New Issues » [ชมคลิป] “แม็คโคร” จับมือ “มหิดล” ร่วมพัฒนาโภชนาการผัก-ผลไม้

[ชมคลิป] “แม็คโคร” จับมือ “มหิดล” ร่วมพัฒนาโภชนาการผัก-ผลไม้

14 พฤศจิกายน 2019
0

นายเรวัติ อารีรอบ (ที่ 2 จากขวา) ผู้ช่วยเลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี นางศิริพร เดชสิงห์ (ที่ 2 จากซ้าย) รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เป็นสักขีพยาน

alivesonline.com : “แม็คโคร” ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล นำผลงานข้อมูลคุณค่าโภชนาการอาหาร เสริมอาหารปลอดภัย เชื่อมระบบตรวจสอบย้อนกลับผ่านคิวอาร์โค้ด i-Trace ประเดิมที่ผักผลไม้กว่า 120 ชนิด ภายใต้แบรนด์ MQP ย้ำภาพแหล่งรวมวัตถุดิบอาหารคุณภาพปลอดภัย ตอบโจทย์ผู้ประกอบการยุคกระแสสุขภาพมาแรง

เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ ห้อง MCC อาคารธาราพัฒนาการ แม็คโคร สำนักงานใหญ่ ถ.พัฒนาการ กรุงเทพฯ ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อสนับสนุนและพัฒนาวิชาการด้านอาหารและโภชนาการ ระหว่าง บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี นายเรวัติ อารีรอบ ผู้ช่วยเลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติเป็นประธาน

นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “แม็คโคร” มุ่งเน้นการสร้างความเชื่อมั่นมาตรฐานด้านอาหารปลอดภัยในกลุ่มสินค้าผักและผลไม้อย่างต่อเนื่อง โดยทีมตรวจสอบคุณภาพได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับเกษตรกรและหน่วยงานภาครัฐในการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับสถาบันวิชาการด้านอาหารต่าง ๆ รวมถึง สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีงานวิชาการและฐานข้อมูลทางด้านคุณค่าโภชนาการที่ได้รับการยอมรับและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง จึงนำมาซึ่งการลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับให้ครอบคลุมทั้งมาตรฐานอาหารปลอดภัยและคุณค่าทางโภชนาการ เพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภคตามแนวโน้มการเติบโตของอาหารเพื่อสุขภาพในปัจจุบัน

“เบื้องต้นจะมีการนำข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการมาใช้ในผักผลไม้ปลอดภัยและผักผลไม้ภายใต้แบรนด์ MQP (Makro Quality Pro) ประกอบด้วยผลไม้ 14 ชนิด ผัก 120 ชนิด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับผ่านคิวอาร์โค้ด i-Trace เพื่อเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลสำคัญต่อคนทุกช่วงวัยที่มีความต้องการโภชนาการแตกต่างกัน ซึ่งผักผลไม้ไม่ได้ให้ประโยชน์แค่เกลือแร่และวิตามินเท่านั้น แต่ยังมีสารอาหารอื่น ๆ ที่ร่างกายต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีข้อจำกัดเรื่องอาหาร การมีข้อมูลโภชนาการจะทำให้รู้ว่า ผัก ผลไม้ แต่ละชนิดมีปริมาณน้ำตาล แป้ง หรือสารอาหารอื่น ๆ อย่างไรจะได้เลือกรับประทานได้อย่างเหมาะสม”

นางศิริพร กล่าวอีกว่า ในยุคสมัยที่ผู้คนมีความต้องการทางโภชนาการอาหารที่แตกต่างกัน ความร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาข้อมูลด้านอาหารมาใช้จริงในภาคธุรกิจ เรามุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการและลูกค้าสมาชิกของแม็คโครสามารถนำข้อมูลโภชนาการไปต่อยอดสร้างเมนูใหม่ ๆ เพื่อสุขภาพ อันจะเป็นการสร้างโอกาสทางการขายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยตอกย้ำความเป็นแหล่งรวมวัตถุดิบอาหารคุณภาพปลอดภัยและมีคุณค่าโภชนาการเพื่อผู้ประกอบการไทยอย่างแท้จริงของ “แม็คโคร”

ด้าน ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถาบันโภชนาการ หาวิทยาลัยมหิดล ได้สร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม โดยการนำองค์ความรู้ด้าน “ฐานข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร” (Thai Food Composition Databases) ซึ่งเป็นข้อมูลที่แสดงปริมาณสารอาหารต่าง ๆ ได้แก่ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต ใยอาหาร น้ำ แร่ธาตุ วิตามิน น้ำตาล คอเลสเตอรอล กรดไขมัน เป็นต้น ซึ่งหากผู้บริโภคไม่ทราบถึงปริมาณและสัดส่วนที่สมดุลย่อมนำไปสู่ปัญหาทุพโภชนาการได้ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases, NCDs) ซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่สำคัญของประชากรไทยและทั่วโลก

“ฐานข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการของอาหารจึงมีความสำคัญมากและเป็นที่ต้องการของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในงานสาธารณสุข อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม โดยนำไปใช้ในงานด้านต่าง ๆ เช่น การประเมินความเสี่ยงต่อการได้รับสารอาหารน้อย หรือมากเกินไป การแนะนำผู้บริโภคให้รู้จักการเลือกซื้อและบริโภคอาหารที่มีประโยชน์เพื่อป้องกันการเกิดภาวะทุพโภชนาการ การจัดทำสูตรอาหารให้แก่ผู้ป่วยเฉพาะโรค การวางแผนและประเมินการผลิตผลิตผลการเกษตรเพื่อให้เพียงพอในการบริโภคในประเทศ การคัดเลือกวัตถุดิบ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร การประเมินคุณค่าทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์เพื่อการจัดทำฉลากโภชนาการ เป็นต้น ซึ่งสถาบันโภชนาการได้ดำเนินการพัฒนาฐานข้อมูลดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครอบคลุมชนิดอาหารมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

ทั้งนี้ ขอบเขตความร่วมมือที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย การให้ความร่วมมือในการศึกษาและพัฒนางานวิจัยด้านอาหารเพื่อโภชนาการ อาทิ ร่วมพัฒนาฐานข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการ พัฒนานวัตกรรมอาหารผ่านโครงการวิจัยสนับสนุน การจัดทําฐานข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร และการพัฒนาห้องปฏิบัติการ