alivesonline.com : สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ 79,598 แห่งทั่วประเทศ เฮรับมติ ครม. เห็นชอบ “โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” และ “โครงการพักชำระหนี้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนชนเมืองตามความสมัครใจ” ในกรอบวงเงิน 14,491.4 ล้านบาท ฟาก สทบ. เตรียมเร่งอนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินการได้ภายในเดือน ม.ค.63 ย้ำกองทุนหมู่บ้านฯ เป็นพลังขับเคลื่อนประเทศสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ มั่นใจโครงการพักชำระหนี้ไม่กระทบสภาพคล่องกองทุนฯ เหตุพักชำระหนี้เฉพาะเงินต้น แต่สมาชิกยังต้องจ่ายดอกเบี้ยตามปรกติ
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก คณะรัฐมนตรี จึงมีมติเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 เห็นชอบและรับทราบตามที่ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เสนอ ใน 2 เรื่องสำคัญคือ โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และโครงการพักชำระหนี้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนชนเมืองตามความสมัครใจ ภายในกรอบวงเงิน 14,491.4 ล้านบาท โดยในส่วนของ โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้ สทบ. พิจารณาใช้จ่ายงบประมาณของ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) กองทุนละ 2 แสนบาท โดยพิจารณาจากโครงการที่ได้เคยมีมติอนุมัติไว้ซึ่งได้ดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว และ/หรือโครงการที่มีผลการปฏิบัติงานล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในช่วงปี 2559-2561
ส่วน โครงการพักชำระหนี้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนชนเมืองตามความสมัครใจ ถือเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องและปัญหาหนี้นอกระบบให้สมาชิก กทบ. โดยกำหนดกฎเกณฑ์ผู้มีสิทธิ์ได้รับการพักชำระหนี้คือ 1.เป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน หรือกองทุนชุมชนเมือง 2.เป็นผู้มีประวัติการชำระหนี้ดี มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการเพื่อลดภาระชำระเงินต้น โดยยังคงชำระดอกเบี้ยตามปรกติ เพื่อนำเงินดอกเบี้ยไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสวัสดิการ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของชุมชน 3.หากสมาชิกรายใดมีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดโดยสุจริตอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย ให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน หรือกองทุนชุมชนเมือง เป็นผู้ตัดสินใจอนุมัติว่าจะสมาชิกได้รับสิทธิ์หรือไม่ 4.ผู้เข้าร่วมโครงการต้องมีการจัดทำแผนออมเงิน แผนการฟื้นฟูศักยภาพการประกอบอาชีพเดิม หรือเสริม รวมถึงแผนการทำธุรกิจต่าง ๆ เช่น การประกอบอาชีพ การเปลี่ยนรูปแบบการผลิต เพื่อเป็นการส่งเสริมเรื่องการออมเงินและสร้างรายได้ในอนาคตให้แก่สมาชิก
นายกอบศักดิ์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลต้องการให้ประชาชนมีความเข้มแข็ง สามารถยืนหยัดด้วยตัวเองได้ และขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากหลาย ๆ ชุมชน เช่น ชุมชนดงขี้เหล็ก จ.ปราจีนบุรี ซึ่งชาวบ้านมีการติดป้ายเป็นชุมชนจัดการตนเอง หรือชุมชนวังไทร อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช สามารถดำเนินงานโรงงานแปรรูปยางพารา ร้านค้าชุมชน สวัสดิการชุมชน แม้แต่ฟิตเนสชุมชน เป็นต้น
