Variety » ส่องงานดีไซน์แห่งอนาคต “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563”

ส่องงานดีไซน์แห่งอนาคต “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563”

25 มกราคม 2020
0

alivesonline.com : กลับมาอีกครั้งกับ “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563” หรือ “Bangkok Design Week 2020” (BKKDW 2020) ในพื้นที่ 4 ย่านสร้างสรรค์ “เจริญกรุง-ตลาดน้อย / สามย่าน / อารีย์-ประดิพัทธ์ / ทองหล่อ-เอกมัย” ตอกย้ำที่กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบของ “ยูเนสโก” ระหว่างวันที่ 1-9 กุมภาพันธ์ 2563

“เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563” จัดโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับผู้ร่วมจัดงานทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศกว่า 60 หน่วยงาน นักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์กว่า 2 พันราย ภายใต้แนวคิด “Resilience : New potential for living ปรับตัว > อยู่รอด > เติบโต” ระเบิดไอเดียสุดสร้างสรรค์สะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบันและส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของสังคมที่มีความแตกต่าง สร้างความปลอดภัยและสร้างสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การร่วมมือกัน จนกลายเป็นเมืองที่มีความสามารถในการอยู่รอดและเติบโตได้ในทุกสถานการณ์ ผ่านนิทรรศการสุดสร้างสรรค์ทั้งงานศิลปะ งานเสวนา แนวความคิดในการพัฒนาพื้นที่เมือง รวมไปถึงงานตลาดนัดครีเอทีฟที่น่าสนใจ

 หลุมหลบภัยทางอากาศ : Bangkok #Safezone Shelter

ในสถานการณ์ที่ผู้คนต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่าง PM 2.5 ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตนั้น CEA ได้ร่วมกับ Shma และ UNESCO: Bangkok City of Design สร้างพื้นที่ทดลองให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยพิบัติทางอากาศที่ถูกออกแบบมาให้เป็นเซฟโซนสำหรับทุกคน โดยใช้ธรรมชาติเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นพืชสีเขียว ลม และน้ำ ร่วมกับเทคโนโลยีการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อต้อนรับให้ทุกคนเข้ามานั่งพักสูดอากาศให้เต็มปอดก่อนออกไปสู้กับสงครามทาง(คุณภาพ) อากาศในเมืองด้านนอก โดยจัดแสดง ณ บริเวณลานจตุรัสไปรษณีย์ บางรัก

 Everlasting Forest by GC

ในบริเวณใกล้กันจะได้พบกับนิทรรศการที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันระหว่างสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและธรรมชาติที่อยู่รอบตัว นำเสนอโดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด ด้วยการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับการคัดเลือกวัสดุที่มีกระบวนการผลิตและติดตั้งที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยใช้วัสดุที่นำมาใช้ซ้ำได้เพื่อลดปริมาณขยะ หรือวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้เองในธรรมชาติ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากนักสร้างสรรค์ผู้ผลิตและผู้บริโภคเพื่อให้การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติอย่างสมดุลนั้นเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

Made in Charoenkrung (เมด-อิน-เจริญกรุง)

ในย่านที่เต็มไปด้วยธุรกิจเก่าแก่และช่างฝีมือดั้งเดิม บางรายมีอายุกว่า 100 ปี บางรายเหลือเพียงหนึ่งเดียวในกรุงเทพฯ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว หากปรับตัวไม่ทันธุรกิจเหล่านี้คงหายไปตามกาลเวลาอย่างน่าเสียดาย จึงเกิดเป็นโปรเจกต์ที่ต่อยอดสินทรัพย์อันมีคุณค่าของย่านเจริญกรุง เพิ่มศักยภาพทางธุรกิจของ 11 ธุรกิจดั้งเดิมในย่านที่ได้ 10 นักออกแบบและนักสร้างสรรค์ ใช้ไอเดียในการต่อยอดและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้เติบโตและปรับให้เข้ากับบริบทของโลกยุคใหม่ อาทิ “เฮงเส็ง” บ้านเย็บหมอนไหว้เจ้าอายุ 80 ปี เจ้าสุดท้ายในชุมชนตลาดน้อย, “บ้านทำตราตั้งองค์ครุฑ” รายแรกเจ้าเดียวในย่านเจริญกรุง, “เอี๊ยะแซ” ร้านยาดมสมุนไพรจีนอายุกว่า 100 ปี และ “นิวเฮงกี่” ร้านอาหารจีนโบราณเก่าแก่ 60 ปี เป็นต้น

