New Issues » [ชมคลิป] ม.มหิดล จัดงาน “MAHIDOL R-I-SE NOW” โชว์นวัตกรรมตอบยุทธศาสตร์ Thailand 4.0

[ชมคลิป] ม.มหิดล จัดงาน “MAHIDOL R-I-SE NOW” โชว์นวัตกรรมตอบยุทธศาสตร์ Thailand 4.0

24 สิงหาคม 2019
0

alivesonline.com : มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน “Mahidol R-I-SE NOW” ครั้งแรก นำแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่โดดเด่น ตอบสนองยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ต่อยอดองค์ความรู้สู่การยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ย้ำแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ศึกษาสถานการณ์และบริบททั้งจากภายในประเทศและของโลกในทุกมิติ พร้อมหนุนการผลิตงานวิจัยและงานนวัตกรรมคุณภาพสูง มีผลกระทบในระดับสากล โดยการสร้างกลุ่มวิจัยหลายรุ่นแบบสหสาขา สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อสังคมและเชิงพาณิชย์

https://www.facebook.com/alivesonline/videos/440222743237886/UzpfSTEwMDAwMTEyMDkzODgxOToyNDE5MDg0NTU4MTM4ODg1/

เมื่อวันที่ 23-24 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนโยธี กรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ร่วมกับ กองบริหารงานวิจัยและกองกิจการนักศึกษา ได้จัดงาน “MAHIDOL R-I-SE NOW” Research & Innovation Special Exhibition งานแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “มหิดล” เป็นชื่อมหาวิทยาลัย โดยภายในงานมีการแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่โดดเด่นตอบสนองยุทธศาสตร์ของประเทศในการขับเคลื่อน Thailand 4.0 อย่างเป็นรูปธรรมกว่า 90 บูธ พร้อมกับเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ในหลากหลายหัวข้อ โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในพิธีพร้อมปาฐกถาพิเศษเรื่อง “พลิกฟื้นประเทศไทย ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” เพื่อให้ผู้ร่วมงานเข้าใจถึงนโยบายภาครัฐ ตลอดจนกระบวนการทำงานโดยใช้การวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ เป็นตัวผลักดันเพื่อพัฒนาประเทศชาติให้เติบโตทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันให้สูงขึ้นทัดเทียมกับนานาชาติ

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ประธานในพิธี

ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตและผลงานวิจัยที่มีคุณภาพในหลากหลายสาขาวิชา มุ่งผลิตผลงานต่าง ๆ ที่มีศักยภาพสูงตามนโยบายการพัฒนาประเทศ จึงมีแผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปีคือ ตั้งแต่ปี 2561-2580 เพื่อให้ทิศทางและนโยบายการพัฒนามหาวิทยาลัยมีความชัดเจน สอดคล้องและตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาประเทศ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ต่าง ๆ ทั่วโลกเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องเร่งปรับตัวหาทางรับมือกับสิ่งที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น โดยมีการศึกษาถึงสถานการณ์และบริบททั้งจากภายในประเทศและของโลกในทุกมิติ โดยเฉพาะในมิติที่จะส่งผลต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงสถานการณ์ความท้าทายต่าง ๆ เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด, การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ, การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ, การเปลี่ยนแปลงและความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นต้น

มหาวิทยาลัยมหิดล ยังต้องเข้าสู่การแข่งขันในเวทีโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ในหลายปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศไทย จากสถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยของโลกหลายสถาบัน แต่ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์สำคัญคือ Global Research & Innovation ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สนับสนุนให้มีการผลิตงานวิจัยและงานนวัตกรรมคุณภาพสูง มีผลกระทบในระดับสากล โดยการสร้างกลุ่มวิจัยหลายรุ่นและแบบสหสาขา (Multi-generation Researcher & Multidisciplinary) โดยใช้วิธีการปรับการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลและจัดตั้งกองทุนสนับสนุน

“มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมีการสร้างความร่วมมือกับโครงการวิจัยนานาชาติแบบสหสถาบัน หรือ Global Connectivity และสร้างระบบสนับสนุนการวิจัยที่ครบวงจรจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ หรือ Research Value Chain ด้วยการวิจัยแบบ Demand – Driven ที่ได้ข้อมูล หรือคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ภาคเอกชน รวมถึงผู้ใช้ผลงานวิจัยจากชุมชนที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ทั้งในระดับ Global & Social Impact สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อสังคมและเชิงพาณิชย์ โดยตัวอย่างผลงานด้านนวัตกรรมต่าง ๆ ได้นำมาแสดงในงาน MAHIDOL R-I-SE NOW ครั้งนี้” ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง กล่าวในตอนท้าย

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ภัทรชัย กีรติสิน ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) กล่าวว่า ในปี 2562 เป็นโอกาสอันดีที่มหาวิทยาลัยมหิดลครบรอบ 50 ปีแห่งวันพระราชทานนามและ 131 ปีมหาวิทยาลัยมหิดล นับตั้งแต่ครั้งเริ่มก่อตั้ง “ศิริราชพยาบาล” และมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จึงเห็นสมควรให้มีการจัดงานนิทรรศการแสดงความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยทั้งด้านศาสตร์และศิลป์ เพื่อแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในความมุ่งมั่นของ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่ช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทย รวมถึงการเปิดรับฟังความคิด ข้อเสนอแนะจากภาคประชาชน ภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงอย่างมีบูรณาการกับมหาวิทยาลัยในการสร้างความร่วมมือในงานวิจัยพัฒนาที่จะนำไปสู่การส่งเสริมเศรษฐกิจที่มั่นคงอย่างยั่งยืนของประเทศ

ภายในงาน “MAHIDOL R-I-SE NOW” จึงมีการจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นไฮไลต์จากทุกคณะและสถาบันของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยแบ่งเป็นโซนที่จะสร้างความสนใจแก่ผู้เข้าชมได้หลากหลาย อาทิ โซนด้านการแพทย์และสุขภาพ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ รวมถึงการแสดงนวัตกรรมที่ทันสมัยและพร้อมสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีมากกว่า 90 บูธ เพื่อให้ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ประโยชน์แก่สังคมต่อไป อีกทั้งยังมีการจัดแสดงของบริษัทสตาร์ทอัปต่าง ๆ ที่พร้อมสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน

นอกจากนั้นยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมของอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา ของมหาวิทยาลัยมหิดลอีกหลากหลายประเภท อาทิ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ชุดตรวจทางห้องปฏิบัติการ หุ่นยนต์ เทคโนโลยี และสมองกลเพื่อช่วยพัฒนาด้านการแพทย์และความเป็นอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อสังคมและชุมชน รวมถึงผลงานด้านวัฒนธรรมและดนตรีที่ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี รวมไปถึงอาหารเสริมสุขภาพและอาหารเพื่อผู้ป่วย อาทิ อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงที่พัฒนาจากถั่วและธัญพืชในธรรมชาติ, พุดดิ้งผัก อาหารเพื่อผู้สูงอายุที่สูญเสียฟัน รวมถึงเด็กที่รับประทานทานผักได้ยาก, ถั่งเช่าสีทองซึ่งเพาะเลี้ยงด้วยวิธีการพิเศษให้สารอกฤทธิ์สูงกว่าถั่งเช่าปกติ ซึ่งผลงานต่าง ๆ นี้ นอกจากจะช่วยให้เกิดความก้าวหน้าในสังคมไทยที่จะทัดเทียมนานาชาติแล้ว ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศและสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 ได้อย่างตรงเป้าหมาย

ภายในงาน “MAHIDOL R-I-SE NOW” ยังจัดให้มีเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ในหลากหลายหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ ปาฐกถาเรื่อง “อว. กระทรวงใหม่กับโฉมใหม่ของงานวิจัย – นวัตกรรม” โดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อแสดงให้เห็นถึงบทบาทหน้าที่การทำงานของกระทรวงฯ พร้อมพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมของไทยด้วยภาพลักษณ์ใหม่ด้วยแนวคิดที่เท่าทันโลก, ปาฐกถาเรื่อง “ทุนวิจัยเพื่อนวัตกรรม สร้างคนและองค์ความรู้แห่งอนาคต” โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พูดคุยเรื่องเงินทุนเพื่องานวิจัย เพื่อสร้างความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม มุ่งหวังเพื่อการพัฒนาเสริมศักยภาพผู้ทำงานวิจัยให้เข้มแข็ง พร้อมต่อยอดองค์ความรู้เพื่อการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน และการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศต่อไป

