New Issues » [ชมคลิป] ระดมพลังสมาชิก กทบ. 13 ล้านคนร่วมโครงการ “เปิดปฏิบัติการกองทุนกล้าไม้”

[ชมคลิป] ระดมพลังสมาชิก กทบ. 13 ล้านคนร่วมโครงการ “เปิดปฏิบัติการกองทุนกล้าไม้”

21 ตุลาคม 2019
0

alivesonline.com : สํานักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ผนึกภาคีเครือข่ายภาครัฐและภาคการศึกษา เปิดโครงการกองทุนต้นไม้ร่วมพัฒนา “เปิดปฏิบัติการกองทุนกล้าไม้” ภายใต้แนวคิด “ต้นไม้ยั่งยืน กองทุนมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง” หวังใช้พลังสมาชิกกองทุนฯ 8 หมื่นแห่งทั่วประเทศ รวม 13 ล้านคนเป็นกำลังสำคัญ รวมพลังร่วมพลิกฟื้นผืนป่า ปลูกต้นไม้ในโอกาส “ก้าวสู่ปี่ 20 กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ” วันที่ 25 ก.ค.63 พร้อมร่วมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้า ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เรื่อง “ไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง”

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการจัดงานโครงการกองทุนต้นไม้ร่วมพัฒนา “เปิดปฏิบัติการกองทุนกล้าไม้” จัดโดย สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ณ บ้านดู่ ต.หนองหิน อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ในอดีตประเทศไทยมีความสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติในเรื่องของต้นไม้ป่าไม้ แต่จะเห็นได้ว่าในช่วงหลังพื้นที่ป่าไม้ลดลงและมีจำนวนที่จำกัด จนก่อให้เกิดปัญหาดินถล่ม ภัยแล้ง น้ำท่วม ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในจังหวัดอุบลราชธานี อันเป็นผลมาจากต้นไม้และป่าไม้ของประเทศลดลงทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ทั้งยังไม่ใช่แต่ประเทศไทยเท่านั้นเพราะในหลายประเทศก็อยู่ในภาวะการณ์เดียวกัน ภาครัฐเล็งเห็นถึงความสำคัญของป่าไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญ จึงผลักดันนโยบายการเพิ่มพื้นที่ป่าขึ้น โดยการขับเคลื่อน โครงการกองทุนต้นไม้ร่วมพัฒนา “เปิดปฏิบัติการกองทุนกล้าไม้” ภายใต้แนวคิด “ต้นไม้ยั่งยืน กองทุนมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง”

สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ที่มีกว่า 13 ล้านคนทั่วประเทศ ถือเป็นกำลังและพลังสำคัญ ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสุข สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และมูลค่าอย่างยั่งยืนให้สมาชิกกองทุนฯ โครงการกองทุนต้นไม้ร่วมพัฒนา “เปิดปฏิบัติการกองทุนกล้าไม้” จึงเป็นโครงการที่ให้สมาชิกกองทุนฯ มาร่วมเปลี่ยนแปลงพลิกฟื้นพื้นป่าประเทศไทยให้มีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้งนี้ โดยในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องภัยพิบัติทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ไต้ฝุ่น ดินถล่ม ซึ่งเกิดจากทรัพยากรธรรมชาติ นั่นคือป่าไม้และต้นไม้จากที่เคยอุดมสมบูรณ์ต้องสูญเสียไป ส่งผลต่อการดำรงชีวิต จึงเกิดการร่วมระดมความคิดเห็นก่อเกิดเป็นแนวทางในแก้ไขปัญหา

นายกอบศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) มีสมาชิกกองทุนฯ ทั่วประเทศที่จะเป็นกำลังในการปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าและยังนำมาใช้สอย สร้างอาชีพได้อีกด้วย พร้อมยังได้เตรียมการปลูกต้นกล้าเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2562 ทั้งยังนับเป็นการนำพระราชดำริล้นเกล้าของ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งทรงตรัสเสมอว่า “ต้นไม้” เราปลูกไม้ 3 อย่างมีประโยชน์ 4 อย่าง ได้แก่ ไม้ใช้สอย ไม้ผล ไม้เศรษฐกิจ การนำไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ นำไปใช้ทำฟื้น ผลไม้ใช้กิน ทำมาหากินโดยนำไปขาย และสุดท้ายเป็นการอนุรักษ์ดินอนุรักษ์ป่า การปลูกต้นไม้ในครั้งนี้จึงเป็นร่วมพลัง ความรักและน้อมนำพระราชดำรัสสร้างป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์เหมือนในอดีต

ทางด้าน  ผู้อํานวยการ สํานักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) เป็นองค์กรภาคประชาชนที่ก่อตั้งมา 18 ปี มีการตั้งกองทุนฯ รวมประมาณ 8 หมื่นกองทุนทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญเดินหน้าขับเคลื่อนการปลูกต้นไม้ให้เต็มแผ่นดินให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านโครงการกองทุนต้นไม้ร่วมพัฒนา “เปิดปฏิบัติการกองทุนกล้าไม้” ภายใต้แนวคิด “ต้นไม้ยั่งยืน กองทุนมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง” ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนปลูกเป็นรายบุคคลทำให้ขาดกำลังในการสนับสนุน แต่วันนี้สมาชิกกองทุนฯ ที่มีพลังผู้ปลูกจะมีกองทุนหมู่บ้านเป็นพลังองค์กรที่จะเข้ามาสนับสนุนให้ประสบความสำเร็จและทำให้การปลูกต้นไม้ได้เต็มแผ่นดินเกิดขึ้นได้จริง

นอกเหนือจากการปลูกต้นไม้เป็นประโยชน์กับส่วนรวมและเป็นการสร้างสินทรัพย์แผ่นดินคือต้นไม้แล้ว ต้นไม้ยังสามารถเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ซึ่งขยายสู่การเป็นสินทรัพย์และยังสามารถนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการสร้างอาชีพและรายได้ อาทิ อาชีพในการเพาะกล้าไม้ การทำเรือนเพาะชำ นับเป็นการส่งเสริมอาชีพและส่งเสริมรายได้ให้กับสมาชิกกองทุนฯ

“โครงการนี้จะทำให้สมาชิกกองทุนฯ ได้รับประโยชน์จากมูลค่าของผลผลิตต้นไม้และการขยายสินเชื่อ โดย กองทุนฯ ยังจะได้หลักทรัพย์และโครงการส่งเสริมอาชีพซึ่งนำไปสู่การพัฒนาอันนำไปสู่การใช้งบประมาณของกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ สอดรับกับแนวคิด ต้นไม้ยั่งยืน กองทุนมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง ของโครงการฯ ทั้งนี้ประเทศยังได้สินทรัพย์คือ ทรัพยากรธรรมชาติของแผ่นดิน และสภาพแวดล้อมที่จะก่อความสุขให้เกิดขึ้นในแผ่นดิน สำหรับชื่อโครงการกองทุนต้นไม้ร่วมพัฒนา มาจากสมาชิกและกองทุนฯ ทั่วประเทศ ที่จะร่วมกันพัฒนาสินทรัพย์คือต้นไม้ให้เกิดขึ้นในหมู่บ้านและชุมชน” นายนที กล่าวเสริม

สำหรับแผนการเตรียมความพร้อมหลังการเปิดโครงการฯ เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา สทบ. ได้มีการมอบต้นไม้กล้ารวม 1 พันต้น แบ่งเป็นยางนา 200 ต้น พะยอม 200 ต้น มะค่า 200 ต้น พะยูง 150 ต้น สัก 100 ต้น กระถินเทพา 100 ต้น และประดู่ 50 ต้น แก่สมาชิกกองทุนเป็นกรณีตัวอย่าง โดยนอกจากจะมอบต้นกล้าให้สมาชิกกองทุนฯ ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษแล้ว แล้วยังจะเปิดรับข้อมูลความต้องการของสมาชิกกองทุนฯ โดยสามารถเข้ามาลงทะเบียนได้ที่ http://smartiotdevice.ddns.net:1234/Web/register.htm ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. ผู้ต้องการปลูกต้นไม้ สามารถระบุความต้องการกล้าไม้ เพื่อทางกองทุนฯ จะได้จัดเตรียม และ 2. ผู้ทำกล้าไม้ ที่สร้างเป็นศูนย์เพาะชำกล้าไม้ เพื่อบริการแก่สมาชิกต่อไป และในวันที่ 5 ธันวาคม 2562 จะเป็นวันส่งเสริมการปลูกต้นกล้าเพื่อน้อมรำลึกถึง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปลูกต้นไม้พร้อมกันของกองทุนโดยกำหนดไว้ในวันกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติในวันที่ 25 กรกฎาคม โดยในปี 2563 จะเป็นวันครบรอบ 19 ปีกองทุนฯ และก้าวสู่ปี 20 จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเปิดโอกาสให้ทุกกองทุนได้ร่วมกันสร้างสินทรัพย์ให้กับแผ่นดิน โดยการส่งเสริมให้สมาชิกปลูกต้นไม้ร่วมกัน

โครงการกองทุนต้นไม้ร่วมพัฒนา “เปิดปฏิบัติการกองทุนกล้าไม้” จะมีกระบวนการเตรียมความพร้อม 3 เรื่องคือ หนึ่งการจัดเตรียมกล้าไม้ ซึ่งได้สนับสนุนและจัดซื้อจากสมาชิกกองทุนฯ ที่ปลูกต้นกล้า เรื่องที่สองคือ การอบรมให้ความรู้ โดยได้ร่วมกับ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมป่าไม้ จะเข้ามาช่วยด้านการอบรม การสอนเรื่องการวัดมูลค่าไม้ และให้ความรู้ตั้งแต่การปลูกดูแลกล้าไม้จนถึงระยะที่สร้างมูลค่าได้ ทั้งยังมีความร่วมมือกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ที่จะมาให้ความรู้ด้านการสร้าง Carbon Credit (คาร์บอนเครดิต) และการประเมิน Less พร้อมยังมี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เข้ามาร่วมติดอาวุธทางปัญญาให้กับสมาชิกกองทุนฯ ส่วนเรื่องที่สามคือ การสนับสนุนโครงการจากภาคีที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จะเข้ามาให้ความรู้ในการใช้ประโยชน์จากต้นไม้ หรือภาคเอกชนที่จะเข้ามาช่วยเรื่องการตลาด หรือการแปรรูปไม้ เป็นต้น