alivesonline.com : กลุ่มบริษัทนันยางเท็กซ์ไทล์ เปิดบัญชียอดขาย 1.7 หมื่นล้านบาท เติบโต 16% มุ่งสร้าง “อีโคซิสเต็ม”อุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นไทย ตั้ง “HATCH Designer Hub” กลางซอยวัดสน แหล่งค้าส่งผ้ายืดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มุ่งวางรากฐานองค์ความรู้ให้กลุ่มดีไซเนอร์และคนรุ่นใหม่ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแฟชั่นของเมืองไทยได้มีโอกาสเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ ตั้งแต่วัตถุดิบ รูปแบบแพทเทิร์น จนถึงการตัดเย็บ
นายวิบูลย์ ตวงสิทธิสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทนันยางเท็กซ์ไทล์ ผู้นำอุตสาหกรรมสิ่งทอและโซลูชั่นการผลิตเครื่องนุ่งห่มแบบครบวงจรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Textile and Apparel Solutions Provider) มากว่า 62 ปี เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการลงทุนในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันมีโรงงานทั้งหมด 6 แห่งในประเทศไทย สปป.ลาว เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีทั้งคลังสินค้า (Warehouse) และศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ (Distribution Centre : DC) ขนาดใหญ่ โดยมีธุรกิจในเครือรวม 14 บริษัทฯ มีพนักงานกว่า 1.6 หมื่นคน
ปัจจุบัน บริษัทฯ มีกำลังผลิตสิ่งทอ 55% เส้นด้าย 45% คิดเป็นเส้นด้าย 38 ล้านปอนด์ต่อปี ผ้าผืน 2.2 หมื่นตันต่อปี และผลิตเสื้อยืดกีฬาและแฟชั่นให้แบรนด์ชั้นนำระดับโลกมากมาย เช่น NIKE, UNUQLO, OAKLEY, MUJI และอื่น ๆ ประมาณ 40 ล้านตัวต่อปี คิดเป็นสัดส่วนเสื้อยืดกีฬา 80% และเสื้อยืดแฟชั่น 20% โดยในปี 2562 มียอดขายทั้งสิ้น 1.7 หมื่นล้านบาท เติบโต 16% คาดว่าในปี 2563 จะยังคงรักษาอัตราการเติบโตได้เท่ากับปีที่ผ่านมา
ล่าสุด บริษัทฯ ใช้เงินลงทุนประมาณ 80-100 ล้านบาทจัดตั้ง “HATCH Designer Hub” เป็นอาคารโถงสูงขนาด 3 ชั้นครึ่ง บนพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ใช้สอยประมาณ 1.5-2 พันตารางเมตร ในซอยสุขสวัสดิ์ 35 (ซอยวัดสน) ซึ่งเป็นแหล่งค้าส่งผ้ายืดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยนอกเหนือจากการเป็นอาณาจักรผ้ายืดนวัตกรรมยุคใหม่สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย และ Knitted Fabric Co-Designer Space แห่งแรกในประเทศไทยแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้เป็นศูนย์บริการด้านความรู้ (Knowledge Center) ตั้งแต่วัตถุดิบ หรือผ้าแต่ละชนิด รูปแบบแพทเทิร์น จนถึงการตัดเย็บเพื่อจัดจำหน่าย โดยเฉพาะเรื่องวัตถุดิบซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป
“ในช่วงที่ผ่านมาการลงทุนของกลุ่มบริษัทนันยางเท็กซ์ไทล์มักเน้นการขยายโรงงานและขยายธุรกิจในเชิงพาณิชย์เป็นหลัก แต่การลงทุนครั้งนี้ถือเป็นการลงทุนครั้งสำคัญที่พลิกรูปแบบอย่างสิ้นเชิง เพราะต้องการวางรากฐานด้านองค์ความรู้ให้กลุ่มดีไซเนอร์และคนรุ่นใหม่ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแฟชั่นของเมืองไทยได้มีโอกาสเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป โดยในส่วนของกลุ่มบริษัทนันยางเท็กซ์ไทล์มีการใช้งบประมาณในการวิจัยและพัฒนนาวัตกรรมใหม่ ๆ ปีละประมาณ 200 ล้านบาท จนทำให้มีสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดเฉลี่ยเดือนละ 150 ชิ้น”
นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังคงมีการส่งออกสิ่งทอเป็นสัดส่วนสูงถึง 80-90% มีมูลค่ารวมประมาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากประเทศไทยและอินโดนีเซียถือเป็นเพียง 2 ชาติในโลกที่มีอุตสาหกรรมสิ่งทอครบวงจรตั้งแต่การปั่นด้าย ทอผ้าผืน จนถึงการตัดเย็บเสื้อผ้า แต่นวัตกรรมการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปของประเทศไทยติดอันดับโลกสูงกว่าอินโดนีเซีย โดยอยู่ในอันดับใกล้เคียงกับอิตาลี ญี่ปุ่น และไต้หวัน ในขณะที่สถานการณ์ของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศไทยอาจกล่าวได้ว่ากำลังอยู่ในช่วงปรับตัวจากการเข้ามาของอี-คอมเมิร์ซ และปัจจัยอื่น ๆ จนส่งผลให้ต้องมีการทยอยปิดโรงงานมากกว่า 30-40% แต่ผู้ประกอบการที่สามารถปรับตัวได้ก็มีผลการดำเนินงานที่เติบโตเช่นกัน
ในช่วงที่ผ่านมากลุ่มบริษัทนันยางเท็กซ์ไทล์ดำเนินธุรกิจแบบผลิตตามสั่ง (Made-To-Order) เน้นตลาดหลักเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อจำนวนมาก หรือการสั่งซื้อล็อตใหญ่ แต่ด้วยนโยบายขององค์กรที่ต้องการให้ระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ของอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นในประเทศไทยเติบโตไปด้วยกัน ประกอบกับการเห็นถึงความสามารถของคนไทยเจเนอเรชั่นใหม่ ๆ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ไม่แพ้ต่างประเทศและเข้ามาประกอบธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่นมากขึ้น การเปิด “HATCH Designer Hub” เพื่อเข้าถึงกลุ่มดีไซน์เนอร์ที่ต้องการใช้วัตถุดิบคุณภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ต้องการเติบโตในธุรกิจเสื้อผ้าให้สามารถเข้าถึงวัตถุดิบคุณภาพทัดเทียมกับแบรนด์ในต่างประเทศจึงถือเป็นการตอบโจทย์ที่ตรงจุด
นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า “HATCH Designer Hub” ได้คัดสรรผ้านวัตกรรมเดียวกับที่จำหน่ายให้แบรนด์ดังต่าง ๆ และเหมาะสมสำหรับการทำตลาดในประเทศนับ 1 พันรายการ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเริ่มต้นธุรกิจด้วยเงินลงทุนไม่สูงแต่มีเสื้อผ้าหลายรูปแบบให้ลูกค้าได้เลือกสรร โดยตั้งแต่เปิดให้บริการมาประมาณ 5-6 เดือนนั้น ชนิดผ้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ Dry-Tech (ดราย-เทค) เพราะสวมใส่สบาย ระบายอากาศดี เหมาะกับสภาพอากาศเมืองไทย และ Syntrel (ซินเทรล) เพราะไลฟ์สไตล์ คนในปัจจุบันใส่ใจเรื่องสุขภาพ ออกกำลังกายมากขึ้นทำให้เสื้อผ้า Sportswear เป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน โดยลูกค้า 80% เป็นลูกค้าที่เคยผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายอยู่แล้ว แต่ต้องการลองผ้าชนิดใหม่ที่มีนวัตกรรม ส่วนอีก 20% เป็นผู้ที่ต้องการเริ่มต้นสร้างแบรนด์ของตัวเอง
นายวิบูลย์ กล่าวในตอนท้ายว่า “HATCH Designer Hub” ถูกตั้งเป้าให้เติบโตในเชิงคุณภาพ โดยเราต้องการใช้สถานที่แห่งนี้พัฒนาศักยภาพและสร้างผู้ประกอบการแฟชั่นรุ่นใหม่ให้สามารถแข่งขันในธุรกิจได้อย่างยั่งยืน สร้างโอกาสและเกิดการต่อยอดทางธุรกิจ โดยปีนี้ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการจะสร้างการรับรู้ในเชิงรุก ควบคู่ไปกับการใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือสื่อสารสำคัญ เพื่อให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง อาทิ การจัดเวิร์คชอปให้ความรู้และได้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาผ้าผืนให้เป็นเสื้อผ้าแฟชั่น กระตุ้นให้เกิดการเข้ามาใช้พื้นที่เป็นแหล่งการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และรวมถึงการ Collaborate กับแบรนด์แฟชั่นชื่อดังและทรงอิทธิพลในกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง แฮมเบอร์เกอร์ สตูดิโอ (HAMBURGER STUDIO) และคิว ดีไซน์ แอนด์ เพลย์ (Q Design and Play) การออกคอลเลกชันพิเศษที่ผลิตจากผ้าของ “HATCH Designer Hub” ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักออกแบบรุ่นใหม่ได้อย่างแน่นอน