(จากซ้ายไปขวา) ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ภัทรชัย กีรติสิน ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และ ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

นอกจากนี้ ยังมีเวทีเสวนาในหัวข้อทางวิชาการที่จะสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน อาทิ “กัญชาไทยกับทิศทางที่ท้าทาย” โดย ดร.เปรมวิทย์ จรีเวฬุโรจน์ ที่ปรึกษาอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้สังคมได้เข้าใจกฎข้อบังคับการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างถูกต้อง รวมถึงทิศทางการปลูกกัญชาในเชิงพาณิชย์ที่เป็นข้อถกเถียงในปัจจุบัน, เสวนาวิชาการหัวข้อ “วิจัยนอกกรอบ : กรณีศึกษาวัคซีนมาลาเรีย” โดย ดร.เจตสุมน สัตตบงกช ประจำศรี รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญที่คร่ำหวอดอย่างมากในวงการโรคมาลาเรีย เพื่อพูดคุยถึงความก้าวหน้าของการวิจัยไทยในการคิดค้นวัคซีนสำหรับโรคมาลาเรีย โรคติดต่อจากยุงก้นป่องสู่มนุษย์ ที่มีเฉพาะในเขตร้อนชื้นเท่านั้นและไม่สามารถอาศัยสัตว์ทดลองในการวิจัยได้ นอกจากนี้ยังมีการเสวนาแนวคิดจากภาคเอกชนเพื่อสร้างความร่วมมือกันอย่างเป็นบูรณาการอีกด้วย

ขณะเดียวกันยังมีเวทีเสวนาจากภาคเอกชนเพื่อสร้างคุณภาพต่อยอดผลงานวิจัยสู่เส้นทางการบูรณาการองค์ความรู้ที่หลากหลาย อาทิ เสวนาเรื่อง “Digital Disruption กับนวัตกรรมแห่งโลกการเงิน (ใกล้ตัวคุณ)” โดย นายกิตติภัทร์ ดำรงปราชญ์ ทีมดิจิทัล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) พูดคุยถึงการพัฒนาของนวัตกรรมดิจิทัลที่จะมาแทนที่การทำงานในระบบเดิม ๆ พร้อมการปรับตัวเพื่อเข้าสู่ยุคการเงินดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ, เสวนาเรื่อง “สานฝันด้วยศาสตร์และศิลป์กับหมอตั้ม” โดย “หมอตั้ม นายแพทย์ดิษกุล ประสิทธิ์เรืองสุข” ผู้มากความสามารถ จากเวที MasterChef Thailand SS2 และ Cleo Bachelors 2018 พูดคุยหมอหนุ่มผู้มีใจรักในการทำอาหาร ถึงแนวความคิด ในการใช้ความรู้ทางการแพทย์ผสานเข้ากับการสร้างสรรค์อาหารได้อย่างลงตัว

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ภัทรชัย กล่าวในตอนท้ายว่า ในงาน “MAHIDOL R-I-SE NOW” ยังได้เปิดโอกาสทางความคิดให้แก่นักเรียน นักศึกษา ทั่วประเทศ บนเวทีการประกวดไอเดียสร้างสรรค์ ในหัวข้อ “Smart Health” นำเสนอการใช้เทคโนโลยี หรือแนวคิดที่หลากหลายในการสร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของคนไทย โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างนวัตกรรมมาช่วยกันให้ข้อเสนอแนะ พร้อมจัดให้มีการประกวด รวมถึงประกาศผลและมอบรางวัล เมื่อวันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2562 โดยไอเดียที่สร้างสรรค์ในเวทีนี้จะมีโอกาสได้รับการต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ หรือระบบทางการแพทย์ที่สามารถสร้างชีวิตที่ดีให้กับคนไทยหรือระดับโลกได้อีกด้วย