New Issues » [ชมคลิป] “ซีพีแรม” หนุนเกษตรกรใช้เทคโนโลยียกระดับคุณภาพผลผลิต

[ชมคลิป] “ซีพีแรม” หนุนเกษตรกรใช้เทคโนโลยียกระดับคุณภาพผลผลิต

4 ธันวาคม 2019
0

 

alivesonline.com : กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยก “ซีพีแรม” เปิด “อาคารถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตร” พร้อมจัดงาน “ทานตะวันสะพรั่งทั่วระแหง” สอดรับแนวคิด “รัฐมนตรีพุทธิพงษ์” ด้านส่งเสริมเกษตรกรได้รับทั้งองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรให้ดีขึ้นและเหมาะสมกับความต้องการของตลาด ช่วยยกระดับรายได้เกษตรกรให้สูงขึ้นและยั่งยืน

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิดงาน “ทานตะวันสะพรั่งทั่วระแหง” และพิธีเปิดอาคารถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตร โดยมี นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูง ให้การต้อนรับ ณ พื้นที่ 45 ไร่ บริษัท ซีพีแรม จำกัด สำนักงานใหญ่ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี

นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวของ บริษัท ซีพีแรม จำกัด ถือว่า สอดคล้องกับแนวคิดของ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งต้องการพัฒนาเรื่องเกษตรดิจิทัลให้ได้ผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะในประเด็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงการเพิ่มผลผลิต การลดต้นทุน การหาช่องทางจัดจำหน่าย ตลอดจนการพัฒนาแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือด้านการตลาดและการปรับปรุงผลผลิตให้เหมาะสมซึ่งถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น

“ในช่วงที่ผ่านมาเกษตรกรมักจะเพาะปลูกพืชผักตาม ๆ กัน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงพยายามนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเก็บและรวบรวมสถิติว่าช่วงเวลาใดที่ควรเพาะปลูกพืชพันธุ์ชนิดใดดีที่สุด เพื่อนำสถิติเหล่านั้นไปถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรสามารถ Transform ตัวเอง หรือเปลี่ยนแปลงการเพาะปลูกแบบเดิม ๆ แล้วขยับขยายปลูกพืชพันธุ์ชนิดอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้มีผลผลิตได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังมีนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในหลาย ๆ ด้าน เช่น การตรวจสอบสภาพอากาศ เพื่อทำให้สามารถคาดการณ์อนาคตได้ว่าควรจะหว่านข้าวเมื่อใดจึงจะเหมาะสมที่สุด หรือควรจะเก็บเกี่ยวเมื่อใดเพื่อให้ผลผลิตที่ดีที่สุดเพื่อจะได้นำไปขายในราคาที่เหมาะสมที่สุดในตลาด” นายเนวินธุ์ กล่าว

ด้าน นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด ผู้ผลิตอาหารพร้อมรับประทาน กล่าวว่า การจัดตั้งอาคารถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตร มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรซึ่งมีความสำคัญมากในห่วงโซ่อาหารได้รับทั้งองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรให้ดีขึ้นและเหมาะสมกับความต้องการของตลาดเพื่อให้ภาคเกษตรกรรมมีความยั่งยืนในอนาคต นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชุมชนนอกภาคเกษตรกรรมได้มาศึกษาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อหาช่องทางการสร้างรายได้เสริมและลดหนี้สินในครัวเรือน โดยนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพต่าง ๆ เช่น การทำขนม หรือการทำอาหาร เป็นต้น

ซีพีแรม มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์ต่อสังคมไทยด้วยหลักธรรมภิบาล เพื่อส่งมอบอาหารที่ดี มีคุณภาพสู่ผู้บริโภค โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหารตามแนวทาง 3s ขององค์กร คือ Food Safety หรือความปลอดภัยทางอาหาร, Food Security หรือความมั่นคงทางอาหาร และ Food Sustainability หรือความยั่งยืนทางอาหาร ทั้งยังส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน และความมั่นคงในอาชีพของเกษตรกร ด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง และยั่งยืน ผ่านโครงการ “เกษตรกรคู่ชีวิต” อย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี

บริษัทฯ ให้ความสำคัญในเรื่องการบูรณาการองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเกษตรกับการตลาดสู่วิถีเกษตรที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ตลอดจนมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยสู่วิถีเกษตรที่ยั่งยืน อาทิ ส่งเสริมการบันทึกข้อมูลออนไลน์เพื่อติดตามและควบคุมการเพาะปลูกให้เป็นตามมาตรฐานที่กำหนด การใช้เซ็นเซอร์ควบคุมการใช้น้ำอัตโนมัติ เป็นต้น เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค โดยช่วงต้นได้ส่งเสริมการปลูกกะเพรา และขยายผลสู่พืชผักอื่นอีกหลายชนิด รวมถึงข้าวหอมมะลิในเวลาต่อไป

“เรามองว่าอาหารจะมีคุณภาพที่ดีต้องมาจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพที่ดี เพราะฉะนั้นต่อให้เราพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารให้ดีอย่างไร แต่ถ้าขาดซึ่งการยกระดับ หรือพัฒนาวัตถุดิบซึ่งเป็นต้นน้ำ ผลิตภัณฑ์อาหารนั้นก็จะยังมีคุณภาพได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นบริษัทฯ จึงให้ความสำคัญในการเรื่องการวิจัยลึกลงไปถึงต้นน้ำ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กะเพรา ซึ่งพัฒนาให้มีรสชาติเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอม โดยต้องพัฒนาให้มีสายพันธุ์ที่สามารถเพาะปลูกได้ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ รวมถึงสร้างความสมดุลในตลาด ขณะเดียวกันในปัจจุบันเราได้ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ในการเพาะปลูก เช่น การวัดความชื้นของดิน การควบคุมการใช้น้ำ การคาดการณ์ระยะเวลาการเก็บเกี่ยว เป็นต้น เพราะเราแห็นว่ายุคนี้เป็นยุคของเทคโนโลยีซึ่งถ้าหากขาดการนำมาใช้ก็จะไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร” นายวิเศษ กล่าวในที่สุด

อนึ่ง งาน “ทานตะวันสะพรั่งทั่วระแหง” จัดขึ้นบนพื้นที่ 45 ไร่ บริษัท ซีพีแรม จำกัด สำนักงานใหญ่ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรให้แก่เกษตรกรในพื้นที่และสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่เพื่อเป็นแบบอย่างการเรียนรู้การพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรตามแนวทางนวัตวิถี