New Issues » ชักนำนักการตลาด ยึด “B-A-S-I-C” รับมือผู้บริโภคยุค 2020

ชักนำนักการตลาด ยึด “B-A-S-I-C” รับมือผู้บริโภคยุค 2020

18 พฤศจิกายน 2019
0

alivesonline.com : สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย จัดงานวันนักการตลาด “Marketing Day 2019” ส่งท้ายทศวรรษเก่า อัปเดตหลากประเด็นฮ็อตที่โลกธุรกิจต้องจับตามอง ทั้งมุมของผู้บริโภค นวัตกรรม ความเปลี่ยนแปลง และรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปของนักการตลาดแห่งอนาคต พร้อมย้ำให้นักการตลาดใช้หลักการ “B-A-S-I-C” รับเทรนด์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กำลังจะมาถึง

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวในงานวันนักการตลาด “Marketing Day 2019” ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ARE YOU READY FOR 2020s” ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล เวิลด์ ว่า ในปี 2562 เป็นปีแห่งความท้าทาย แม้เทรนด์ของเศรษฐกิจจะชะลอตัวทั่วโลกและส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.8 แต่เราได้เห็นการต่อสู้ของโลกธุรกิจอย่างเข้มข้นทั้งในระดับประเทศและระดับชาติ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าผู้อยู่รอดในสนามแข่งขันทางธุรกิจและการตลาดในยุคนี้คือผู้ที่เข้าใจผู้บริโภคอย่างแท้จริงและนำเสนอสุดยอดสินค้า-บริการได้ตรงความต้องการของลูกค้า อย่างที่เรียกได้ว่า “ของดี ถูกความต้องการ ถูกที่ ถูกเวลา และดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามจรรยามารยาทของสังคม”

หากนับตามแบบคริสตศักราช ปี 2019 นับเป็นปีส่งท้ายทศวรรษเก่า โดยใน ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาถือเป็นทศวรรษที่น่าตื่นเต้นและเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง เป็นช่วงเวลาแห่งการเติบโตของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจและโลกการตลาดอย่างชัดเจน ดังนั้นหลาย ๆ สาขาอาชีพจึงถูก Disrupt อย่างมากมาย ทั้งในแง่การปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติแบบเดิม ๆ รวมไปถึงการทลายมุมมองความคิดและความเชื่อเก่าๆ  เพราะเมื่อโลกเปลี่ยน คนก็ต้องเปลี่ยนตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า หากสรุปโดยย่อนั้น ความเปลี่ยนแปลงสำคัญของทศวรรษที่ผ่านมามี 2 ด้าน กล่าวคือ (1) ในภาคการผลิตรวมถึงในมุมของธุรกิจ และ (2) ในมุมของผู้บริโภค โดยในภาคการผลิตรวมถึงในมุมของธุรกิจนั้นอาจกล่าวได้ว่า ยุคดิจิทัลเป็นยุคของความท้าทาย เป็นยุคที่ผู้ทำธุรกิจและนักการตลาดต้องเหนื่อยหนัก เพราะโลกปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา แต่ในอีกมุมหนึ่งถือเป็นยุคแห่งโอกาส เพราะเทคโนโลยีมีผลเชิงบวกมากมาย โดยเฉพาะด้านการผลิตและการทำธุรกิจ เพราะสามารถช่วยลดต้นทุนและช่วยด้าน Economy of Scale ผู้ประกอบการรายย่อยจึงไม่ต้องผลิตจำนวนมากมหาศาลอีกต่อไป ทั้งยังช่วยเชื่อมโลกเข้าด้วยกัน จึงเป็นโอกาสด้านการขายให้แบรนด์ที่เห็นโอกาส และยังช่วยเชื่อมแบรนด์ให้ใกล้ชิดกับผู้บริโภคอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นโอกาสทางธุรกิจและขุมทรัพย์ของนักการตลาดที่มีความเข้าใจและมีความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง

“ส่วนในมุมของผู้บริโภคนั้นจะเห็นได้ว่าการเดินทางทางความคิดของผู้บริโภคไม่ได้เป็นแนวตรงอีกต่อไป แต่พวกเขามีวิธีคิดที่แยบยล และมีทางเลือกที่ชัดเจน ดังนั้นการวิเคราะห์ผุ้บริโภคยุคดิจิทัลเราจึงต้องมองภาพรวมของชีวิตเขาเป็น Consumer Journey Ecosystem ที่แบรนด์ต้องเข้าใจทุก Stage ความต้องการ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น จึงกล่าวได้ว่ายุคนี้เป็นยุคที่ผู้บริโภคเป็นใหญ่อย่างแท้จริง แบรนด์ที่จะอยู่รอดคือ แบรนด์ที่มีความเข้าใจและใส่ใจที่จะปรับตัวให้ตอบความต้องการของพวกเขาอย่างแท้จริง”

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า ในทศวรรษหน้าที่จะมาถึง แม้การแข่งขันยังเข้มข้นและสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังคงไม่นิ่ง แต่ฟันเฟืองหลักของการเติบโตจะยังคงเป็นเรื่องของเทคโนโลยีและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติด้วยเทคโนโลยี หรือ “Digital Economy” นั้นจะเป็นวาระสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามโดยในโลกธุรกิจนักการตลาดจะสามารถขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจได้ ต่อเมื่อมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับเทรนด์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กำลังจะมาถึง โดยการย้อนกลับมาที่หัวใจ 5 ข้อซึ่งเป็น BASIC ของการตลาดยุค Digital Economy นั่นคือ B” Beyond Tool “A” Advocacy is the key “S” Strategic Shift “I” Integrated Platform “C” Customer Experience

