alivesonline.com : รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ย้ำ รัฐบาลไทย “เอาอยู่” หลังจัดประชุมชี้แจงแนวทางการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรคปอดอักเสบจาก “ไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่” พร้อมเปิดโครงการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง กรมควบคุมโรค กรมการขนส่งทางบก และกรมการท่องเที่ยว “ตรวจสุขภาพผู้ขับขี่แท็กซี่” มุ่งสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารแท็กซี่ “ปลอดเชื้อโคโรนา”
เมื่อวันที่ 27 ม.ค.63 ณ โรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ แอร์พอร์ต จังหวัดสมุทรปราการ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมชี้แจงแนวทางการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ในเมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อตรวจสุขภาพผู้ขับขี่แท็กซี่ระหว่าง นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และ นายทวีศักดิ์ วาณิชย์เจริญ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว
พิธีลงนามดังกล่าวเป็นไปภายใต้แนวคิด “ตรวจสุขภาพแท็กซี่ ท่องเที่ยวมั่นใจ ปลอดภัย ปลอดโรค” ในการตรวจสุขภาพผู้ขับขี่รถแท็กซี่ เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันโรค และภัยสุขภาพ รวมถึงอุบัติเหตุบนท้องถนน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุข สร้างความปลอดภัย ความมั่นใจให้ผู้ขับขี่ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพบริการขนส่งสาธารณะ เพื่อให้ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ได้ทราบสถานะสุขภาพของตนเองและมีความรู้ในการดูแลสุขภาพ ทั้งโรคความดันโลหิตสูง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพื่อใช้ป้องกันตนเองจากโรคติดต่อสำคัญ รวมถึงได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวภายหลังพิธีดังกล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เชิญผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว โรงแรม ขนส่ง มัคคุเทศก์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยว มารับฟังถึงสถานการณ์และวิธีการป้องกัน ควบคุม และป้องกัน เพื่อให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลไทยสามารถควบคุม ป้องกัน และรับมือสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างแน่นอน โดย กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ร่วมกับ กรมควบคุมโรค และกรมการขนส่งทางบก เปิดโครงการบูรณาการความร่วมมือในการป้องกันควบคุมโรคกลุ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่ เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันโรคและภัยสุขภาพ และอุบัติเหตุบนท้องถนน สร้างความปลอดภัยและความมั่นใจให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารแท็กซี่ พร้อมทั้งตรวจสุขภาพและฉีดยาให้ผู้ขับรถแท็กซี่ เพราะกลุ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่นับว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่และรับโรคติดต่อทางเดินหายใจได้ง่าย โดยขอความร่วมมือผู้ขับรถแท็กซี่ช่วยสังเกตอาการของผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน หากพบว่านักท่องเที่ยวมีอาการให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือเจ้าหน้าที่ศูนย์ TAC หรือโทรแจ้งที่สายด่วนตำรวจท่องเที่ยว 1155 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
“ขอเน้นย้ำให้พี่น้องประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนกต่อสถานการณ์ไวรัสโคโรนา เพราะมั่นใจว่ารัฐบาลสามารถรับมือได้อย่างแน่นอน เพราะทุกหน่วยงานไม่เพียงแต่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงคมนาคม เท่านั้น แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่” นายพิพัฒน์ กล่าวในตอนท้าย
ด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะมากกว่า 3.5 แสนราย โดยพบว่าร้อยละ 34 เป็นผู้ขับขี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่ผลการตรวจคัดกรองภาวะสุขภาพของกลุ่มผู้ขับรถโดยสารสาธารณะของกรุงเทพมหานคร ในปี 2559 พบผู้ป่วยวัณโรค ร้อยละ 2 และเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ในปี 2563 กรมควบคุมโรค จึงจะให้บริการตรวจสุขภาพแก่ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวนกว่า 3 พันคน ประกอบด้วย การตรวจสุขภาพเบื้องต้น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เอ็กซเรย์ปอด และทดสอบการมองเห็นระยะไกล เป็นต้น หากพบผู้ขับขี่รถแท็กซี่รายใดเจ็บป่วยจะได้ส่งดูแลรักษาต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้ดูแลสุขภาพและทราบสถานะสุขภาพของตน
สำหรับการตรวจสุขภาพผู้ขับขี่ในครั้งนี้ มีทั้งบริการเชิงรับที่สถาบันของ กรมควบคุมโรค ได้แก่ สถาบันบำราศนราดูร, สถาบันราชประชาสมาสัย และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง นอกจากนี้ ยังมีบริการเชิงรุกตรวจสุขภาพเคลื่อนที่แก่ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิและดอนเมือง, TOT Academy โดย บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด และสำนักงานขนส่งทางบก กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5 ซึ่งนอกจากผู้ขับขี่จะได้รับการประเมินสุขภาพและสร้างภูมิคุ้มกันให้มีสุขภาพที่ดีแล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสารว่าจะไม่ได้รับเชื้อโรคจากการใช้บริการรถสาธารณะ ทำให้เกิดความมั่นใจทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวด้วยว่า ในเรื่องของการใช้หน้ากากอนามัยที่พบว่าปัจจุบันสินค้าขาดตลาดและมีความต้องการเป็นจำนวนมากนั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการนำเข้า เนื่องจากหน้ากากบางชนิดเป็นวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำลังดำเนินการและจะเอื้อต่อการนำเข้าให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย นอกจากนี้ กองสาธารณสุขฉุกเฉิน ได้ลงพื้นที่สำรวจหน้ากากอนามัยชนิดต่าง ๆ ในสถานพยาบาลและโรงพยาบาล เพื่อให้มีความเพียงพอต่อการใช้งาน อย่างไรก็ตาม ต้องขอวิงวอนประชาชนอย่าตื่นตกใจ หากประเมินความเสี่ยงตนเองไม่ได้สัมผัสกับโรคโดยตรง การใช้หน้ากากอนามัยธรรมดาก็ป้องกันได้ โดย กรมควบคุมโรค ได้ประชาสัมพันธ์ไว้ในช่องทางต่าง ๆ ซึ่งสามารถเข้าไปศึกษาวิธีการทำได้