Portrait of Charoenkrung

หลายปีที่ผ่านมา “เจริญกรุง” เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ตึกเก่าและธุรกิจเก่าแก่เริ่มหายไป จนวันนี้หลายคนบอกว่า เจริญกรุงที่เคยรู้จักจากไปแบบไม่มีวันหวนกลับ กลับกลายเป็นย่านฮิปที่ใคร ๆ อยากมาถ่ายภาพ แต่จะทำอย่างไรให้ภาพที่ถ่ายไปนั้นทำหน้าที่ได้มากกว่าภาพที่ดูสวยและสามารถเล่าเรื่องราวของเจริญกรุงได้ ทั้งยังมีคุณค่าสำหรับคนทั่วไปและที่สำคัญมีความหมายสำหรับคนในย่านเอง

โปรเจกต์ “Portrait of Charoenkrung” โดย Sungkrohsang, CEA & Neighbors จึงเกิดขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์จากศาสตร์และวงการถ่ายภาพเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับย่านและชุมชน โดยจะบันทึกเรื่องราวของเจริญกรุงในปี 2563 ผ่านประสบการณ์ของ นาย/นาง/นางสาว/เด็กหญิง/เด็กชาย “เจริญกรุง” เพื่อสะท้อนเอกลักษณ์และคุณค่าของ “เจริญกรุง” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นตำนาน ประวัติศาสตร์ สังคม ครอบครัว วิถีชีวิต อาชีพ ธุรกิจ และวัฒนธรรมในแง่มุมที่มีคุณค่าแต่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อนและถ่ายทอดออกมาเป็นชิ้นงานศิลปะ โดยมีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์และเก็บรักษาปัจจุบัน ไปพร้อมกับการทำนายทิศทางการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมไปถึงทำให้คนในย่านได้ปรับตัวและเรียนรู้ที่จะอยู่รอดในย่านนี้ร่วมกันและเติบโตไปด้วยกันในโลกยุคใหม่ได้อย่างยั่งยืน

Creative District Tour

ชวนเดินสำรวจเรื่องราว บรรยากาศ วิถีชีวิตของผู้คนบนถนนเจริญกรุงอย่างลึกซึ้งกับกิจกรรมสร้างสรรค์ที่โดนใจไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ถึง 4 ทัวร์ อาทิ “ทัวร์เจริญใจ จะทำอะไรก็เจริญ เจริญ” ที่จะพาไปร่วมเจริญหู เจริญตา เจริญพุง และเจริญใจไปในย่านเจริญกรุง ทัวร์เดียวที่จะพาไปสัมผัสเอกลักษณ์และเรียนรู้การเติบโตของย่านเจริญกรุงอย่างครบรส, “กรุง-เทศ” ชวนไปสำรวจเรื่องราว ‘นานาชาติ’ ผ่านเรื่องเล่าของ ‘คนเทศ’ ที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของ ‘คนกรุง’ และช่วยเติมเต็มให้ ‘เจริญกรุง’ กลายเป็นย่านที่จัดจ้านและกลมกล่อม,PORT CITY : เมืองไทย เมืองท่า” นําเสนอย่านเจริญกรุงอีกมุมมองหนึ่งในฐานะภาพสะท้อนความเป็นพหุวัฒนธรรมของสังคมไทยที่มีพลวัตเสมอมานับแต่อาณาจักรอยุธยาจนถึงภายหลังการสถาปนากรุงเทพมหานคร และ Moments in Charoenkrung” เปิดประสบการณ์ใหม่ในการท่องเที่ยว ด้วยการบันทึกภาพประทับใจผ่านการวาดภาพลายเส้นและสีน้ำกับ Louis Sketcher นักวาดภาพประกอบและศิลปินบันทึกเมือง

