New Issues » ต่างชาติเชื่อมั่นไทย หนุนอุตสาหกรรมไมซ์ปี 61 สร้างรายได้กว่า 2 แสนล้านบาท

ต่างชาติเชื่อมั่นไทย หนุนอุตสาหกรรมไมซ์ปี 61 สร้างรายได้กว่า 2 แสนล้านบาท

13 พฤศจิกายน 2018
0

alivesonline.com : TCEB สรุปผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2561 มีจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์กว่า 34 ล้านราย สร้างรายได้รวม 2.1 แสนล้านบาท โดยเฉพาะจำนวนนักเดินทางต่างชาติเติบโตสูงขึ้นถึง 19.85% เร่งขานรับนโยบายรัฐขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต สนับสนุนการจัดงานไมซ์ใน 5 อุตสาหกรรม S-Curve เป็นสัดส่วนถึง 53.3% ของจำนวนทั้งหมด 406 งาน เผย 3 กลยุทธ์หลักปี 62 เดินหน้าสู่เป้าหมายเพิ่มนักเดินทางเป็น 35 ล้านราย สร้างรายได้รวม 2.2 แสนล้านบาท

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB เปิดเผย ว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมไมซ์ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 มีจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ รวม 34,267,307 ราย สร้างรายได้ให้ประเทศไทยรวม 212,924 ล้านบาท โดยมีนักเดินทางกลุ่มไมซ์จากต่างประเทศ รวม 1,255,985 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 19.85% ก่อให้เกิดรายได้จากการใช้จ่าย 95,623 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 8.10% มีระยะพำนักเฉลี่ย 5 วัน โดยมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริป 76,135 บาท

สำหรับนักเดินทางกลุ่มหลักที่เข้ามาในประเทศไทยคิดเป็นนักเดินทางธุรกิจชาวเอเชีย 85.77% ของจำนวนนักเดินทางทั้งหมด โดย 10 อันดับแรกของประเทศที่เดินทางเข้ามาคือ จีน 214,877 ราย อินเดีย 152,638 ราย มาเลเซีย 146,387 ราย สิงคโปร์ 84,211 ราย เกาหลีใต้ 71,141 ราย เวียดนาม 55,306 ราย สปป.ลาว 55,125 ราย ญี่ปุ่น 51,361 ราย อินโดนีเซีย 51,320 ราย และฟิลิปปินส์ 42,398 ราย

“ขณะเดียวกันยังมีจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์จาก 5 ประเทศที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจและมีอัตราการเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ได้แก่ แคนาดา เติบโต 309.97% กัมพูชา เติบโต 182.25% เมียนมาร์ เติบโต 137.32% เวียดนาม เติบโต 109.26% และนิวซีแลนด์ เติบโต 78.92%”

นายจิรุตถ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในประเทศมีจำนวน 33,011,322 ราย มีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริป 3,553 บาท ก่อให้เกิดรายได้ในระบบเศรษฐกิจ 117,301 ล้านบาท ซึ่งในแง่ของรายได้นั้นมีการเติบโต 28.89% เป็นผลมาจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยอันเกิดมาจากการขยายตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยวในระดับสูง โดยมีการคาดการณ์ว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP ในปี 2561 จะเติบโตจากปีที่ผ่านมา 20.5% ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมขยายตัว 4% ทำให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีความมั่นใจที่จะใช้จ่ายมากขึ้น รวมทั้งนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐในการออกมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวและอบรมสัมมนาใน 55 เมืองรองให้สามารถลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายจากการจัดประชุมสัมมนาได้ 100%

 

 

“การเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ไทยเป็นผลมาจากการสนับสนุนของรัฐบาลที่ต้องการให้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะประเทศไทยมีความพร้อมและมาตรฐานของสถานที่จัดงาน ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า ทั้งในกรุงเทพฯ และไมซ์ซิตี้อีก 4 แห่งคือเชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต และพัทยา รวมถึงความเป็นมืออาชีพของบุคลากรไมซ์ที่มีความสามารถและได้มาตรฐานมากขึ้น ทำให้นักเดินทางกลุ่มไมซ์จากต่างชาติให้ความมั่นใจประเทศไทยในการเป็นจุดหมายปลายทางของการจัดงาน ขณะเดียวกันภายในประเทศยังมีนโยบายส่งเสริมการประชุมในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อสร้างการกระจายรายได้และก่อให้เกิดความเข้มแข็งของภาคชุมชนด้วย” นายจิรุตถ์ กล่าว

