New Issues » Blueair รับอานิสงส์ “ฝุ่น PM 2.5” ครองตลาดเครื่องฟอกอากาศพรีเมียม

Blueair รับอานิสงส์ “ฝุ่น PM 2.5” ครองตลาดเครื่องฟอกอากาศพรีเมียม

27 มกราคม 2020
0

alivesonline.com : “ยูโรมอนิเตอร์” ระบุ ตลาดเครื่องฟอกอากาศไทยเติบโตสูงสุดในอาเซียนด้วยมูลค่า 2.8 พันล้านบาท ทิ้งห่าง มาเลเซีย อันดับ 2 ที่มีมูลค่าเพียง 1.2 พันล้านบาท แจงเหตุการณ์เติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะ “มลพิษ” เพิ่มสูงขึ้นจากการก่อสร้าง การพัฒนาประเทศ และจำนวนรถยนต์ที่มากขึ้น โดยเฉพาะปัญหา “ฝุ่น PM2.5” ส่งผลให้ “แสงชัยแอร์ควอลิตี้” ผู้นำเข้าเครื่องฟอกอากาศเกรดพรีเมียม Blueair จากสวีเดน ทำยอดขายปี 62 โตพรวด 300% จาก 3 พันเครื่อง เป็น 1 หมื่นเครื่อง ส่วนปี 63 คาดเติบโตตามปรกติประมาณ 20-30%

นายวรเทพ อัศวนิเวศน์ (ซ้าย) กรรมการผู้จัดการ และ นายบุญฤทธิ์ ฉันสุวรรณ (ขวา) ผู้จัดการทั่วไป บริษัท แสงชัย แอร์ควอลิตี้ จำกัด

นายวรเทพ อัศวนิเวศน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงชัยแอร์ควอลิตี้ จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องฟอกอากาศ แบรนด์ Blueair (บลูแอร์) จากประเทศสวีเดน เปิดเผยว่า บริษัท แสงชัยแอร์ควอลิตี้ จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทเครือของ “แสงชัยกรุ๊ป” ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความเย็น สายไฟฟ้า สินค้ากึ่งอุตสาหกรรม และอื่น ๆ มาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี มียอดขายรวมในปี 2562 ประมาณ 3 พันล้านบาท โดยเริ่มทำการตลาดเครื่องฟอกอากาศ Blueair เมื่อปี 2545 เนื่องจากเห็นว่าเป็นสินค้าคุณภาพดี มีอัตราการฟอกสูงที่สุดตามมาตรฐานสากล และมีดีไซน์ที่สวยเรียบแบบสแกนดิเนเวีย จนมีวางจำหน่ายทั่วโลกกว่า 60 ประเทศ

ปัจจัยและเหตุผลที่บริษัทฯ ทำตลาดเครื่องฟอกอากาศในประเทศไทย เพราะเห็นแนวโน้มของปัญหามลพิษในประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ เริ่มเพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ต้องเผชิญปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนที่ออกนอกบ้านจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพ ในขณะที่ผู้ที่อยู่ในบ้านก็จำเป็นต้องได้รับอากาศบริสุทธิ์เช่นกัน เครื่องฟอกอากาศที่ดีและมีคุณภาพสูงจึงเริ่มเป็นสินค้าที่มีความสำคัญมากขึ้นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กเล็ก

ทางด้าน นายบุญฤทธิ์ ฉันสุวรรณ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท แสงชัยแอร์ควอลิตี้ จำกัด กล่าวเสริมว่า จากข้อมูลของ “ยูโรมอนิเตอร์” ระบุว่า ตลาดเครื่องฟอกอากาศในประเทศไทย มีมูลค่า 91 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.8 พันล้านบาท มีการเติบโตปีละประมาณ 50% สูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน รองลงมาคือประเทศมาเลเซีย มีมูลค่า 41.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.2 พันล้านบาท อินโดนีเซีย มีมูลค่า 34.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 พันล้านบาท และฟิลิปปินส์ มีมูลค่า 16.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 500 ล้านบาท

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดเครื่องฟอกอากาศในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีการเติบโตอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดดเกือบเท่าตัว อันเนื่องมาจากภาวะมลพิษเพิ่มสูงขึ้นจากการก่อสร้าง การพัฒนาประเทศ และจำนวนรถยนต์ที่มากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 เกินระดับความปลอดภัยในหลาย ๆ พื้นที่ ส่งผลให้ในปี 2562 บริษัทฯ มียอดขายเติบโตจากปี 2561 ถึง 300% หรือประมาณ 1 หมื่นเครื่อง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท จากปรกติที่จำหน่ายปีละประมาณ 3 พันเครื่อง ส่วนในปี 2563 คาดว่าจะมีการเติบโตตามอัตราปรกติคือประมาณ 20-30% ใกล้เคียงกับตลาดรวม

“เครื่องฟอกอากาศ ถือเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตผู้บริโภคซึ่งมีการเติบโตและแข่งขันรุนแรงมาก จาก 5 ปีก่อนที่ตลาดมีมูลค่าประมาณ 800-900 ล้านบาท จึงทำให้มักจะมีผู้เล่นใหม่ ๆ เข้าและออกจากตลาดหมุนเวียนอยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของสินค้าและการยอมรับของผู้บริโภคเป็นสำคัญ โดยปัจจุบันในประเทศไทยมีสินค้าประมาณ 10 แบรนด์ ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีนในตลาดล่าง-กลางด้วยระดับราคา 3-4 พันบาท ประมาณ 90% ขณะที่ Blueair ถือเป็นแบรนด์ระดับพรีเมียมจากยุโรปเพียงรายเดียวที่ทำตลาดระดับราคา 3-8 หมื่นบาท เน้นทำตลาด B2B 80% และ B2C รวมทั้งหน่วยงานรัฐ 20%”

นายบุญฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีช่องทางการทำตลาดที่หลากหลาย ได้แก่ ช่องทางโมเดิร์นเทรด 25 จุดขายในห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ คือ เซ็นทรัล, เดอะมอลล์ ,สยามพารากอน, เอ็มโพเรียม, พาวเวอร์บาย และบุญถาวร นอกจากนี้ยังจำหน่ายโดยตรงกับหน่วยงานและองค์กรขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาล ธนาคาร และบริษัททั่วไป รวมถึงการใช้ช่องทางออนไลน์ผ่านลาซาด้า, ชอปปี้ และเซ็นทรัลออนไลน์ โดยในปีที่ผ่านมาพบว่าการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์มีสัดส่วนประมาณ 8%

“เนื่องจากตลาดเครื่องฟอกอากาศยังมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก บริษัทฯ จึงใช้งบประมาณการตลาดประมาณ 10% ของยอดขายในการสร้างการรับรู้ผ่านการจัดกิจกรรมและอีเวนต์ต่าง ๆ รวมถึงประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ผ่านโซเชียลมีเดียของบริษัทฯ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงซึ่งส่วนใหญ่มีการศึกษาและรายได้สูง พร้อมที่จะลงทุนมากขึ้นในการเลือกซื้อสินค้าเพื่อคุณภาพชีวิต เพราะปัจจุบันใช้เวลาพักอาศัยในบ้านมากขึ้น แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศยังไม่ดีมากนักก็ตาม”

นายบุญฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า Blueair เป็นแบรนด์เดียวในโลกที่บริษัทแม่ในประเทศสวีเดนไม่ผลิตสินค้าอื่นเลย เพราะยึดมั่นในเรื่องการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ได้รับรางวัลด้านคุณภาพอย่างมากมาย โดยได้รับการรับรองจากสถาบันทดสอบเครื่องฟอกอากาศที่น่าเชื่อถือที่สุดของโลกคือ AHAM (Associatioin of Home Appliance Manafacture) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในช่วงกลางปี 2563 จะเปิดตัวสินค้าใหม่อีก 2 ซีรีส์ รวม 5 เอสเคยู ซึ่งจะมีการจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทยพร้อมกันด้วย

ปัจจุบัน เครื่องฟอกอากาศ Blueair มีจำหน่ายในประเทศไทยทั้งหมด 4 ซีรีส์ รวม 14 เอสเคยู คือ

1.รุ่น Blu เน้นความเรียบง่าย ไม่ต้องการความยุ่งยากใด ๆ ในการใช้งาน สั่งการใช้งานด้วยการกดปุ่มเพียงครั้งเดียว ราคาเริ่มต้น 1 หมื่นขึ้นไป มีทั้งหมด 2 เอสเคยู

2.รุ่น Classic เน้นการใช้งานในห้องขนาด 26 ตร.ม., 40 ตร.ม.และ 72 ตร.ม. มีฟังก์ชันเชื่อมต่อไว-ไฟบ้าน เพื่อสั่งการใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน Blueair friend บนสมาร์ทโฟน โดยมีเซ็นเซอร์ในตัวเพื่อตรวจจับค่าฝุ่น Pm2.5 ว่ามีปริมาณเท่าใด พร้อมแสดงผลเป็นตัวเลขและแบบกราฟ สามารถดูย้อนหลังได้ เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบเทคโนโลยี ทำให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น ราคาเริ่มต้น 2 หมื่นบาทขึ้นไป มีทั้งหมด 6 เอสเคยู

3.รุ่น Sense+ เน้นดีไซน์ที่สวยหรู โดดเด่น สามารถใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์สำหรับตกแต่งห้องได้ พร้อมเทคโนโลยีสั่งงานผ่านสมาร์ทโฟนเพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ราคาเริ่มต้น 2 หมื่นบาทขึ้นไป มีทั้งหมด 4 เอสเคยู

4.รุ่น Pro เน้นการใช้งานในสำนักงาน หรือบ้านที่เน้นฟังก์ชันการใช้งานที่ง่ายแต่ประสิทธิภาพสูง ครอบคลุมพื้นที่ถึง 100 ตร.ม. มี 2 รุ่น คือ Pro M และ Pro L ราคาเริ่มต้น 3-8 หมื่นบาท