Haus Of Everything

อีกหนึ่งเทศกาลที่แสดงถึงการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่จัดแสดง ณ โกดังบ้านเลขที่ 1 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Print is not Dead” ที่จะตะโกนบอกทุกคนว่าสื่อสิ่งพิมพ์ยังไม่ตาย ด้วยฝีมือของ หมู-นนทวัฒน์ เจริญชาศรี ดีไซเนอร์ที่มีไอเดียจัดจ้าน ทำงานมาหลากหลายประเภท ทั้งงานกราฟิกดีไซน์ สถาปัตยกรรม งานตกแต่งภายใน จนถึงงานนิตยสาร ทั้งยังได้ดีไซเนอร์ที่มีความรักในสิ่งพิมพ์เหมือนกันกว่า 50 คนมาออกแบบสิ่งพิมพ์ ไม่จํากัดสไตล์และรูปแบบ เพื่อแสดงให้เห็นว่าสิ่งพิมพ์ยังมีคุณค่าและมีความสําคัญ เมื่อถูกนําเสนอและประยุกต์ใช้ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งข้อมูลข่าวสาร

Streetscape 2

ผลงานทดลองเพื่อแก้ไขประสบการณ์เดินเท้าในย่านเจริญกรุง โดย P.LIBRARY DESIGN STUDIO ซึ่งต่อยอดจากปีที่ผ่านมา เพื่อผลักดันให้เกิดการนำไปใช้จริงแบบถาวร สร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้กับทั้งคนในย่านและคนนอกย่าน ส่วนปีนี้จะกลับมาพร้อมกับ Camera 2020 ที่นำเสนอ “การออกแบบระบบการนําทางรูปแบบใหม่” (Wayfinding) ที่ประกอบไปด้วย ภาพวิดีโอของสถานที่ในซอยเจริญกรุง และระบบการดึงข้อมูลการแสดงผลค่า PM 2.5 สภาพอากาศบริเวณรอบพื้นที่เจริญกรุง รวมไปถึงแสดงข้อมูลงานเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2563 พร้อมเพิ่มไอเดียสนุกด้วยการทดลองทำป้ายบอกทางที่พื้นที่จะทำให้ตลอดการเดินในย่านไม่หลงทางอย่างแน่นอน

7 Wonders of Business Resilience ประสบการณ์ : ปรับตัว>อยู่รอด>เติบโต

นอกจากนิทรรศการและอินสตอลเลชั่นที่น่าสนใจ ยังมีกิจกรรมเสวนาจุดประกายความคิดโดยนักคิดนักสร้างสรรค์ที่มาแบ่งปันประสบการณ์การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนและยืนหนึ่ง ในหัวข้อ “ปรับตัว” “อยู่รอด” และ “เติบโต” ของ 7 ธุรกิจ จากแบรนด์ต่าง ๆ ที่คุ้นเคยแต่ไม่เคยรู้เรื่องราวเบื้องหลังมาก่อน อาทิ a piece(s) of paper, Super Lock และ Micron Ware, Ta.Tha.Ta, บริษัทสถาปนิก 49 จำกัด, Naraya, บริษัท บ้านส้มตำกรุ๊ป จำกัด และ น้ำอบปรุงเจ้าคุณ เป็นต้น ในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 14.00-17.00 น. ณ ห้องฟังก์ชั่น ชั้น 4 TCDC กรุงเทพฯ

