New Issues » 3 หน่วยงานหลักร่วมผลักดัน “ร้านค้าประชารัฐฯ” รุกโมเดลธุรกิจค้าปลีก

3 หน่วยงานหลักร่วมผลักดัน “ร้านค้าประชารัฐฯ” รุกโมเดลธุรกิจค้าปลีก

30 มกราคม 2020
0

alivesonline.com : สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ร่วมกับ กรมบัญชีกลาง และ ธนาคารกรุงไทย ดึง “ร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง” ใช้แอปพลิชัน “ถุงเงินประชารัฐ” เพิ่มความสะดวกให้ประชาชนและร้านค้ามีช่องทางชำระเงินในพื้นที่ของแต่ละชุมชน ก่อนพัฒนาเฟส 2 นำเครือข่ายร้านค้ากว่า 2 หมื่นแห่ง ร่วมต่อรองราคาสินค้าจากผู้ผลิต หวังเสริมแกร่งเศรษฐกิจในชุมชน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองตามแนวทางประชารัฐ เป็นมาตรการที่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อเนื่องโดยให้ชุมชนเป็นผู้กำหนดอนาคตและจัดการหมู่บ้านและชุมชนด้วยคุณค่าและภูมิปัญญาของตนเองโดยคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม อีกทั้งยังเป็นแหล่งพัฒนาองค์ความรู้ คุณภาพชีวิต และสวัสดิการของสมาชิกในชุมชนด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน หรือเศรษฐกิจฐานรากของประเทศนับเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ซึ่งเป็นการส่งเสริมสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ในส่วนของ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) มีการดำเนินโครงการมากมายอย่างต่อเนื่องมาตลอด 19 ปี เพื่อให้สมาชิกกองทุนฯ และชุมชนมีความแข็งแกร่ง ล่าสุดได้ร่วมกับ กรมบัญชีกลาง และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ขับเคลื่อนโครงการ “ถุงเงินประชารัฐ” แบบ One Stop Service เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน “ร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง” ต่อเนื่อง

โครงการ “ร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง” เป็นหนึ่งในโครงการที่รัฐบาลให้การสนับสนุนและให้งบประมาณในการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการซื้อ-ขายสินค้า และเป็นการลดรายจ่ายของประชาชนในชุมชน โดยในส่วนของการดำเนินงานของร้านค้าประชารัฐกองทุนฯ จากการสอบถามและติดตามทำให้ทราบว่ากองทุนบางแห่งสามารถทำยอดขายได้ถึง 20 ล้านบาท ขณะที่บางกองทุนได้ 1 ล้านบาท และบางกองทุนก็มีรายได้หลักแสนบาท แต่ทุกกองทุนเป็นหัวใจสำคัญของชุมชน โดยไม่ต้องไปพึ่งเครือข่ายร้านค้าอื่น ๆ

“การดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวมีโจทย์สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนที่ได้รับสวัสดิการแห่งรัฐมีความสะดวกในการซื้อสินค้าจากร้านค้าประชารัฐกองทุนฯ โดยที่ผ่านมาเราใช้เครื่องชำระเงินฯ หรือ EDC  และในวันนี้ได้นำแอปพลิเคชันถุงเงินประชารัฐมาใช้เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ประชาชนและร้านค้าได้มีช่องทางในการชำระเงินในพื้นที่ของแต่ละชุมชน”

นายกอบศักดิ์ กล่าวในตอนท้ายด้วยว่า สทบ. ยังเตรียมนำเครือข่ายร้านค้าประชารัฐกองทุนฯ ที่มีประมาณ 2 หมื่นแห่ง เข้าไปต่อรองราคาสินค้าที่จะนำมาจำหน่ายให้ประชาชนในชุมชนจากผู้ผลิตโดยตรง ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่เพื่อจะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น รวมทั้งยังจะทำให้ร้านค้าประชารัฐกองทุนฯ เป็นศูนย์กลางการจำหน่ายสินค้าประจำถิ่นซึ่งเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้เข้มแข็งอย่างแท้จริง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากความร่วมมือดังกล่าว สทบ. ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการจัดงานเพื่อให้ร้านค้าประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองได้ใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงินประชารัฐ” แบบ One Stop Service โดยมีผู้แทนร้านค้าประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองร่วมประชุมจำนวน 600 ร้านค้า

การจัดกิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงานการขับเคลื่อนการดำเนินงานร้านค้าประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมถึงการสร้างเครือข่ายร้านค้าประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองและแนวทางการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายร้านค้าประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และเพื่อให้ร้านค้าประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองสามารถเข้าร่วมโครงการประชารัฐสวัสดิการของรัฐบาล พร้อมติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงินประชารัฐ” แบบ One Stop Serviceเพื่อให้ความช่วยเหลือกับมีรายได้น้อยผ่าน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ภายใต้โครงการธงฟ้าประชารัฐรวมถึงโครงการร้านค้าประชารัฐเคลื่อนที่ของกองทุนหมู่บ้านฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานของ สทบ. รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดำเนินงานของร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยปัจจุบันมี กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) ดำเนินโครงการร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่ออุปโภคบริโภคจำนวน 17,275 โครงการ เพื่อการเกษตรจำนวน 12,144 โครงการ และโครงการร้านค้าอื่น ๆ อีกประมาณ 702 โครงการ  ซึ่งที่ผ่านมา สทบ. ได้สนับสนุนการขับเคลื่อนร้านค้าประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านฯ ในหลายด้าน อาทิ การสนับสนุนทุนให้ร้านค้าเพื่อจำหน่ายสินค้าให้กับประชาชน การจัดอบรมให้ความรู้และส่งเสริมด้านศักยภาพร้านค้า พร้อมการสนับสนุนเครื่องชำระเงินฯ หรือ EDC ให้ร้านค้าประชารัฐกองทุนฯ กว่า 4 พันร้านค้า เป็นต้น

แอปพลิเคชัน “ถุงเงินประชารัฐ” เป็นการพัฒนาของ ธนาคารกรุงไทย โดยใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อรับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากเดิมที่ใช้จ่ายซื้อสินค้าที่มีเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่อง EDC เท่านั้น โดย สทบ. ได้นำแอปพลิเคชัน “ถุงเงินประชารัฐ” มาให้ร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านฯ เพื่อให้นำไปใช้ในการชำระค่าสินค้า เพิ่มความสะดวกให้ร้านค้าและผู้ซื้อสินค้า ภายใต้แนวคิด “ร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รายได้สู่ชุมชน พัฒนาอย่างยั่งยืน”

“การใช้แอปพลิเคชันนี้จะเปิดให้ทั้งร้านค้าประชารัฐกองทุนฯ ทั้งที่ยังไม่ได้รับเครื่องชำระเงินฯ และที่เคยได้รับเครื่องชำระเงินฯ สามารถลงทะเบียนในการใช้บริการชำระเงินทางแอปพลิเคชันได้ เพื่อให้การดำเนินงานของร้านค้าประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านฯ ได้สร้างประโยชน์ให้กับชุมชน ก่อให้เกิดมีสวัสดิการในชุมชน สมาชิก กทบ. มีงาน มีอาชีพ มีรายได้และสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศได้มากยิ่งขึ้น โดยมั่นใจว่าถุงเงินประชารัฐจะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับร้านค้าประชารัฐ กทบ. และตอบโจทย์การใช้งาน พร้อมเพิ่มความสะดวกให้ประชาชนและเป็นกลไกสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากตามความมุ่งหวังของรัฐบาลอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” นายนที กล่าวในตอนท้าย