alivesonline.com : สมาคมอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าโลก มั่นใจศักยภาพไทย เลือก กรุงเทพมหานคร จัดงานใหญ่ประจำปี The 86th UFI Global Congress พร้อมนำผู้บริหารในวงการอุตสาหกรรมไมซ์กว่า 550 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ด้าน “ทีเส็บ” กำหนด 5 กลยุทธ์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้านานาชาติ ตามแนวทาง “Exhibition Redefined ; 360๐ Exhibition Success” หวังดึงนักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างชาติในกลุ่มการแสดงสินค้านานาชาติ 2.77 แสนคน พร้อมสร้างรายได้ 2.11 หมื่นล้านบาท
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2562 อุตสาหกรรมงานแสดงสินค้านานาชาติของประเทศไทยมีสัดส่วนประมาณ 20% ของอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งระบบ โดยมีโอกาสต้อนรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างชาติในกลุ่มการแสดงสินค้านานาชาติ รวมจำนวนทั้งสิ้น 264,005 คน เติบโตเพิ่มขึ้น 13.25% คิดเป็นรายได้ 20,292 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 5.92% โดยประเทศที่มีนักเดินทางมากที่สุด 5 ลำดับแรกคือ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ตามลำดับ ขณะที่ผู้เข้าร่วมแสดงงาน (Exhibitor) 5 ลำดับแรกคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ส่วนผู้ร่วมชมงาน (Visitor) 5 ลำดับแรกคือ จีน มาเลเซีย อินเดีย เวียดนาม และสิงคโปร์
จากข้อมูลของ สมาคมอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าโลก (Union des Foires Internationales : UFI) ยังระบุด้วยว่า ในปี 2562 ประเทศไทยมีรายได้จากการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติอยู่ในอันดับสูงสุดในอาเซียน คิดเป็นเงิน 232.71 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการจัดงานทั้งสิ้น 104 งาน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ซึ่งมีการจัดงาน 94 งาน โดยมีพื้นที่การจัดงานรวมทั้งสิ้น 663,250 ตารางเมตร เฉลี่ยพื้นที่การจัดงานต่องานสูงถึง 6,377 ตารางเมตร
“ถึงแม้ว่าในปี 2562 ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา แต่เราก็ยังคงได้รับความไว้วางใจให้จัดงานแสดงสินค้านานาชาติใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2561 ที่มีการจัดงานใหม่ 8 งาน และเพิ่มเป็น 17 งานในปี 2562 ส่วนในปี 2563 คาดว่าจะมีการจัดงานใหม่เพิ่มอีก 24 งาน โดยเฉพาะงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องจักรกล อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมสาธารณูปโภคพื้นฐาน อุตสาหกรรมขนส่ง อุตสาหกรรมกรตลาด อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมกีฬา เป็นต้น ส่วนจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างชาติในกลุ่มการแสดงสินค้านานาชาติคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 277,000 คน พร้อมสร้างรายได้ 21,100 ล้านบาท”
สร้างภาพลักษณ์เป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลก
นายจิรุตถ์ กล่าวอีกว่า ล่าสุดประเทศไทย โดย กรุงเทพมหานคร ได้รับเกียรติจาก สมาคมอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าระดับโลก ให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุม The 86th UFI Global Congress เมื่อวันที่ 6-9 พ.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นการประชุมสำคัญที่ใหญ่ที่สุดของ UFI ซึ่งรวบรวมผู้บริหารระดับสูงในอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติจากทั่วโลกมาร่วมประชุมหารือ แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ สร้างเครือข่าย และรับทราบทิศทางรวมถึงเทรนด์ใหม่ของอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ โดย “ทีเส็บ” ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) หรือ TEA สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) หรือ TICA สมาคมโรงแรมไทย และกลุ่มบางกอก ริเวอร์ พาร์ทเนอร์ส ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งนี้ซึ่งถือเป็นการจัดครั้งที่ 2 หลังจากที่เคยจัดมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2550
