New Issues » จุฬาฯ เปิดพรมแดนท่องเที่ยว “ไทย-อาเซียน”

จุฬาฯ เปิดพรมแดนท่องเที่ยว “ไทย-อาเซียน”

6 กุมภาพันธ์ 2020
0

alivesonline.com : จุฬาฯ จัดประชุมนานาชาติ “Creative Tourism and Development” จับมือนักวิชาการไทย-ต่างประเทศ ดึงผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ร่วมเปิดมุมมองเสริมความแข็งแกร่ง แสวงหาแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ ยกระดับและต่อยอดการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน

ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสถาบันเอเชียศึกษา ภายใต้โครงการการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ กำหนดจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ “Creative Tourism and Development” ภายใต้แนวคิด Creativity & Connectivity &  Sustainability in ASEAN ระหว่างวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ห้องประชุมชั้น 7 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา เพื่อเป็นเวทีสำหรับการนำเสนอผลงานวิจัยด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่มีความหลากหลายจากภาคีเครือข่ายทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน

ในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติครั้งนี้มีการนำเสนอการพัฒนาแนวคิดใหม่ด้าน “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์” (Creative Tourism) ผ่านโครงการวิจัย โดยมีการเสนอบทความวิชาการ กรณีศึกษาทั้งในและต่างประเทศ พร้อมการจัดแสดงนิทรรศการที่เป็นผลผลิตขั้นต้นของโครงการวิจัย รวมถึงเวทีเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับชุมชนท้องถิ่นในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และผลกระทบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมในชุมชน ตลอดจนการสร้างภาคีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศและนานาชาติที่ทำงานพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับและต่อยอดการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของประเทศ

“กิจกรรมที่เป็นไฮไลท์ในงานคือ Keynote Speaker ซึ่งโครงการได้รับเกียรติจาก Professor Greg Richards, The Pioneer of World Creative Tourism Idea ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้บุกเบิกแนวคิดด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์คนแรกของโลกที่มาให้ความรู้ในหัวข้อ “Creating Creative Tourism and the Big Dream of Creative Placemaking” ในมุมมองเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ การส่งเสริมการวิจัย พัฒนาและการออกแบบการสร้างนวัตกรรม การสร้างเครือข่ายวิสาหกิจการท่องเที่ยว การสื่อสารและการคมนาคม การพัฒนาระบบฐานข้อมูล การส่งเสริมการตลาด และการสร้างเรื่องราวเพื่อบอกเล่านักท่องเที่ยว เป็นต้น”

Professor Greg Richards

นอกจากนี้ ตลอดการประชุมทั้ง 2 วัน ยังจัดให้มีการเสวนากลุ่มย่อยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในมุมมองด้านวิชาการและการมีส่วนร่วมของชุมชน ถอดบทเรียนการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยชุมชน ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การแบ่งปันความรู้ และนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวที่จะเข้ามามีบทบาทต่อชุมชน จากคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จากหน่วยงานรัฐบาลและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และตัวแทนโครงการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จากชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ

ภายในงาน ยังจัดให้มีกิจกรรมเวิร์คชอปโดยชุมชน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัสประสบการณ์และผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์และมีอัตลักษณ์ เช่น โคมมะเต้า, ตุงค่าคิง, จักสานความสุข, เขียนตั๋วเมือง, ผ้าลายตาโก้ง, ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ข้าว อาหารทะเล เป็นต้น รวมถึงชมนิทรรศการภาพถ่ายและงานหัตถกรรม ภาพยนตร์ และการแสดงของชุมชนจากฝั่งทะเลอันดามัน และจังหวัดน่าน

ศ.ดร.พิรงรอง กล่าวอีกว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ริเริ่ม “โครงการการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์” ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 และจะสิ้นสุดโครงการในเดือนมกราคม 2565 โดยคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ 90 คน และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาจาก 11 คณะ โดยสถาบันในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักวิจัยชาวต่างประเทศได้ร่วมกันจัดทำโครงการวิจัยภายใต้การบูรณาการศาสตร์ความรู้แขนงต่าง ๆ สร้างมิติเชื่อมโยงวิถีชีวิตชุมชนกับการท่องเที่ยว ยกระดับคุณภาพด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน ภายใต้ทรัพยากรทางการท่องเที่ยว ทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ผนวกเข้ากับนวัตกรรมที่เชื่อมโยงองค์ความรู้จากงานวิจัย สู่การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ ทีมุ่งเน้นให้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนเพื่อเพิ่มรายได้และกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น ประกอบด้วย

โครงการชุดที่ 1 “การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ : จังหวัดน่าน” คณะวิจัยทำงานเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการพัฒนาเส้นทางการขนส่งและผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติ สุขภาพ วัฒนธรรม การเกษตร การประชาสัมพันธ์ ภูมิศาสตร์ และการจัดการการท่องเที่ยวในกรณีที่นักท่องเที่ยวชาวจีนเพิ่มขึ้น ขณะที่โครงการชุดที่ 2 “การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อสังคมพหุวัฒนธรรม : ภูมิภาคอันดามัน”จะเป็นการศึกษาวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชาวเล คนไทยพลัดถิ่นในเมียนมา กลุ่มชาติพันธุ์ใน Myeik (เมืองมะริด) ระบบลอจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยวในภูมิภาคอันดามันไทย-เมียนมา และการสื่อสารระหว่างชุมชนกับนักท่องเที่ยว

สำหรับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการทั้งหมดคาดว่าจะมีเส้นทางการท่องเที่ยวที่แนะนำเกี่ยวกับธรรมชาติ วัฒนธรรม สุขภาพ สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงปรับปรุงการสื่อสารและความเข้าใจระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในและภายนอกท้องถิ่นเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนโปรแกรมการฝึกอบรมที่มีคุณภาพสูงในการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

“การประชุมนานาชาติครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ โดยเป้าหมายหลักคือต้องการที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนผ่านกระบวนการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และมีประสบการณ์ร่วมกับชุมชน เพื่อค้นหาแนวทางและประสบการณ์ใหม่ ๆ จากนักวิชาการและการพบปะพูดคุยกับชุมชนในพื้นที่เป้าหมายรวมถึงผลงานวิจัยที่นำเสนอในที่ประชุมในหัวข้อที่เป็นกรณีศึกษาที่เกี่ยวข้องโดยผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอกระดับนานาชาติ โดยจะมีการจัดทำเป็น E-Proceedings เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้กับพื้นที่อื่นในประเทศไทย หรือเป็นองค์ความรู้ที่จะถ่ายทอดสู่สาธารณะแก่ผู้ที่สนใจต่อไป” ศ.ดร.พิรงรอง กล่าวในที่สุด