New Issues » เร่งเพาะมะพร้าวพันธุ์ไทยพื้นเมืองแก้ภาวะขาดแคลน

เร่งเพาะมะพร้าวพันธุ์ไทยพื้นเมืองแก้ภาวะขาดแคลน

7 มกราคม 2020
0

alivesonline.com : กรมวิชาการเกษตร จัด “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวพันธุ์ดี” แจกจ่ายให้เกษตรกร จำนวน 1 หมื่นต้น คิดเป็นพื้นที่ 500 ไร่ใน 4 จังหวัด “สตูล สุราษฎร์ธานี นราธิวาส สมุทรสงคราม” แก้ปัญหาขาดแคลนผลผลิตจนต้องนำเข้าอย่างต่อเนื่อง เผยมะพร้าวพันธุ์พื้นเมืองเอื้อต่อการแปรรูปเพื่ออุตสาหกรรม เกษตรกรสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อพื้นที่ปลูกที่มีจำกัดและมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน 

นายสนอง จรินทร ผู้อำนวยการสถาบันพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากข้อมูลของ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประเมินความต้องการมะพร้าวผลทั้งการบริโภคในประเทศและส่งออกโดยรวมทั้งประเทศในปี 2562 ประมาณ 1.1 ล้านตัน ขณะที่ข้อมูลผลผลิตในประเทศมีเพียง 8.78 แสนตัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลให้ประเทศไทยต้องมีการนำเข้ามะพร้าวอย่างต่อเนื่อง

กรมวิชาการเกษตร จึงได้จัด “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวพันธุ์ดี” แจกจ่ายให้เกษตรกรเบื้องต้นจำนวน 1 หมื่นต้น คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ เพื่อส่งเสริมการปลูกเพิ่ม หรือปลูกทดแทนมะพร้าวพันธุ์ไทยพื้นเมือง ทดแทนมะพร้าวที่มีอายุมากและต้นสูงแก่เกษตรกรและหน่วยงานภาคเอกชนเพื่อนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย สตูล สุราษฎร์ธานี นราธิวาส และสมุทรสงคราม ตลอดจนแร่งวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์มะพร้าวคุณภาพ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้ประกอบการปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตมะพร้าวในประเทศในแหล่งผลิตที่สำคัญ

การจัดโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนผลผลิตมะพร้าวอย่างยั่งยืน เพราะหากไม่เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้บริโภคและอุตสาหกรรมมะพร้าวที่มีการส่งออกต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตและส่งออกกะทิสำเร็จรูปอันดับ 1 และมีคุณภาพดีที่สุดของโลก โดยมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 80 รองลงมาคือประเทศอินโดนีเชีย และประเทศศรีลังกา ตามลำดับ

นายสนอง กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ปริมาณผลผลิตมะพร้าวในประเทศลดลง เนื่องจากพื้นที่กว่าร้อยละ 50 มีสภาพเป็นสวนเก่า ต้นมีอายุมากและสถานการณ์แมลงศัตรูมะพร้าวระบาด เช่น แมลงดำหนาม หนอนหัวดำ เป็นต้น การขาดการบำรุงรักษา ทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่ต่ำจนส่งผลให้ผลผลิตมะพร้าวของประเทศลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง

โครงการดังกล่าวเป็นการผลิตมะพร้าวพันธุ์ไทยพื้นเมืองซึ่งถือว่าเป็นมะพร้าวพันธุ์ดี เพราะได้ผ่านการคัดเลือกตามหลักวิชาการและเกณฑ์การใช้เป็นต้นแม่พันธุ์ จึงเห็นว่าการสนับสนุนมะพร้าวพันธุ์ไทยให้กับภาครัฐและเอกชนจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการเสริมฐานการผลิตมะพร้าวเพื่ออุตสาหกรรมและสอดคล้องกับการผลิตมะพร้าวพันธุ์ไทยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์และแจกจ่ายหน่อพันธุ์ให้เกษตรกร พร้อมทั้งจัดส่งเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำในการปลูก ดูแลรักษา การจัดการโรคและแมลงในแปลงเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง

“มะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทย เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบอาหารเพื่อบริโภคหลากหลายชนิด โดยเฉพาะมะพร้าวพันธุ์พื้นเมืองเป็นที่ต้องการของเกษตรกรอย่างมาก เนื่องจากได้เนื้อมะพร้าวสดที่ขูดขายกะทิสด โดยมะพร้าวหนึ่งผลสามารถให้น้ำหนักเนื้อมะพร้าวแห้ง 250-300 กรัม รวมถึงเนื้อมะพร้าวขาวและมะพร้าวสด 500-600 กรัม ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างมาก ขณะเดียวกันมะพร้าวยังมีความสำคัญในภาคอุตสาหกรรมและนับวันมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ปัจจุบันผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการในอุตสาหกรรมในประเทศ” นายสนอง กล่าวในตอนท้าย

ด้าน นางวิไลวรรณ ทวิชศรี นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ หัวหน้าชุดโครงการวิจัยและพัฒนามะพร้าว สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา กรมวิชาการาเกษตร เร่งรัดการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งมะพร้าวพันธุ์พื้นเมืองและมะพร้าวพันธุ์ลูกผสมใหม่จากการผสมเพื่อคัดเลือกลักษณะดีเด่นที่มีศักยภาพทางการค้าและเหมาะสำหรับการแปรรูปเพื่ออุตสาหกรรม เกษตรกรสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อพื้นที่ปลูกที่มีจำกัดและมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวพันธุ์ดี เป็นการผลิตมะพร้าวพันธุ์ไทยพื้นเมือง อาทิ พันธุ์สวีลูกผสม 1, กะทิลูกผสม ชุมพร 84-1, และกะทิลูกผสม ชุมพร 84-2 เป็นต้น ซึ่งถือเป็นมะพร้าวพันธุ์ดี เพราะได้ผ่านการคัดเลือกตามหลักวิชาการและเกณฑ์การใช้เป็นต้นแม่พันธุ์ จึงเห็นว่าการสนับสนุนมะพร้าวพันธุ์ไทยให้กับภาครัฐและเอกชนจะเป็นอีกอีกแนวทางหนึ่งในการเสริมฐานการผลิตมะพร้าวเพื่ออุตสาหกรรมและสอดคล้องกับการผลิตมะพร้าวพันธุ์ไทยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ โดยที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตร ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ จังหวัดนราธิวาส และ บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด ในการสนับสนับต้นพันธุ์เพื่อให้เอกชนนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อป้อนอุตสาหกรรมมะพร้าวโดยผลผลิตส่วนหนึ่ง กรมวิชาการเกษตร ได้นำไปแจกจ่ายให้เกษตรกรโดยตรงในแหล่งผลิตที่สำคัญ

สำหรับต้นกล้าที่ได้จากต้นแม่พันธุ์มะพร้าวพันธุ์ไทยที่ ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ได้ปลูกรวบรวมและคัดเลือกไว้ตามเกณฑ์คัดเลือกพันธุ์ปัจจุบันมีประมาณ 5 พันต้น จากนั้นคัดผลพันธุ์ตามมาตรฐานการปรับปรุงพันธุ์ โดยข้อดีของการปลูกมะพร้าวพันธุ์ไทยคือ ปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมได้ดี สามารถเปลี่ยนไปเป็นแปลงมะพร้าวอินทรีย์ได้ไม่ยาก มีอายุการเก็บเกี่ยวยาวนานตั้งแต่ปีที่ 6 หลังปลูกจนถึง 60 ปี นอกจากนี้ ต้นมะพร้าวแก่ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไปยังเป็นไม้เนื้อแข็งสามารถนำไปใช้ผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์สวยงามได้อีกด้วย