ในงานดังกล่าว “ทีเส็บ” จัดโซนประเทศไทย (Thai Town) เป็นโซนพิเศษสำหรับแสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติของไทยและไมซ์ซิตี้ พร้อมกับการมีสัมมนาเชิงธุรกิจ หัวข้อ “ประเทศไทย” จุดหมายใหม่แห่งอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าของโลก (Focus on Thailand) ซึ่งเป็นเวทีสร้างความเชื่อมั่นในด้านต่าง ๆ ต่อผู้จัดงานต่างประเทศเพื่อนำงานแสดงสินค้าให้เข้ามาจัดในประเทศไทย พร้อมกับให้มีเวทีเจราจาธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมฯไทยและต่างประเทศ (Speed Dating) โดยมีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมเจรจาธุรกิจกว่า 20 ราย รวมทั้งสิ้นกว่า 400 นัดหมาย
นายจิรุตถ์ กล่าวอีกว่า การเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม The 86th UFI Global Congress จะส่งผลทางด้านเศรษฐกิจ โดยประมาณการผู้เข้าร่วมงานประชุมครั้งนี้กว่า 550 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก จะสร้างรายได้รวมกว่า 42 ล้านบาท (รายละประมาณ 79, 790 บาท) ทั้งยังสามารถดึงงานแสดงสินค้าใหม่มาจัดที่ประเทศไทยอย่างน้อย 3 งาน ก่อให้เกิดผลบวกทางเศรษฐกิจมากกว่า 81.14 ล้านบาท (คำนวณจากการจัดงานหนึ่งงานบนขนาดพื้นที่ 1-3 พันตร.ม. คิดเป็นงานละประมาณ 27 ล้านบาท) โดยคาดว่าจะมีธุรกิจ (Business Lead) เกิดขึ้น 20 งาน สร้างรายได้กว่า 135 ล้านบาท นอกจากนั้นยังจะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ สร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจในประเทศไทย และประกาศความพร้อมของกรุงเทพมหานครและประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพการจัดงานระดับโลก ตอกย้ำไทยในฐานะศูนย์กลางการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้านานาชาติของไทยในปี 2563 “ทีเส็บ” จะยึดแนวทาง “Exhibition Redefined ; 360๐ Exhibition Success” โดยแบ่งเป็นกลยุทธ์ 5 ด้าน คือ 1) การดึงงานใหม่เข้ามาจัดในประเทศไทย โดยมุ่งเน้น 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย S curve อาทิ การบินและลอจิสติก ดิจิทัล บริการสุขภาพแบบองค์รวม ยานยนต์แห่งอนาคต ฯลฯ 2) การเตรียมความพร้อมสู่การเป็นเจ้าภาพการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติด้านการบิน โดยมุ่งเน้นการดึงงานไมซ์ในอุตสาหกรรมลอจิสติกและการบินเข้ามาจัดในประเทศไทย 3) การเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไทยในการจัดงานแสดงสินค้าให้มีมาตรฐาน โดยร่วมมือกับ สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) 4) การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรระดับโลก อาทิ การเจาะกลุ่มเป้าหมายผ่านกิจกรรม UFI Asia Pacific Conference Site Trip และ ASEAN Association Meeting และ 5) การสนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้าแบบครบวงจร ยกระดับมาตรฐานการจัดงานสู่สากล เพิ่มจำนวนผู้ร่วมแสดงงานมุ่งเน้นกลุ่มประเทศจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน และเพิ่มจำนวนผู้เข้าชมงานชาวต่างชาติจากกลุ่มประเทศ ASEAN+6 และ CLMV
“ไทย” ตลาดการแสดงสินค้านานาชาติสร้างผลกำไรสูงสุดอาเซียน
นายไค ฮัทเทนดอฟ กรรมการผู้จัดการและประธานบริหาร สมาคมอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าโลก กล่าวว่า จากรายงานสถิติการสำรวจอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติแห่งภูมิภาคเอเชียปี 2562 พบว่าประเทศไทยเป็นตลาดงานแสดงสินค้านานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มมากขึ้นในด้านจำนวนงานและพื้นที่การจัดงาน ประเทศไทยยังมีศูนย์การจัดงานแสดงสินค้าที่มีมาตรฐานในระดับโลก มีบริษัทผู้จัดงานที่มีมาตรฐานสากล ขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐบาลยังให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2562 ประเทศไทยประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการเป็นเจ้าภาพการจัดงาน