New Issues » “สนธยา คุณปลื้ม” เร่งพัฒนาเมืองพัทยาเทียบชั้น “ไมอามี่”

“สนธยา คุณปลื้ม” เร่งพัฒนาเมืองพัทยาเทียบชั้น “ไมอามี่”

16 ตุลาคม 2019
0

alivesonline.com : นายกเมืองพัทยา ทำนายอนาคตเมือง มั่นใจ อีอีซี ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นสามเท่าจากเดิมที่มีประมาณ 14 ล้านคน พร้อมการลงทุนเบื้องต้น 1.7 ล้านล้านบาท เร่งประสานทุกภาคส่วนพัฒนาเมืองรอบด้าน ทั้งร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลฯ พัฒนาต้นแบบเครือข่าย 5G วางระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารเมืองพัทยา พร้อมผนึกกำลัง “ทีเส็บ” ตามแผนงานพัฒนาพัทยาไปสู่ศูนย์กลางการไมซ์นานาชาติ และประสาน กรมโยธาธิการฯ วางระบบบำบัดน้ำเสียใหม่ เพิ่มเป็น 1.3 แสนลูกบาศก์เมตร

นายสนธนยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เปิดเผยภายหลังการประชุมกับภาคีภาคส่วนต่าง ๆ ว่า เมืองพัทยาในฐานะเขตบริหารพิเศษ มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องแล้ว 40 ปี ทั้งยังดำเนินการด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมาแล้ว 60 ปี ทำให้ชลบุรีและเมืองพัทยามีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี จนปัจจุบันมีจีดีพีเกือบ 1 ล้านล้านบาท ถือเป็นอันดับที่สองของประเทศ นอกจากนี้ ยังมีความก้าวหน้าทางสังคมอย่างน่าพอใจ ดังเช่นในรายงานดัชนีความก้าวหน้าของคนของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รายงานว่า ชลบุรีและเมืองพัทยามีระดับการพัฒนาโดยรวมอันดับหกของประเทศ เป็นอันดับสองด้านชีวิตแรงงาน เป็นอันดับสามด้านการศึกษา เป็นต้น

ขณะเดียวกัน จากรายงานของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม 2561-มิถุนายน 2562 มีการขอส่งเสริมการลงทุนในเขตสามจังหวัดของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ประกอบด้วยฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มีประมาณ 8 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการลงทุนในชลบุรีประมาณ 6.4 แสนล้านบาท

“แต่ปัจจุบันเมืองพัทยากำลังสำลักความก้าวหน้า โดยเฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อมและการบริหารเมือง เพราะต้องเผชิญกับปัญหาหลายด้าน เช่น น้ำท่วม น้ำเสีย และขยะ ซึ่งถ้าหากไม่เร่งปรับตัวแก้ปัญหารับการเกิดขึ้นของ อีอีซี ก็อาจจะกลายเป็นตัวฉุดรั้งทั้งพัทยาและความก้าวหน้าของประเทศ เมืองพัทยาจึงต้องหาแนวทางในการขับเคลื่อนให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม”

นายสนธยา กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาเมืองพัทยามีการจัดประชาคมประชาชนในเรื่องต่าง ๆ แต่จากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงต้องเตรียมแผนงานและมาตรการที่จะสร้างเป็นองค์กรถาวรในลักษณะเครือข่ายซึ่งสามารถพัฒนาไปเป็นมูลนิธิพัฒนาพัทยาได้ต่อไป โดยได้ศึกษาหลาย ๆ ทางเลือกในการมุ่งสู่เป้าหมายคือ การลดข้อจำกัดทางราชการ เช่น การจัดตั้งบริษัทกรุงเทพธนาคม หรือแม้แต่ขอนแก่นโมเดล เพื่อพิจารณาข้อดีข้อเสีย แล้วนำมาปรับใช้กับพัทยาในอนาคต

สำหรับเครือข่ายพัฒนาพัทยา ประกอบด้วยภาคส่วนสำคัญคือ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ภาคการศึกษา ภาคสาธารณสุข ภาคราชการ และองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งจะเข้ามาร่วมคิด ร่วมทำกับเมืองพัทยาและจังหวัดชลบุรี อันจะเป็นแนวทางที่ทำให้เกิดความยั่งยืนได้ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

“ตัวอย่างที่ชัดเจนคือพัทยามีขยะวันละ 460 ตัน เพราะเรามีประชากรกับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยขยะเหล่านี้ไม่มีทางจะแก้ไขได้หมดถ้าผู้ทำให้เกิดขยะไม่เข้ามาร่วมมือด้วย แต่ถ้าเกิดการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งแล้ว ชลบุรีและเมืองพัทยาก็จะแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง ประชาชนก็มีความสุขมากกว่าที่เป็นอยู่”

นายสนธยา กล่าวอีกว่า การพัฒนาของ อีอีซี จะทำให้กายภาพของเมืองพัทยาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งจำนวนประชากรที่คาดว่าจะเพิ่มเป็น 3 ล้านคน โดยในส่วนของนักท่องเที่ยวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสามเท่าจากเดิมที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 14 ล้านคน พร้อมการลงทุนเบื้องต้น 1.7 ล้านล้านบาท

การร่วมมือกับหลาย ๆ ภาคส่วนครั้งนี้เท่ากับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของพัทยาให้เป็น “Neo Pattaya” ตามแนวทาง “พัทยาโฉมใหม่ ก้าวไกล ไม่ทิ้งกัน” โดยเฉพาะการเข้ามาของ อีอีซี และการลงทุนต่าง ๆ คาดว่าจะเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของพัทยาซึ่งปัจจุบันพึ่งพาการท่องเที่ยวเกือบ 80% ไปสู่เมืองชายทะเลที่มั่นคงกว่าเดิม ทั้งยังจะสามารถยืนอยู่บนธุรกิจหลายสาขา เช่น เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลก็จะเป็นการกรุยทางไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ โดยไม่มีขีดจำกัด ทั้งสตาร์ทอัป การเงิน และอื่น ๆ

นายสนธยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน เมืองพัทยา ยังได้ร่วมมือกับ กรมโยธาธิการและผังเมือง วางแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างครบวงจรเป็นที่เรียบร้อยและเริ่มดำเนินการในระยะต้นแล้ว โดยเมืองพัทยามีการวางระบบบำบัดน้ำเสียใหม่จากปัจจุบันบำบัดได้ 6.7 หมื่นลูกบาศก์เมตร เพิ่มเป็น 1.3 แสนลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พัฒนาต้นแบบเครือข่าย 5G บริเวณชายหาดพัทยา วางระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารเมืองพัทยา และร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” ตามแผนงานพัฒนาพัทยาไปสู่ศูนย์กลางการประชุมและแสดงสินค้าระดับนานาชาติ ครอบคลุมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การตลาด และพัฒนาบุคลากร

“เราลองเปรียบเทียบเมืองพัทยากับเมืองชายทะเลอื่น ๆ เช่น ไมอามี่ ซึ่งมีขนาดพื้นที่และจำนวนนักท่องเที่ยวใกล้เคียงกัน แต่พบว่าจีดีพีของเมืองพัทยาต่ำกว่าสิบกว่าเท่า เพราะไมอามี่ถือเป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยว การเงิน และธุรกิจสาขาต่าง ๆ จึงคาดว่าเมื่อ อีอีซี เกิดขึ้นจะทำให้ศักยภาพของเมืองพัทยาเพิ่มสูงขึ้นมาก เพียงแต่เราต้องเร่งพัฒนาตามให้ทันและทำให้ยั่งยืนมากขึ้น” นายสนธยา กล่าวในที่สุด