“การอนุมัติเงินไปยังกองทุนหมู่บ้านละ 2 แสนบาทหลังจาก ครม.มีมติเห็นชอบแล้ว กองทุนหมู่บ้าน จะพิจารณาการนำเงินไปสร้างความเข้มแข็งในรูปแบบต่าง ๆ ต่อไป โดยให้ชุมชนคิดและตัดสินใจเองว่าจะดำเนินงานในโครงการใดเพื่อประโยชน์สูงสุดของชุมชนและส่งสภาพคล่องไปยังชุมชนนั้น ๆ เพื่อให้ชุมชนมีการสร้างงาน พัฒนาพื้นที่ และเพิ่มความเข้มแข็งให้ชุมชนในลักษณะต่าง ๆ เช่น ร้านค้าชุมชน ท่องเที่ยวชุมชน โรงเพาะชำกล้าไม้ชุมชน และอื่น ๆ โดยมีความหวังว่าการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยที่สำคัญในขั้นต่อไปคือการพลิกผืนไทยโดยอาศัยชุมชนและกองทุนหมู่บ้านที่มียาวนาน 19 ปีเป็นผู้ขับเคลื่อน”
ด้าน นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันทั่วประเทศมี กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) 79,598 แห่งในทุกชุมชน มีสมาชิกรวมกว่า 13 ล้านคน แบ่งเป็นเครือข่ายภาค 4 ภูมิภาค เครือข่ายจังหวัด 76 จังหวัด (รวมกรุงเทพฯ) เครือข่ายอำเภอ 928 อำเภอ เครือข่ายตำบล 7,410 ตำบล โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาสามารถสร้างผลตอบแทนเพิ่มมากกว่า 2 แสนโครงการ ภายใต้วงเงิน 8 พันล้านบาท สร้างเงินหมุนเวียนในชุมชน 4 หมื่นล้านบาท สร้างการจ้างงานเพิ่ม 1.6 ล้านคน
สำหรับ โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามที่ คณะรัฐมนตรี เห็นชอบนั้น หลังจากที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ลงนามภายในสัปดาห์นี้เพื่อประกาศรายละเอียดในราชกิจจานุเบกษา จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการรองรับการพิจารณาโครงการ พร้อมกับการร่วมมือกับสถาบันราชภัฏ และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศในการออกแบบโครงการส่งเสริมตามความเหมาะสมในแต่ละหมู่บ้าน หลังจากนั้นจึงจะเริ่มมีการอนุมัติงบประมาณเพื่อให้ชุมชนนำเงินไปใช้ประโยชน์ในโครงการต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในชุมชนซึ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายของรัฐบาล โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนมกราคม ศกนี้
ส่วน โครงการพักชำระหนี้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนชนเมืองตามความสมัครใจ นั้น ปัจจุบัน กทบ. มีเงินหมุนเวียนประมาณ 1.7 แสนล้านบาท คาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิ์พักชำระหนี้ประมาณร้อยละ 50 หรือกระทบต่อเงินหมุนเวียนประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่ส่งผลต่อสภาพคล่องของ กทบ. แต่อย่างใด เพราะระเบียบกำหนดให้พักชำระหนี้ที่เป็นเงินต้นในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี แต่ให้ส่งเฉพาะดอกเบี้ย เพื่อให้กองทุนฯ สามารถนำรายได้จากดอกเบี้ยมาใช้บริหารจัดการกองทุน รวมถึงจัดสวัสดิการต่าง ๆ ให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน หรือกองทุนชุมชนเมือง รวมถึงประชาชนในหมู่บ้านและชุมชน ในขณะที่สมาชิกที่มีประวัติชำระหนี้ดีตรงตามเวลาอาจได้รับมาตรการส่งเสริมด้านการลดภาษี และอื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างกำลังใจต่อไป
“สิ่งที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯ กังวลคือ เมื่อพักชำระหนี้แล้วจะทำอย่างไรให้สมาชิกเกิดสภาพคล่องและพ้นภาระหนี้ได้ จึงอยากให้สมาชิกคำนึงถึงโครงการใหม่ที่จะที่เกิดขึ้นขอให้เชื่อมโยงกับโครงการเก่าที่ได้ดำเนินการไว้ หรือถ้าเป็นโครงการใหม่ ต้องสามารถดำเนินการไปได้ด้วยดีและสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันได้ เช่น สนับสนุนการปลูกต้นไม้ในโครงการกองทุนต้นไม้ร่วมพัฒนา ด้วยการทำโรงเพาะชำกล้าไม้ สมาชิกที่มีปัญหาหนี้สินที่เข้าร่วมโครงการก็จะมีกระบวนการออมเงินผ่านต้นไม้ได้อย่างเห็นผลในอนาคต เป็นต้น” นายนที กล่าวในที่สุด