New Issues » [ชมคลิป] “อาร์เอส” โชว์กลยุทธ์ Entertainmerce รับปี 2020

[ชมคลิป] “อาร์เอส” โชว์กลยุทธ์ Entertainmerce รับปี 2020

14 มกราคม 2020
0

alivesonline.com : “อาร์เอส” เดินหน้าเต็มตัว ซุ่มปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ในรอบ 37 ปี พร้อมลงทุนด้านเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ ก้าวสู่ S-Curve ในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ มุ่งรายได้ 3.2 พันล้านบาท พร้อมรายได้รวม 5.25 พันล้านบาทในปี 63 ก่อนทะยานสู่เป้า 1 หมื่นล้านบาทในปี 65 ด้วยสัดส่วนอี-คอมเมิร์ซ 80% สื่อและบันเทิง 20% จากปัจจุบันอยู่ที่ 60:40

นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2563 ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดของบริษัทฯ สำหรับการดำเนินธุรกิจในรอบ 37 ปี เพื่อก้าวสู่อุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-Curve ในส่วนของธุรกิจพาณิชย์ซึ่งบริษัทฯ ได้เริ่มดำเนินธุรกิจมาเป็นเวลา 5 ปี โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ได้มีการปรับโครงสร้างทีมงานและผู้บริหาร พร้อมลงทุนในเครื่องมือ เทคโนโลยี และซอฟต์แวร์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอย่างเต็มที่

ในปี 2563 บริษัทฯ จะเน้นกลยุทธ์ หลัก 4 ด้านคือ 1.Entertainmerce เป็นการขับเคลื่อนและต่อยอดโมเดลธุรกิจพาณิชย์ในการจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ RS Mall สินค้าในกลุ่มแฟชั่น-เครื่องประดับ กลุ่มความสวย-ความงาม กลุ่มอาหาร-อาหารเสริม, กลุ่มของใช้ในบ้าน และกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 2.Data Driven Company เป็นการนำข้อมูลต่าง ๆ ของผู้บริโภคและลูกค้า หรือ “บิ๊ก ดาต้า” ที่เก็บสะสมมาตลอดระยะเวลา 5 ปีมาใช้เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภคให้มากที่สุด

3.Strategic Partnership เป็นการเพิ่มพันธมิตรเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้มากขึ้นจากปัจจุบันที่มีพันธมิตรแล้วหลายราย เช่น ไทยรัฐทีวี, เวิร์คพอยท์ทีวี, อมรินทร์ทีวี เป็นต้น 4.M&A (Mergers and Acquisitions) เป็นการควบรวมกิจการซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างธุรกิจแห่งอนาคต หรือ Ecosystem ในเวลาอันรวดเร็ว เพื่อให้องค์กรมีขนาดใหญ่ มีมูลค่าทางธุรกิจ มีศักยภาพในการแข่งขัน และมีความยั่งยืนมั่นคงระยะยาว

“จากกลยุทธ์ข้างต้นมีเป้าหมายสำคัญคือทำให้บริษัทฯ มีรายได้ 1 หมื่นล้านบาทในปี 2565 โดยคาดว่าในปี 2563 จะมีรายได้รวม 5.25 พันล้านบาท เติบโตขึ้นประมาณ 30% แบ่งเป็นธุรกิจพาณิชย์ 3.2 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 60% ส่วนธุรกิจสื่อและบันเทิง คาดว่าจะได้รายได้ประมาณ 2.05 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 40% แบ่งเป็นโทรทัศน์ ช่อง 8 ดิจิทัล 1.25 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 25% ธุรกิจดนตรีและอื่น ๆ 500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10% และวิทยุ คูล ฟาเรนไฮต์ 300 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5% โดยคาดว่าเมื่อบริษัทฯ มีรายได้รวม 1 หมื่นล้านบาท สัดส่วนรายได้ของธุรกิจพาณิชย์จะเพิ่มเป็น 80% ส่วนธุรกิจสื่อและบันเทิง จะมีประมาณ 20%” นายสุรชัย กล่าวในตอนท้าย

(จากซ้ายไปขวา) ดร.ชาคริต พิชญางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด, นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) และนางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ กลุ่มธุรกิจสินค้าและแพลตฟอร์ม บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)

ด้าน นางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ กลุ่มธุรกิจสินค้าและแพลตฟอร์ม บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของธุรกิจ Entertainmerce มาจากคำว่า Entertainment กับคำว่า Commerce ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ โดยนักจิตวิทยาได้มีการระบุว่าประสบการณ์ของการชอปปิงมาจาก 3 คำคือ Fun สนุก Exploration การค้นหา และ Entertainment ความบันเทิง ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซทั่วโลกมีการเติบโตสูงเฉลี่ย 1.7% ในขณะที่ประเทศจีนกลับมีการเติบโตสูงกว่าถึง 10 เท่า เพราะจีนมีเรื่องราวที่ทำให้ลูกค้าและผู้บริโภคมีประสบการณ์ด้าน Entertainment ในการชอปปิงได้มากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ นั่นเอง

