สนีคเป็นแอปพลิเคชันวางแผนการท่องเที่ยวโดยใช้รูปภาพ ผู้ใช้งานสามารถเลือกรูปภาพสถานที่ท่องเที่ยวที่ชอบได้หลายรูปพร้อมกัน แล้วระบบจะแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวให้โดยอัตโนมัติ ช่วยลดเวลาวางแผนการเดินทาง ตอนนี้เนื้อหาในแอปฯ ส่วนใหญ่ยังเป็นจุดท่องเที่ยว ในอนาคตจะพัฒนาให้เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมไมซ์ รองรับงานอีเวนต์ และงานแสดงสินค้า นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาดูได้ว่าช่วงนั้นมีงานอีเวนต์อะไรน่าสนใจบ้างและสามารถทำการจองได้ทันที

“โครงการฯ นี้ดีมาก ส่วนมากการจัดงานสตาร์ทอัปอินโนเวชั่นมักจะรวมทุกอุตสาหกรรมไว้ด้วยกัน แต่งานนี้เฉพาะเจาะจง ทำให้เราได้เจอเพื่อนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน มันเป็นเรื่องที่ดี เพราะสตาร์ทอัปทำคนเดียวไม่ได้ เราต้องมีกลุ่มในการที่จะช่วยกันผลักดันให้เราโตขึ้นด้วยความร่วมมือจากหลาย ๆ หน่วยงานหรือสตาร์ทอัปด้วยกันเอง”

นายศิเวก สัจเดว ผู้แทนจากทีม “ไมนด์ทรี” กล่าวว่า “ไมนด์ทรี” เป็นระบบที่ให้ชุมชนเข้ามาทำธุรกิจบนแพลทฟอร์มได้ ปัจจุบันในระบบมีข้อมูลชุมชนประมาณ 300 แห่ง มุ่งให้เกิดการท่องเที่ยวที่กระจายรายได้ไปสู่ชุมชน ลดปัญหาการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยว และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ขณะเดียวกันมีแนวทางที่จะดึงอุตสาหกรรมไมซ์ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสูงเข้าสู่ชุมชนด้วย เช่น การนำอาหาร หรือผลิตภัณฑ์จากชุมชนไปใช้ในงานประชุม ชุมชนบางแห่งมีห้องประชุม หลายชุมชนมีกิจกรรมที่สามารถจะรองรับการจัดงานที่ต้องการสร้างทีมได้ ตรงนี้จะทำให้ชุมชนมีรายได้และสามารถอยู่ได้

“องค์ประกอบหลัก ๆ จะเน้นเรื่องของการให้ความรู้กับชุมชน ให้พวกเขาเข้าถึงเทคโนโลยีและแหล่งทุนได้ สุดท้ายการพัฒนาชุมชนไม่ใช่แค่การขายแพคเกจทัวร์ให้ชุมชน แต่ต้องยกระดับศักยภาพของชุมชนขึ้นมาด้วย ปัญหาตอนนี้คือถ้าอุตสาหกรรมไมซ์เข้าไปในชุมชนก็จะไม่มีมาตรฐาน เราต้องให้ความรู้พวกเขา ไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เทคโนโลยีช่วยให้มันเกิดได้เร็วขึ้น”

นายพิตนิตสันต์ สันติวราคม ผู้แทนจากทีม “โพชั่นเนียร์” กล่าวว่า “โพชั่นเนียร์” เริ่มจากปัญหาที่เชฟ หรือบาร์เทนเดอร์ต้องการจะจัดงานอีเวนต์แบบเอ็กซ์คลูซีฟของตัวเองแล้วไม่มีช่องทางออนไลน์ที่จะช่วยจัดการแขกที่อยากมาร่วมงานได้ จึงออกแบบแพลตฟอร์มมาเพื่อแก้ปัญหานี้ และช่วยให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าระดับไฮเอนด์ที่ต้องการประสบการณ์ในการกินดื่มแบบเฉพาะตัว สามารถเข้าถึงตัวเชฟ หรือบาร์เทนเดอร์ได้มากขึ้น ในอนาคตจะพยายามเชื่อมต่ออุตสาหกรรมไมซ์โดยเฉพาะกลุ่มประชุม-อินเซนทีฟ อย่างเช่นการรับรองแขกวีไอพีเวลามีงานสัมมนาพิเศษ หรืออีเวนต์ต่าง ๆ เช่น งานวิ่งมาราธอน “โพชั่นเนียร์” สามารถพ่วงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานเหล่านี้ จัดหาเชฟฝีมือดีให้ได้ ช่วยเพิ่มประสบการณ์ของผู้มาร่วมงานไม่ใช่แค่มาประชุม แต่ยังได้รับประทานอาหารที่รสชาติถูกปากถูกใจด้วย