Bangkok Design Week 2020 Powered by PechaKucha

การนำเสนอแนวคิดไอเดียสนุกๆ ผลงานผ่านรูปภาพ 20 ภาพ x 20 วินาที ในธีม Sharing unique experience to create the new potential for living” โดยผู้ร่วมโชว์ไอเดียต่างเป็นนักสร้างสรรค์ที่น่าจับตามองและเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั้งในไทยและต่างประเทศ อาทิ นทธัญ แสงไชย Podcast station director จาก Salmon Podcast พ็อดคาสท์ชาแนลใหม่ในเครือ Salmon ที่รับประกันว่าคอนเทนต์นั้นจะมีความมัน สด อร่อย, กตัญญู สว่างศรี Stand-up Comedian, พงศ์เทพ อนุรัตน์ จาก Dropkick Design Co. ดาราตลกผู้มากความสามารถแต่มีอาชีพหลักคือดีไซน์ ไดเร็กเตอร์ ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงการออกแบบให้นิตยสารในเครือ day poets, เปรม พฤกษ์ทยานนท์ จากเพจ “ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป” และผู้ชนะการแข่งขันจากกิจกรรม Clean Energy in Daily Life Powered by PechaKucha เป็นต้น ในวันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 15.00-18.00 น. ณ ห้องฟังก์ชั่น ชั้น 4 อาคารส่วนหน้า TCDC กรุงเทพฯ   

Creative Market

ตลาดนัดสร้างสรรค์เพื่อสร้างโอกาสในการขายสินค้าและการขยายเครือข่ายธุรกิจของผู้ประกอบการเก่าและใหม่ ทั้งชาวไทยและต่างชาติ และพบกับ Pinkoi Market in Bangkok 2020 ที่รวบรวมงานดีไซน์กว่า 50 สตูดิโอ จาก ไทย ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมชมโชว์รูมแสดงงานดีไซน์เพื่อการใช้ชีวิตแบบ Eco-Living และ Smart Life Living ร่วมเวิรคชอปศิลปะที่จะช่วยเสริมแรงบันดาลใจจากดีไซน์เนอร์ไทยและต่างชาติ ตลอดเส้นทางของลานจตุรัสไปรษณีย์ และ Warehouse 30 (โกดัง 7-8)

ยิ่งไปกว่านั้น ปีนี้ยังเป็นปีแรกที่ได้ผนึกกำลังกับย่านสร้างสรรค์ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแหล่งรวมตัวของบรรดานักออกแบบสร้างสรรค์คือ สามย่าน, อารีย์-ประดิพัทธ์ และทองหล่อ-เอกมัย ที่ร่วมกันเปลี่ยนย่านเหล่านี้ให้เป็นงานเทศกาลสุดสร้างสรรค์ อาทิ ThongEk Creative Neighborhood โดย Eakamai & Friends ภายใต้แนวคิด “เพื่อนบ้านสร้างสรรค์” โดยเน้นให้ผู้คนทุกกลุ่มภายในย่านร่วมมือกันทำกิจกรรม ตอบโจทย์อัตลักษณ์อันผสมผสานระหว่างความเก่าแก่ ประวัติศาสตร์ และธุรกิจคลื่นลูกใหม่ และ The making of Tinkering Pot : Ari-Pradipat Creative District โดย TINKERING POT นิทรรศการที่แสดงข้อมูลที่มา วัตถุประสงค์ โครงการของย่านสร้างสรรค์อารีย์-ประดิพัทธ์ และการเปิดสตูดิโอสร้างสรรค์ (Open Studio) กว่า 40 สตูดิโอ เป็นต้น

“เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563” (BKKDW 2020) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-9  กุมภาพันธ์ 2563 ณ เจริญกรุง-ตลาดน้อย, สามย่าน, อารีย์-ประดิพัทธ์ และทองหล่อ-เอกมัย ติดตามความเคลื่อนไหวและกิจกรรมดี ๆ ภายในงานได้ทาง Website : www.bangkokdesignweek.com / Facebook : BangkokDesignWeek / Instagram : bangkokdesignweek #BKKDW2020 และ #bangkokdesignweek