The 86th UFI Global Congress ที่สามารถสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นตลาดอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติที่สร้างผลกำไรสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน โดยการจัดงานในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนทั้งสิ้น 550 คนจาก 50 ประเทศทั่วโลก ทั้งยังมีจำนวนการจับคู่ธุรกิจเกิดขึ้นภายในงานเป็นจำนวนมาก สามารถสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติไทยได้เป็นอย่างดี ตลอดจนสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของไทยในการร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้ประเทศไทยเป็น 4.0 อีกด้วย
เอกชนปลื้มได้โอกาสแสดงศักยภาพ
ด้าน นายทาลูน เทง นายกสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) หรือ TEA กล่าวว่า ในฐานะสมาคมที่มีบทบาทโดยตรงต่อการพัฒนาและสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจให้กับสมาชิก เน้นสร้างความร่วมมือระหว่างกัน การรวมตัวของบริษัทผู้เชี่ยวชาญ เพราะในการจัดงานแสดงสินค้าแต่ละงานต้องใช้มืออาชีพในแต่ละส่วนทั้งบริษัทผู้จัดงานแสดงสินค้า ศูนย์การแสดงสินค้า บริษัทขนย้าย บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น การเป็นเจ้าภาพการจัดงาน The 86th UFI Global Congress 2019 จึงนับเป็นโอกาสดีสำหรับอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าไทยในการแสดงศักยภาพความพร้อมและความเป็นศูนย์กลางการจัดงานแสดงสินค้าที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานซึ่งผู้จัดงานแสดงสินค้าจากทั่วโลกจะได้สัมผัสประสบการณ์จริง การเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการไทยที่เป็นมืออาชีพแบบตัวต่อตัว อีกทั้งจะได้เห็นความพร้อมของบุคลากรมืออาชีพ และเป็นโอกาสหาพันธมิตรระหว่างสมาชิกของเรากับสมาชิกของ UFI ทั่วโลก โดยการจัดงานครั้งนี้มีผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทสมาชิกตอบรับเข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 80 ท่าน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งจากนโยบายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติไทยของ “ทีเส็บ”
กรุงเทพมหานคร ขานรับแผนพัฒนาไมซ์อย่างยั่งยืน
นายพิชญา นาควัชระ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐตามนโยบายรัฐบาล กรุงเทพมหานคร ในฐานะเมืองเจ้าภาพมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าภาพงาน The 86th UFI Global Congress 2019 และงานเลี้ยงรับรองผู้เข้าประชุม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือสนับสนุนและศักยภาพความพร้อมของกรุงเทพมหานครในฐานะไมซ์ซิตี้ของประเทศไทย พร้อมทั้งส่งเสริมความร่วมมือในการทำการตลาดระดับนานาชาติ สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติในการให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวธุรกิจ โดยส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางการจัดประชุมและนิทรรศการนานาชาติของโลก และแผนพัฒนากรุงเทพมหานครที่ตั้งเป้าหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองจัดประชุมนิทรรศการในอันดับแรกของภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นการเป็นเจ้าภาพร่วมงานประชุมครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวและไมซ์ของกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน และยังเป็นการประชาสัมพันธ์อุตสาหกรรมไมซ์ของกรุงเทพมหานครให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายเป็นไปตามความร่วมมือของ กรุงเทพมหานคร และ “ทีเส็บ”
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ยังให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมภายในงาน The 86th UFI Global Congress อาทิ การอำนวยความสะดวกในการจัดงาน ด้านความปลอดภัย และการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น เพื่อเป็นการต่อยอด และส่งเสริมภาพลักษณ์ของกรุงเทพมหานครในฐานะที่เป็น Exhibition City of ASEAN อีกด้วย