Variety » ชวนผู้สูงวัยป้องกัน “ภัยเงียบ” จากโรคกระดูกพรุน

ชวนผู้สูงวัยป้องกัน “ภัยเงียบ” จากโรคกระดูกพรุน

19 ธันวาคม 2019
0

ศ.ดร.นพ.ทวี ทรงพัฒนาศิลป์ (ซ้าย) ประธานมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทยฯ และ ศ.นพ.เกื้อเกียรติ ประดิษฐ์พรศิลป์ (ขวา) หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการดูแลผู้สูงอายุ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

alivesonline.com : มูลนิธิโรคกระดูกพรุนฯ จัดกิจกรรม “สูงวัยใส่ใจ ไม่ล้มไม่พรุน” มุ่งให้ความรู้ผู้สูงวัยระวังตัว “ไม่ให้หกล้ม” เพราะเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักและกระดูกพรุน จนอาจเสียชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง “สตรีวัยทอง”

ศ.ดร.นพ.ทวี ทรงพัฒนาศิลป์ ประธานมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เปิดเผยว่า มูลนิธิฯ ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการดูแลผู้สูงอายุ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และบริษัท แอมเจน (ประเทศไทย) จำกัด จัดเสวนา “สูงวัยใส่ใจ ไม่ล้ม ไม่พรุน” และ “กิจกรรมประเมินความเสี่ยงต่อการหกล้ม และโรคกระดูกพรุน” ณ อาคาร ส.ธ. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา

การจัดกิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้และความเข้าใจกับเกี่ยวกับการป้องกันการหกล้มและโรคกระดูกพรุนซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุและเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก เพื่อส่งเสริมความรู้เรื่องโรคกระดูกพรุนให้ผู้สูงอายุหันมาใส่ใจการป้องกันระมัดระวังและดูแลตนเองไม่ให้หกล้ม เนื่องจากการหกล้มในผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักและมักเกิดการล้มซ้ำ นำมาซึ่งความทุพพลภาพ การสูญเสียคุณภาพชีวิตและค่าใช้จ่ายอันมหาศาล หรืออาจทำให้เสียชีวิต โดยเฉพาะการหกล้มในผู้สูงอายุที่มีโรคกระดูกพรุนร่วมด้วยเป็นอันตรายอย่างมาก เพราะการหกล้มเพียงเบา ๆ สามารถทำให้กระดูกหักได้

“โรคกระดูกพรุนคือภาวะที่ความแข็งแกร่งของกระดูกลดลง ทำให้กระดูกมีความเปราะบาง และเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้ง่ายขึ้น โรคกระดูกพรุนจึงจัดเป็นภัยเงียบเนื่องจากไม่มีอาการ ผู้ป่วยหลายรายทราบเมื่อเกิดกระดูกหักขึ้นแล้วดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยง หรือผู้หญิงเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน หรือตรวจพบว่าเป็นโรคกระดูกพรุนควรปรึกษาแพทย์เพื่อการดูแลรักษาที่เหมาะสม” ศ.ดร.นพ.ทวี กล่าว

ด้าน รศ.นพ.อรรณพ ใจสำราญ รองประธานมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทยฯ กล่าวเสริมว่า โรคกระดูกพรุนพบได้บ่อยและเป็นภัยเงียบในสตรีวัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการขาดเอสโตรเจนของวัยหมดประจำเดือนทำให้มีการสลายมวลกระดูกมากขึ้น จนมีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนตามมา โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือ และกระดูกสะโพก ดังนั้นแม้สตรีวัยหมดประจำเดือนจะไม่มีอาการของวัยทองใด ๆ ก็ควรพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน เพราะโรคกระดูกพรุนสามารถป้องกันได้ นอกจากนี้ ถ้าตรวจพบโรคกระดูกพรุนตั้งแต่แรก ๆ และได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะป้องกันกระดูกหักจากกระดูกพรุนได้”

ศ.นพ.เกื้อเกียรติ ประดิษฐ์พรศิลป์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการดูแลผู้สูงอายุ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การหกล้มในผู้สูงอายุเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่ กระดูกหรือกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง มีปัญหาการทรงตัว ปัญหาสายตา การกินยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทำให้ง่วงซึม รวมทั้งสภาพแวดล้อมภายในบ้านที่ไม่เหมาะสมดังนั้นการประเมินความเสี่ยงต่อการหกล้มจะช่วยทำให้สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการหกล้มที่จะเกิดขึ้นได้

การดูแลสุขภาพและประเมินปัญหาด้านสุขภาพของผู้สูงอายุตั้งแต่เริ่มต้น จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตนเองให้ได้นานที่สุด  และสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี ชะลอความเสื่อม และลดภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อผู้อื่น ให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่าและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”