Beyond Tools : แม้ในทศวรรษที่กำลังจะมาถึงนี้จะมี Tools และ Technologyใหม่ ๆ เกิดขึ้นมามายจากเทคโนโลยี 5G ที่กำลังจะมาถึงอย่างเต็มรูปแบบ แต่เราต้องไม่ลืมว่าตัวอุปกรณ์นั้นไม่มีความสำคัญเท่าผลลัพธ์จากการใช้งาน นักการตลาดจึงต้องมีกลยุทธ์และเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อจะหาอุปกรณ์ที่เหมาะสมมาใช้งานให้ตรงวัตถุประสงค์และเกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงสุด

Advocacy is the key : ในยุคที่ลูกค้าเป็นใหญ่และเทคโนโลยีก้าวไกล นี่คือโอกาสที่แบรนด์จะสร้างกลุ่มนักรบของตัวเองที่จะเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญที่สุดให้กับแบรนด์ แต่งการจะสร้างคนกลุ่มนี้ได้แบรนด์ต้องมีให้ทั้งคุณภาพและความจริงใจออย่างต่อเนื่อง ในยุคที่โลกใบเล็กลงและเสียงของผู้บริโภคเชื่อมต่อกันทั่วโลก การที่แบรนด์สามารถเปลี่ยนกลุ่มคนที่ซื้อและใช้ซ้ำให้กลายเป็นคนที่แนะนำแบรนด์ของเราให้แก่คนอื่น ๆ ได้นับเป็นความสำเร็จขั้นสูงสุดของโลกยุคนี้

Strategic Shift : นักการตลาดยุคใหม่ยังคงต้องมีการวางกลยุทธ์ แต่จะเป็นวางกลยุทธ์การตลาดที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เพราะรูปแบบของ 4P ได้เปลี่ยนไปแล้ว ในมุมของสินค้า เทคโนโลยีทำให้เกิดสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ที่เราเคยได้แต่จินตนาการถึง ทำให้รูปแบบการตั้งราคา หรือ Pricing เปลี่ยนไปจากที่เคยรู้จัก ยุคนี้เกิดเป็น Consumption หรือ Usage Based Pricingได้ เพราะความเที่ยงตรงของ Data–Place ที่เราเคยรู้จักก็เปลี่ยนไป จากห้างร้านกลายเป็น Market Place และ Omni-Channel  และ Promotion ก็กลายเป็นการสร้าง Value ให้แก่ลูกค้ามากกว่าการลดแลกแจกแถม เมื่อโลกเปลี่ยน การวางกลยุทธ์ก็ต้องเปลี่ยนไปเช่นกัน

Integrated Platform : นักการตลาดต้องไม่มองว่าดิจิทัลเป็นแค่สื่อ แต่ต้องมองว่าดิจิทัลคือชีวิตและความเปลี่ยนแปลงในโลกของผู้บริโภค และสิ่งนี้ส่งผลอย่างมากกับรูปแบบพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป นักการตลาดต้องและทำความเข้าใจกับ Customer Journey ให้ถ่องแท้และนำศาสตร์ของ Moment Design มาใช้ ทั้งในแง่มุมของการออกแบบการสื่อสาร หรือการออกแบบช่องทางการขาย ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ก็สอดคล้องกลมกลืนกันอย่างแยกไม่ได้ในยุคปัจจุบัน ต้องถูกออกแบบเพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการในทุก ๆ Moment ของกลุ่มเป้าหมายของเรา

Customer Experience : ยิ่งโลกแห่งเทคโนโลยีก้าวไกล ผู้บริโภคยิ่งคาดหวังว่าจะได้รับ ประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นจากแบรนด์ ซึ่งประสบการณ์นี้ไม่ได้แยกเป็นออนไลน์ หรือออฟไลน์ แต่เป็น All Experience ที่เขาจะได้รับทั้งหมด เป็นประสบการณ์ที่ถูกออกแบบมาโดยมีผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ซึ่ง CX นั้นครอบคลุมทุก ๆ Micro Moments ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ UX, ประสบการณ์กับสินค้าและบริการโดยตรง ,ประสบการณ์ผ่านช่องทาง หรือพนักงานขาย ประสบการณ์ที่ได้จากการสื่อสารต่าง ๆ ทั้งจากอีเวนต์ หรือคอนเทนต์ออนไลน์ ทุกสิ่งอยู่บนพื้นฐานเดียวกันทั้งสิ้นคือจะต้องเป็นประสบการณ์ที่เขาต้องการในช่องทางที่เขาต้องการ ณ เวลาที่เขาต้องการ (Right Thing / Right Timing / At The Right Place) เพราะไม่เช่นนั้นจาก The Right Brand ก็อาจจะกลายเป็น The Wrong Brand ก็เป็นได้

นายอรรถพล กล่าวในตอนท้ายว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปมากแค่ไหน หรือโลกธุรกิจจะมีการแข่งมากเพียงใด หากนักการตลาดเปิดใจที่จะเรียนรู้และพร้อมที่จะปรับ พร้อมเปิดรับให้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยเป็นฟันเฟืองสำคัญในการเร่งการเติบโต โดยไม่ทิ้งจรรยาบรรณของการทำธุรกิจอย่างถูกต้อง โปร่งใส และวางประโยชน์ของผู้บริโภคไว้สูงสุด หากทำได้เช่นนี้ธุรกิจของทุกท่านก็จะเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้