 

 

ทั้งนี้ จากผลการวิจัยของ บริษัท ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน (ไทยแลนด์) จำกัด พบว่า ผลพลอยได้ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากอุตสาหกรรมไมซ์นอกจากการใช้จ่ายของผู้เข้าร่วมงาน ในปี 2561 ยังมีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการจัดกิจกรรมไมซ์ทั้งสิ้น (Total Expenditure) เป็นมูลค่าถึง 251,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 230,000 ล้านบาทในปี 2560 โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 316,000-405,000 ล้านบาทในปี 2565 โดยผลพลอยได้ทางเศรษฐกิจของกิจกรรมในอุตสาหกรรมไมซ์มีมูลค่า 177,200 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไทย (GDP Contribution) ก่อให้เกิดการจ้างงาน 181,000 ตำแหน่ง และสามารถจัดเก็บภาษีให้กับประเทศไทยได้กว่า 23,400 ล้านบาท

 

ผลงานเด่นปี 61 จัดงานไมซ์เกิน 400 งาน

สำหรับผลงานเด่นด้านการตลาดของ TCEB ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 คือ การสนับสนุนและยื่นประมูลสิทธิ์การจัดงาน (Bidding) ทั้งสิ้น 406 งาน แบ่งเป็น 1.สนับสนุนการประชุม (Meeting) และการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentive) จำนวน 231 งาน 2.สนับสนุนการจัดงานประชุมนานาชาติ (Convention) จำนวน 108 งาน 3.สนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้า (Exhibition) จำนวน 31 งาน แบ่งเป็น งานที่ยกระดับ (Upgrade Show) จำนวน 28 งาน และงานใหม่ (New Show) จำนวน 9 งาน 4.ยื่นประมูลสิทธิ์การจัดงาน จำนวน 30 งาน

นายจิรุตถ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลที่ส่งเสริมอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve ประกอบด้วย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตนั้น ทำให้ในปี 2561 TCEB ได้ประมูลสิทธิ์การจัดงาน ตลอดจนให้การสนับสนุนการจัดงานประชุมและงานแสดงสินค้านานาชาติที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมดังกล่าว เป็นจำนวน 217 งาน คิดเป็น 53.3% ของจำนวนงานทั้งหมด แบ่งเป็นคลัสเตอร์ไมซ์ตามอุตสาหกรรม 5 กลุ่มหลัก ได้แก่

1.กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Food Agriculture & Bio-Tech) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ จำนวน 18 งาน 2.กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health Wellness & Bio Med) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร จำนวน 58 งาน 3.กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ ระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (Smart Devices, Robotics Mechatronic) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ยานยนตร์สมัยใหม่ การบินและโลจิสติกส์ จำนวน 41 งาน 4.กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต เชื่อมต่ออุปกรณ์ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (Digital IOT & Convergence) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และดิจิตอล จำนวน 29 งาน 5.กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทุนวัฒนธรรมและบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative Culture & High Value Services) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมท่องเที่ยว จำนวน 71 งาน

ชู 3 กลยุทธ์หลักเดินหน้าสู่เป้าหมายรายได้ 2.2 แสนล้านบาท

นายจิรุตถ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไมซ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อและการเข้าถึงตลาด ASEAN และ CLMV ขณะเดียวกันยังมีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor :EEC) ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมไมซ์ระดับนานาชาติ TCEB จึงได้กำหนดกลยุทธ์ของการดำเนินงานในปี 2562 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญคือ มีนักเดินทางกลุ่มไมซ์ รวมทั้งสิ้นประมาณ 35,982,000 คน สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศได้ประมาณ 221,500 ล้านบาท แบ่งเป็นนักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างประเทศ ประมาณ 1,320,000 คน สร้างรายได้ให้ประเทศได้ 100,500 ล้านบาท ส่วนนักเดินทางชาวไทยที่เข้าร่วมงานไมซ์ในประเทศคาดว่าจะมีประมาณ 34,662,000 คน สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศ 121,000 ล้านบาท

กลยุทธ์การดำเนินงานดังกล่าว ประกอบด้วย 1.การสร้างรายได้และพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมุ่งสร้างรายได้จากกิจกรรมไมซ์เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีกลุ่มภูมิภาคเอเชียเป็นตลาดหลัก ส่วนตลาดรองคือ ยุโรป สหรัฐอเมริกา และโอเชียเนีย พร้อมทั้งให้การสนับสนุนและประมูลสิทธิ์การจัดงานซึ่งเน้นงานระดับชาติและภูมิภาค โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล (S-curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวง และอุตสาหกรรมดิจิทัล ตลอดจนจัดกิจกรรมโรดโชว์ Sale Mission การประชุมแบบ One on One กิจกรรม Familiarisation Trip กิจกรรมส่งเสริมการตลาด ยกระดับเมกะอีเว้นท์ ตลอดจนพัฒนาและสร้างแบรนด์ไมซ์ไทยเชิงคุณภาพสำหรับตลาดในและต่างประเทศ พร้อมทั้งบริหารสื่อดิจิทัลให้ช่วยส่งเสริมการขายและภาพลักษณ์ไมซ์ประเทศไทย

2.การพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรม โดยด้านมาตรฐานนั้น TCEB ตั้งเป้าสนับสนุนผู้ประกอบการให้ได้การรับรองมาตรฐาน ISO และมาตรฐานสถานที่การจัดงาน หรือ Thailand MICE Venue Standard (TMVS) อย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาบุคลากรด้วยการจัดอบรมหลักสูตรไมซ์นานาชาติและการจัดการไมซ์อย่างยั่งยืน พัฒนาการให้บริการด้านดิจิทัล พร้อมสนับสนุนให้เกิดการจัดงานที่มีการนำดิจิทัลเข้าไปใช้ ศึกษาการจัดตั้งศูนย์ให้บริการ One Stop Service ด้านไมซ์ และพัฒนาประสิทธิภาพต่าง ๆ ขององค์กรให้ทัดเทียมนานาชาติมากขึ้น

3.การกระจายรายได้และความเจริญ โดยจะทำการยกระดับการจัดงานในไมซ์ซิตี้ ส่งเสริมกิจกรรมการตลาดพร้อมโรดโชว์ในกลุ่มประเทศ CLMV/GMS และ SEZ ส่งเสริมการจัดงานไมซ์ในประเทศ สนับสนุนการประชุม และงานแสดงสินค้าในเมืองหลัก เมืองรอง พื้นที่ EEC และเมืองที่มีศักยภาพรองรับงานไมซ์ พร้อมจัดทำฐานข้อมูลอุตสาหกรรมไมซ์ 3 ภาคเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการศึกษาหรือเกิดประโยชน์กับผู้ที่สนใจ

“ด้านการทำงานของ TCEB ยังจะเน้นการสร้าง Co-Creation หรือบูรณาการความร่วมมือกับสมาคม หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรต่าง ๆ เป็นการปรับบทบาทจากการเป็นผู้สนับสนุนด้านการตลาดสู่การเป็นผู้อำนวยความสะดวก ผู้พัฒนา ผู้นำร่วมสร้างสรรค์ และพันธมิตรทางธุรกิจ ควบคู่กับการพัฒนามาตรฐาน นวัตกรรม และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งเชื่อว่านอกจากจะเป็นการรักษาพันธมิตรเดิมแล้วยังจะสร้างพันธมิตรใหม่เพิ่มขึ้น สอดรับกับการพัฒนาธุรกิจไมซ์ของประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ Thailand : Redefine Your Business Events” นายจิรุตถ์ กล่าวในตอนท้าย