New Issues » ไทยยืนหนึ่งศูนย์กลาง “มาตรฐานไมซ์”

ไทยยืนหนึ่งศูนย์กลาง “มาตรฐานไมซ์”

12 กุมภาพันธ์ 2020
0

alivesonline.com : “ทีเส็บ” เดินหน้าผลักดันประเทศไทยเป็น “สถาบันองค์ความรู้ไมซ์ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เปิดศักราชปี 2563 มุ่งสร้างมาตรฐานให้อุตสาหกรรมไมซ์ไทยอย่างยั่งยืน สร้างผู้ประกอบการที่มีมาตรฐานสูงทุกสาขา เสริมความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” เปิดเผยในงาน “MICE Standards Day 2020” ว่า นอกเหนือจากการดึงงาน (WIN) ประชาสัมพันธ์ (PROMOTE) ยังมีอีกพันธกิจสำคัญคือ ด้านการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ (DEVELOP) เพื่อยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมไมซ์ไทยให้แข่งขันได้ในระดับสากล โดยวางเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาไมซ์แห่งอาเซียนและเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ในภูมิภาคเอเชียด้วยมาตรฐานสากล ตลอดจนเป็นผู้นำของการจัดงานอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย

“ทีเส็บ” จึงตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทย จัดตั้ง “สถาบันองค์ความรู้ไมซ์ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (ASEAN MICE Institute) เพื่อเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำหนดรับรองมาตรฐานต่าง ๆ รวมถึงออกแบบหลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการไมซ์ทั้งระดับบุคคลและองค์กรให้มีศักยภาพที่แข่งขันได้ในระดับนานาชาติ โดยบริหารงานและอยู่ภายใต้การกำกับของ “ทีเส็บ” เป็นสถาบันที่ให้องค์ความรู้ไมซ์แบบครบวงจร เพื่อพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมไมซ์ไทยและอาเซียนแก่บุคลากรและองค์กรที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุตสาหกรรมไมซ์

(จากซ้ายไปขวา) พลตรี ธนณัฐ ยังเฟื่องมนต์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวกองทัพบก นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ “อพท.” นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” นายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ นายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน และนางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาและนวัตกรรม “ทีเส็บ”

ปัจจุบัน “ทีเส็บ” พัฒนามาตรฐานต่าง ๆ โดยมีผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย หรือ Thailand MICE Venue Standard (TMVS) รวมทั้งสิ้น 453 แห่ง แบ่งเป็นประเภทห้องประชุม 397 แห่ง มีจำนวน 1,083 ห้อง ประเภทสถานที่จัดงานแสดงสินค้า 25 แห่ง มีจำนวน 29 ฮอลล์ และประเภทสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ 31 แห่ง นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสถานที่จัดงานอาเซียน หรือ ASEAN MICE Venue Standard (AMVS) ประเภทห้องประชุมทั้งสิ้น 53 แห่ง มาตรฐานการบริหารการจัดงานอย่างยั่งยืน หรือ Thailand Sustainable Event Management Standard (TSEMS) ผ่านการรับรองมาตรฐาน จำนวน 20 แห่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านไมซ์อย่างมืออาชีพ (MICE Professionals) จำนวน 941 ท่าน MICE Coach กว่า 900 ท่าน และชมรมเยาวชนไมซ์ (Student Chapter) จำนวน 17 มหาวิทยาลัย 241 ท่าน

นายจิรุตถ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับแผนพัฒนามาตรฐานไมซ์ ระยะ 5 ปี (ระหว่างปี พ.ศ.2563-2567) “ทีเส็บ” มุ่งเป้าสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไมซ์ทั้งในระดับประเทศและระดับอาเซียนและจะเริ่มดำเนินการในปี 2563 คือ มุ่งเน้นการสร้างแบรนด์การสื่อสารมาตรฐานร่วมกับพันธมิตรที่เป็นผู้ใช้บริการในการทำประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้แบรนด์ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บริการและสถานที่จัดงาน ตลอดจนสร้างผู้ประกอบการไมซ์ อาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษาให้ผ่านการรับรองมาตรฐานในหลักสูตรต่างๆ เพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไมซ์ในอนาคตต่อไป

นายจิรุตถ์ กล่าวอีกว่า ล่าสุด “ทีเส็บ” ได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวกองทัพบก และ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ในการนำสถานที่ที่สามารถให้บริการพื้นที่การจัดงาน หรือชุมชนที่สามารถรองรับการจัดงานไมซ์ได้เข้าร่วมโครงการตรวจประเมินมาตรฐาน TMVS ประเภทสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ (Special Event Venue) ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีในการขยายจำนวนสถานที่จัดงานที่ได้รับมาตรฐานรับรองครอบคลุมในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวทั้งในเขตทหารและชุมชนท้องถิ่น เป็นการเพิ่มโอกาสในการกระจายการจัดงานไมซ์สู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

ด้าน พลตรี ธนณัฐ ยังเฟื่องมนต์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวกองทัพบก กล่าวว่า การสร้างมาตรฐานสถานที่จัดงานให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติจะทำให้องค์กรได้มีการพัฒนาสถานที่จัดงานของตนให้มีมาตรฐาน ถือเป็นเกียรติยศชื่อเสียงขององค์กรที่จะได้รับซึ่งนำมาสู่ความภาคภูมิใจของบุคลากรขององค์กรนั้น ๆ

“การเป็นแบบอย่างที่ดีแก่องค์กรอื่น ๆ เกิดความต้องการการพัฒนาอย่างทัดเทียม เมื่อองค์กรมีสถานที่จัดงานที่มีมาตรฐาน สามารถตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ 20 ปี ในด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันได้”

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า มาตรฐานคือสิ่งที่แสดงถึงคุณภาพและความเป็นมืออาชีพ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าหรือนักท่องเที่ยวในการเลือกจุดหมายปลายทางทางการท่องเที่ยว ในขณะที่ อพท. มีบทบาทภารกิจในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน จึงมีความยินดีที่จะสนับสนุนและผลักดันแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ผ่านกระบวนการพัฒนาและได้รับการยกระดับสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนบนฐานอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้มีศักยภาพและความพร้อมสามารถรองรับการจัดงานไมซ์ ได้เข้าร่วมรับการตรวจประเมินมาตรฐานสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ (Special Event Venue) ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีที่จะเพิ่มศักยภาพของชุมชนในการรองรับตลาดกลุ่มไมซ์ อันเป็นตลาดคุณภาพที่จะนำมาสู่การกระจายรายได้สู่ชุมชนพัฒนาคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจฐานรากและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาลต่อไป

นายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ นายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการจัดงานไมซ์ระดับโลก (Global MICE Destination) และการมีมาตรฐาน (Standard) ในสถานที่สำหรับการจัดงานจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะมาตรฐานเป็นสิ่งที่ผู้จัดงานทั้งในประเทศและต่างประเทศจะสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกสถานที่จัดงานได้