alivesonline.com : “นอสตร้า ลอจิสติกส์” เผยข้อมูลสถิติเดือนมิถุนายน 2562 มีรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกขนส่งที่จดทะเบียนติดตั้งจีพีเอสแล้ว 374,476 คัน เพิ่มมากขึ้นเฉลี่ย 168 รายต่อวัน ส่งผลให้มีจำนวน Big Data ด้านการขนส่งและลอจิสติกส์ที่สำคัญเป็นจำนวนมหาศาล แต่กลับไม่มีการนำข้อมูลเหล่านั้นมาสร้างประโยชน์ แนะธุรกิจขนส่งยุคดิจิทัลให้ความสำคัญกับการเลือกใช้ Data Analytics Platform ช่วยตั้งโจทย์ทางธุรกิจและลำดับความสำคัญของการจัดเก็บข้อมูล
นางสาวปิยวดี หงษ์ภักดี ผู้อำนวยการส่วนผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ ภายใต้ชื่อโซลูชัน “นอสตร้า ลอจิสติกส์” (NOSTRA Logistics) บริษัท จีไอเอส จำกัด ในกลุ่มบริษัทซีดีจี เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถิติเดือนมิถุนายนปี 2562 ของกรมการขนส่งทางบก มีรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกขนส่งที่จดทะเบียนติดตั้งจีพีเอสแล้วเป็นจำนวนทั้งสิ้น 374,476 คัน นับตั้งแต่กรมการขนส่งทางบกมีมาตรการบังคับใช้เมื่อปี 2559 และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเฉลี่ย 168 รายต่อวัน ส่งผลให้มีข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ด้านการขนส่งและลอจิสติกส์ที่สำคัญจำนวนมหาศาล แต่กลับไม่มีการนำข้อมูลเหล่านั้นมาสร้างประโยชน์ ธุรกิจขนส่งยุคดิจิทัลจึงควรให้ความสำคัญกับ Data Analytics Platform ที่ใช้จัดการข้อมูลการขนส่งให้พร้อมสำหรับการทำ Big Data Analytics เพื่อค้นหาความเชื่อมโยงและตอบโจทย์ทางธุรกิจด้วย Data Insight ข้อมูลสำคัญที่องค์กรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
“จากการให้บริการลูกค้า เราเห็นแนวโน้มปัญหาของการจัดการฐานข้อมูลระบบ GPS ในหน่วยงานต่าง ๆ ด้วยสาเหตุที่มีผู้ให้บริการระบบ GPS ที่หลากหลายในตลาด ส่งผลให้ลูกค้าบางองค์กรมีรถที่ใช้ระบบ GPS จากผู้ให้บริการหลายราย ทำให้ประเภทของข้อมูลและระบบที่ใช้ภายในองค์กรแตกต่างกัน การนำมารวมเพื่อใช้งานไม่สามารถทำได้ หรือมีความยุ่งยากมาก ไม่มีการจัดระบบและรวบรวมให้เป็นฐานข้อมูลที่นำมาใช้งานร่วมกันได้ หรือแม้แต่ลูกค้าบางองค์กรมีระบบงานขนส่งอื่น ๆ ที่ต้องการใช้ข้อมูลร่วมกัน แต่ไม่มีการเชื่อมต่อระบบก็ไม่สามารถทำงานร่วมกับระบบ GPS ได้”
Data Analytics Platform จึงเป็นตัวช่วยอุดช่องว่าง ด้วยการรวบรวมฐานข้อมูลที่กระจัดกระจายให้อยู่บนฐานข้อมูลเดียวกัน ช่วยลำดับความสำคัญในการจัดเก็บข้อมูลตามต้องการ เพื่อสามารถนำมาใช้วิเคราะห์ หาข้อมูลเชิงลึก หรือ Data Insight นำไปใช้ในการแก้ไขปัญหา หรือใช้ประกอบการตัดสินใจให้สามารถตอบโจทย์ทางธุรกิจในด้านต่าง ๆ
นางสาวปิยวดี กล่าวอีกว่า บริษัทฯ จึงได้พัฒนาบริการ NOSTRA Logistics Data Analytics Platform ให้เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้จัดการข้อมูลสำหรับธุรกิจขนส่ง ตั้งแต่การนำเข้าข้อมูลจากอุปกรณ์และเซ็นเซอร์หลากหลายแหล่งที่มา จัดเก็บและประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ไปจนถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและตัวแปรต่าง ๆ ออกมาเป็นข้อมูล Data Insight ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงลึกจากงานขนส่งภายในธุรกิจ ที่สำคัญคือสามารถพิจารณาผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่หลากหลายได้ภายในแพลตฟอร์มเดียวกัน ผ่าน Dashboard ช่วยแก้ปัญหาการจัดการฐานข้อมูลภายในองค์กร และพร้อมสำหรับการทำ Big Data Analytics ที่ช่วยค้นหาข้อมูลเชิงลึกจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาและแนวโน้มที่เป็นไปได้จากการเรียนรู้ข้อมูลในอดีต จึงนำไปใช้ในการบริหารและจัดการให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจได้มากกว่าข้อมูลการติดตามรถโดยทั่วไป
การทำ Data Insight องค์กรต้องเริ่มจากโจทย์ หรือปัญหาทางธุรกิจเป็นพื้นฐานในการเก็บข้อมูล เพราะ Big Data ได้จากข้อมูลเก่า หรือ Historical Data สามารถสรุปข้อมูลในอดีตเพื่อใช้คาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่ง Data Analytics Platform จะช่วยจัดเก็บข้อมูลตามลำดับความสำคัญและตอบโจทย์ปัญหาทางธุรกิจขนส่ง เช่น ข้อมูลจากการติดตามรถ พิกัด ระยะทาง ระยะเวลา พฤติกรรมการขับขี่และข้อมูลที่มาจากเซ็นเซอร์และอุปกรณ์เทเลเมติกส์ นำมาประกอบเพื่อวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่าง ๆ เพื่อคาดการณ์แนวโน้ม การแจ้งเตือน รวมถึงให้ข้อมูลเชิงลึกแก่ธุรกิจ เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหา ตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ตลอดจนวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจและพัฒนาปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานขนส่งและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้
“จากตัวอย่างข้อมูลที่เกิดจากการทำ Data Analytics และ Data Insight ของระบบ NOSTRA Logistics เช่น Shipment Report & Dashboard ที่สรุปจำนวนรายการ Shipment และวิเคราะห์ประสิทธิภาพการจัดส่งในแต่ละรอบการวิ่งงานผ่านกราฟ พร้อมระบุสาเหตุหากการจัดส่งล่าช้า เพื่อให้มีข้อมูลในการบริหารจัดการและวางแผนปรับปรุงการจัดส่งให้ดีขึ้น หรือ Driver Performance Analytics Report ที่วิเคราะห์ข้อมูลการขับรถของพนักงานหลังจบทริปขนส่ง เพื่อให้ผู้จัดการงานขนส่งมีข้อมูลในการวางแผนและปรับปรุงการทำงานของพนักงานขับรถ และสามารถพูดคุยแก้ไขปัญหาได้ตรงประเด็นขึ้น ตลอดจนรายงานอื่น ๆ ที่ช่วยประเมินการทำงานและการแจ้งเตือน เช่น Alert & Safety Report ทำให้รู้ตำแหน่งรถขนส่งและพฤติกรรมการขับรถ อีกทั้งการวิเคราะห์และแจ้งเตือนช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น” นางสาวปิยวดี กล่าว
อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีการขนส่งและลอจิสติกส์กำลังอยู่ในระหว่างการก้าวผ่านยุค Big Data และ Internet of Thing (IoT) ผู้ประกอบการในธุรกิจขนส่งและลอจิสติกส์ต้องเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อการทำดิจิทัลทรานฟอร์มเมชั่นซึ่งไม่ใช่แค่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเท่านั้น แต่คือการปรับเปลี่ยนธุรกิจโดยนำกลยุทธ์ดิจิทัลซึ่งตอบโจทย์ทางธุรกิจมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อสร้างคุณค่า หรือการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและข้อมูล
“การใช้ประโยชน์จาก Big Data ได้จริงไม่ใช่เพียงเรื่องของการจัดทำฐานข้อมูล แต่เป็นการสร้างโอกาสให้เข้าใจธุรกิจตนเองได้ดีขึ้นกว่าเดิมเพื่อช่วยปรับปรุงกระบวนการได้ดีขึ้นด้วย การทำ Data Analytics ที่สามารถวิเคราะห์ผลได้แม่นยำและถูกต้อง โดยการจัดเก็บข้อมูลเป็นระบบบน Data Analytics Platform ช่วยให้เกิด Data Insight ที่เป็นข้อมูลเชิงลึกสามารถนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ หรือแก้ปัญหาการทำงานในธุรกิจขนส่งได้จริง” นางสาวปิยวดี กล่าวในตอนท้าย