ในขณะที่บริษัทฯ ถือได้ว่ามีสินทรัพย์ (Assets) ด้าน Entertainment ที่พร้อมมากกว่าผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซรายอื่น โดยเฉพาะใน 4 ส่วนสำคัญคือ 1.TV Audiences ผู้ชมโทรทัศน์ทั้งในช่องหลักของบริษัทฯ คือช่อง 8 และช่องพันธมิตรคือ ไทยรัฐทีวี, เวิร์คพอยท์ทีวี, อมรินทร์ทีวี รวมแล้วประมาณ 2.63 ล้านคนต่อวัน 2.Listeners ผู้ฟังวิทยุ “คูล ฟาเรนไฮต์ 1.62 แสนคนต่อวัน ครั้งละ 3.4 ชั่วโมง 3.Digital Consumes ในส่วนของโซเชียลมีเดียต่าง ๆ พบว่าบริษัทฯ มียอดผู้ติดตามรวมมากกว่า 100 ล้านคน แบ่งเป็น Subscribe ผ่านยูทูป 57 ล้านคน ไอจี มีผู้ติดตาม 12 ล้านคน และเฟซซุ๊ก มีผู้ติดตาม 38 ล้านคน 4.On Ground Audiences การจัดอีเวนต์ต่างของบริษัทฯ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 1.2 แสนคน ขณะที่การจัดคอนเสิร์ตมีผู้เข้าร่วม 1 แสนคน

“จากข้อได้เปรียบดังกล่าว บริษัทฯ จึงกำหนดเป็นกลยุทธ์หลักด้านอี-คอมเมิร์ซบนแพลตฟอร์ม RS Mall ในปี 2563 คือ Technology, Product, Content และ Marketing โดยมีเป้าหมายมีลูกค้า 1.6 ล้านคน เติบโตขึ้น 20% เพิ่มความถี่ในการซื้อซ้ำเป็น 2.5 ครั้ง จากเดิมคือ 1.7 ครั้ง หรือเติบโตขึ้น 38% โดยมียอดการซื้อต่อครั้งประมาณ 2.5 พันบาท เติบโตขึ้น 4%” นางพรพรรณ กล่าวในตอนท้าย

ดร.ชาคริต พิชญางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด บริษัทในเครืออาร์เอส กล่าวเสริมว่า กลยุทธ์ทางด้านเทคโนโลยี (Technology) จะมีการนำเครื่องมือในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลลูกค้าให้อยู่บนศูนย์กลางเดียวกัน (Customer Data Platform) เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า พร้อมกันนี้ยังมีการนำ Customer Engagement Analytics มาใช้เพื่อนำเสนอทางเลือกให้ลูกค้าได้ตรงใจที่สุดไม่ว่าจะเป็นวิธีการให้บริการ ช่องทางการให้บริการ วิธีการชำระเงิน ประเภทของสินค้าและโปรโมชัน นอกจากนั้นยังจะรับฟังความคิดเห็นของลูกค้าผ่านทุกช่องทางที่เป็น Earned Media ผ่านเครื่องมือ Social Listening Tool เพื่อนำมาปรับปรุงการให้บริการ รวมถึงเป็นเครื่องมือในการวัดสุขภาพของแบรนด์ในช่วงปีแรกของการดำเนินการด้วย โดยจะมีการนำข้อมูลจากหลาย  ๆ ส่วนมาประมวลผลด้วยคณิตศาสตร์หรือสถิติ (Data Analytics) เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อการตัดสินใจในเชิงธุรกิจบางอย่างเพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานการตลาด การปรับปรุงการให้บริการลูกค้า รวมถึงการนำเสนอสินค้าใหม่ หรือแม้แต่การวิเคราะห์ผลของแต่ละแคมเปญที่ทำออกไปว่าได้ผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้หรือไม่ หรือควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร

สำหรับ กลยุทธ์ทางด้านสินค้า (Product) จะประกอบไปด้วยการเพิ่มความหลากหลายของประเภทสินค้า(Category) ใน 4 หมวดคือ เครื่องประดับ (Personal Accessories) เสื้อผ้า-รองเท้า (Appare & Footwear) ท่องเที่ยวและบริการ (Travel & Services) และอิเล็กทรอนิกส์ (Consumer Electronics) โดยมีเป้าหมายเพิ่มสินค้าใหม่เดือนละ 30 รายการ นอกจากนั้นยังจะมีการนำเสนอสินค้าสำหรับเทศกาลต่าง ๆ (Seasonal Products, Festival Products) เข้ามาสร้างสีสันในโอกาสพิเศษ หลังทดลองทำตาดพบว่าทำยอดขายได้เพิ่มถึง 250% ขณะเดียวกันยังจะมีการทำสินค้าเฉพาะสำหรับ RS Mall หรือเปิดตัวเฉพาะ RS Mall เท่านั้น (First & Only RS Mall) รวมถึงการทำ Brand Collaboration

ในส่วนของ กลยุทธ์ทางด้านการนำเสนอ (Content) จะมีการสร้างรูปแบบการนำเสนอประเภทไลฟ์สด การสาธิตการใช้จริง รวมถึงการนำผู้มีประสบการณ์ในการใช้งานจริงมาร่วมให้ความคิดเห็นและแบ่งปันประสบการณ์ (Storytelling Commerce) ขณะที่ กลยุทธ์การตลาด (Marketing) จะมีการจัดแคมเปญต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี