alivesonline.com : ในขณะที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 กำลังลามทุ่งอย่างหนัก จนมีผลทำให้นักท่องเที่ยวหดตัวและผู้คนออกจากบ้านน้อยลง รวมถึงธุรกิจหลายด้านต้องเผชิญมรสุมอยางหนักทั้งการท่องเที่ยว ค้าปลีก และค้าส่งนั้น
ในอีกมิติหนึ่ง “อาหารพร้อมรับประทาน” หรือ Ready To Eat (RTE) กลับอาจได้รับผลกระทบเพียงน้อยนิด จากข้อจำกัดบางประการของคนรุ่นใหม่ที่ใช้ไลฟ์สไตล์ด้วยความเร่งรีบ สะดวก รวดเร็ว ประกอบกับใช้ชีวิตแบบครอบครัวเดี่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและไม่มีพื้นที่ประกอบอาหารเหมือนสังคมไทยยุคเก่า จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทย ประเมินว่าจะมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 3.0-5.0 หรือมีมูลค่าตลาดประมาณ 2.02-2.05 หมื่นล้านบาท ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันจะยังมีส่วนแบ่งตลาดน้อยกว่าร้อยละ 1 ของมูลค่าตลาดรวมในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่มีมูลค่าประมาณ 2.46-2.51 ล้านล้านบาท แต่ยังมีโอกาสสูงที่จะเพิ่มสัดส่วนได้มากขึ้นในระยะข้างหน้า
จึงไม่แปลกที่ บริษัท ซีพีแรม จำกัด ผู้ผลิตอาหารพร้อมรับประทานแช่แข็ง-แช่เย็น และเบเกอรีอบสดภายใต้แบรนด์ อีซี่โก, เดลี่ไทย, เดลิกาเซีย, เจด ดราก้อน, และ เลอแปง รวมถึงธุรกิจบริการจัดเลี้ยง ภายใต้แบรนด์ “ซีพีแรม แคเทอริ่ง” จะสามารถทำรายได้ในปี 2562 ได้ถึง 19,922 ล้านบาท เติบโตขึ้น 11% ซึ่งถือเป็นการรักษาอัตราการเติบโตต่อปีเฉลี่ย 10% ต่อเนื่องติดต่อกันหลายปี โดย ‘วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด ให้เหตุผลว่า นอกจากเป็นเพราะวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ“ซีพีแรม” มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตอาหารอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งใช้งบประมาณในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) เป็นจำนวน 1% ของยอดขาย หรือประมาณ 200 ล้านบาท ทำให้อาหารของ “ซีพีแรม” มีครบทั้งความหลากหลาย รสชาติ และคุณค่าทางโภชนาการที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคมากขึ้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมซื้อซ้ำมากขึ้น อันนำมาซึ่งเป้าหมายรายได้ 22,570 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 12% ในปี 2563
เผย 5 อันดับเมนูฮิต “อาหาร-เบเกอรี่”
ปัจจุบัน “ซีพีแรม” มีสินค้าประมาณ 900 – 1 พันเอสเคยู แบ่งเป็นอาหารพร้อมรับประทาน 600-700 เอสเคยู เบเกอรี่ 200-300 เอสเคยู โดยเฉลี่ยแต่ละปีจะมีสินค้าใหม่ประมาณ 300 เอสเคยู รวมทั้งมีการปรับสินค้าเก่าบางประเภทที่ไม่เป็นที่นิยมออกจากตลาดด้วย โดยในส่วนของเมนูยอดฮิตของ “อาหารพร้อมรับประทาน” 5 อันดับแรกพบว่า อันดับ 1.ข้าวสวยหอมมะลิ ยอดขายเฉลี่ย 8.7 กล่องต่อสาขาต่อวัน อันดับ 2.ข้าวกะเพราะหมู ยอดขายเฉลี่ย 2.9 กล่องต่อสาขาต่อวัน อันดับ 3.ข้าวกะเพราะไก่+ไข่ดาว ยอดขายเฉลี่ย 2.5 กล่องต่อสาขาต่อวัน อันดับ 4.ข้าวผัดปู ยอดขายเฉลี่ย 2.4 กล่องต่อสาขาต่อวัน อันดับ 5.ผัดซีอิ๊วหมู ยอดขายเฉลี่ย 2.4 กล่องต่อสาขาต่อวัน
ส่วนสินค้ากลุ่มเบเกอรี่ที่ ‘วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู’ กล่าวถึงเคล็ดลับว่าต้องเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มี “กลิ่นรสชาติ และรูปลักษณ์” ที่ดึงดูดผู้บริโภคให้มากที่สุดนั้น พบว่า อันดับ 1.พายสับปะรด 7-Fresh ยอดขาย 6.2 ชิ้นต่อสาขาต่อวัน อันดับ 2.ดับเบิลปูอัดและแฮมมายองเนส ยอดขาย 3.8 ชิ้นต่อสาขาต่อวัน อันดับ 3. ดับเบิลปูอัดมายองเนสและทูน่ามายองเนส ยอดขาย 3.3 ชิ้นต่อสาขาต่อวัน อันดับ 4.มินิบันไส้กรอก 7-Fresh ยอดขาย 2.8 ชิ้นต่อสาขาต่อวัน อันดับ 5.ดับเบิลไส้หมูหยองมายองเนสและไส้ปูอัด ยอดขาย 2.3 ชิ้นต่อสาขาต่อวัน
“แกะกล่องคิด” แนววิจัยและพัฒนา “อาหาร” ตอบตลาด
แม่ทัพใหญ่ “ซีพีแรม” กล่าวด้วยว่า ในปี 2563 “ซีพีแรม” จะให้ความสำคัญในเรื่อง “อาหารท้องถิ่น” (Local Product) ในรูปแบบอาหารแช่เย็น โดย อาหารภาคเหนือ เช่น ข้าวผัดผักเชียงคา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ลาบหมู และก๋วยจั๊บญวน ภาคใต้ เช่น ข้าวใบเหลียงผัดไข่ ข่าวไก่ผัดพริกแกงใต้ เป็นต้น โดยมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 20-25% ของสินค้ากลุ่มอาหารทั้งหมด
“การทำตลาดอาหารเฉพาะถิ่น เราไม่ได้ต้องการแข่งขันกับร้านอาหารพื้นเมืองซึ่งมีความหลากหลายและมีรสชาติอร่อยอยู่แล้ว แต่เราทำเพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคในท้องถิ่นในช่วงเวลากลางคืนที่ร้านอาหารปิดแล้ว ทั้งยังเป็นการเติมเต็มตลาดของ ซีพีแรม ในต่างจังหวัดด้วย”
อีกตลาดหนึ่งที่ “ซีพีแรม” ให้ความสำคัญคือ “อาหารสุขภาพ” (Functional Food) ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 จนทำให้เห็นแนวโน้มการตอบรับของตลาดที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีความต้องการสูง
“อาหารสุขภาพเป็นเทรนด์ที่มาแรงมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะถือเป็นสินค้าที่ในอดีตไม่มีทางเลือก จึงทำให้มีความต้องการสูงและมีการเติบโตในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ทั้งยังไม่มีความชัดเจนว่าตลาดต้องการสินค้าประเภทใดมากเป็นพิเศษ เพราะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มใส่ใจอาหารสุขภาพและนิยมบริโภคผักมากขึ้น ทำให้เราต้องผลิตอาหารที่มีการเพิ่มปริมาณผักและเนื้อให้มีความสมดุลเพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคกลุ่มนี้ โดยบริษัทฯ ยังพร้อมที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไปเพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคให้มากที่สุดจากปัจจุบันซึ่งถือเป็นกลุ่มสินค้าที่มีการเติบโตเฉลี่ย 20-30% จากสินค้าทั้งหมดของบริษัทฯ”
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังจะเน้นตลาด “อาหารเฉพาะกลุ่ม” เช่น ผู้สูงวัย ซึ่งเริ่มทำตลาดและได้รับการตอบรับดีมาตั้งแต่ปี 2562 เช่นกัน นอกจากนี้ยังมี “อาหารสำหรับผู้ต้องการดูแลสุขภาพโดยเฉพาะ” เช่น อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องการปริมาณน้ำตาลต่ำแต่ยังคงรสชาติความอร่อย รวมถึง “อาหารสุขภาพสำหรับผู้บริโภคทั่วไป” เช่น อาหารที่ลดความหวาน ความเค็ม และความมัน โดยบริษัทฯ จะเน้นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการปรับแต่งให้มีความสมดุลมากที่สุด
สำหรับ “อาหารเด็ก” (Baby Food) ถือเป็นหนึ่งในแผนการตลาดที่ “ซีพีแรม” มีความพร้อมจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทันทีที่ตลาดในประเทศมีความต้องการ หลังจากที่ใช้เวลาศึกษาตลาดมาเป็นระยะเวลานานทำให้เห็นทิศทางและโอกาสการเติบโตสูงเช่นเดียวกันกับหลาย ๆ ประเทศ เพียงแต่ช่วงเวลานี้ยังอยู่ในระหว่างการให้ความรู้กับผู้บริโภคและทำความเข้าใจกับตลาดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“อาหารเด็กเป็นสินค้าที่ภาษาพูดเรียกว่า คนซื้อไม่ได้กิน คนกินไม่ได้ซื้อ หากผู้บริโภคมีความเข้าใจถึงความคุ้มค่าทางโภชนาการและความคุ้มค่าต่อการเจริญเติบโตที่บุตรหลานจะได้รับในแต่ละช่วงอายุ เช่น 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการซื้อมากขึ้นและทำให้ตลาดเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยที่พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่มีบุตรช้าลง หรือแม้แต่อัตราการเกิดของเด็กใหม่น้อยลง แทบไม่ได้มีผลแต่อย่างใด”
ขณะที่ การทำตลาด “อาหารที่ผลิตจากพืช” (Plant-based Food) ดูเหมือนจะเป็นตลาดที่ “ซีพีแรม” ไม่ได้เน้นมากนัก หลังจากที่เคยทดลองผลิตอาหารประเภทเนื้อไก่ที่ผลิตจากพืชมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก ประกอบกับยังไม่มีความพร้อมด้านซัปพลายเชนเพราะต้องนำเข้าวัตถุดิบผลิตจากต่างประเทศ จึงทำให้ต้องชะลอการทำตลาดจนกว่าจะมีความต้องการอย่างแท้จริง
“ห่วงโซ่อุปทานอาหาร” สมบูรณ์ได้ด้วย “ปริมาณ-คุณภาพ-ราคา”
นับตั้งแต่ปี 2561 อันเป็นวาระครบรอบ 30 ปีของ “ซีพีแรม” ซึ่งได้ประกาศยุทธศาสตร์องค์กรยุคที่ 7 ระหว่างปี 2561-2565 ให้เป็น “ยุคศรีอัจฉริยะ” เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำธุรกิจ Food Provider มาตรฐานโลกในการมอบคุณค่าสู่สังคมและมุ่งสู่องค์กรที่ยังยืนนั้น แม่ทัพใหญ่ “ซีพีแรม” บอกว่า การใช้คำว่า “ศรี” คือความดีงาม และคำว่า “อัจฉริยะ” คือความเก่งเฉลียวฉลาด คำว่า “ศรีอัจฉริยะ” จึงมีพร้อมด้วย “ความดีคู่ความเก่ง” ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ (Supply Chain Management) โดยเน้นแนวทาง 3S คือ Food Safety (ความปลอดภัยทางอาหาร) Food Security (ความมั่นคงทางอาหาร) และ Food Sustainability (ความยั่งยืนทางอาหาร) ทั้งยังส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน และความมั่นคงในอาชีพของเกษตรกร ด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน ผ่านโครงการ “เกษตรกรคู่ชีวิต” อย่างต่อเนื่องมานานกว่า 10 ปี ดังที่ ย้ำว่า
“ทั้ง 3S ไม่ได้เป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เราจะต้องร่วมกันทำตลอดห่วงโซ่อุปทานส่งมอบความดีคู่ความเก่งใน 3S นี้ให้ผู้บริโภคและสังคมเป็นเนื้อเดียวกัน ซีพีแรม จึงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์ต่อสังคมไทยด้วยหลักธรรมาภิบาล เพื่อส่งมอบอาหารที่ดี มีคุณภาพสู่ผู้บริโภค โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหาร”
‘วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู’ กล่าวย้ำด้วยว่า ในฐานะผู้ผลิตอาหารจึงต้องการให้ซัปพลายเชนมีความสมบูรณ์ด้วยเหตุผล 3 ประการคือ “ปริมาณ” โดยต้องมีวัตถุดิบพร้อมที่จะผลิตได้อย่างสม่ำเสมอเพื่อสนองความต้องการผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่องในทุกช่วงเวลา เช่น ช่วงเวลาใดต้องการอะไรมากเป็นพิเศษเราต้องมีวัตถุดิบพร้อม เช่น เทศกาลกินเจ ต้องใช้ผักมาก หรือเทศกาลสงกรานต์ หรือปีใหม่ อาจต้องการอาหารบางประเภทที่ใช้วัตถุดิบบางชนิดมากเป็นพิเศษ เช่น ไก่ หรือหมู เป็นต้น ประการต่อมาคือ “คุณภาพ” หากขาดการควบคุมซัปพลายเชนก็จะไม่สามารถควบคุมคุณภาพให้มีความคงที่ได้ และประการสุดท้ายคือ “ราคา” ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรมากที่สุด เพราะจะทำให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิต ควบคุมต้นทุน และทราบรายได้ล่วงหน้า โดยไม่ต้องมีความเสี่ยงว่าผลิตแล้วจะมีตลาดรองรับหรือไม่
ด้วยเหตุนี้ “ซีพีแรม” จึงจัดโครงการ “ปูม้า ยั่งยืน คู่ทะเลไทย” โดยร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 3 (สุราษฎร์ธานี) และ บริษัท วิยะเครปโปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตและแปรรูปอาหารจากเนื้อปูม้าในฐานะผู้ส่งมอบวัตถุดิบให้ “ซีพีแรม” ปล่อยลูกพันธุ์ปูม้า ระยะ Young Crab กลับคืนสู่ทะเลกว่า 2 แสนตัว เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ บริเวณเกาะเสร็จ บ้านพุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
“ปูม้าเป็นสัตว์น้ำธรรมชาติที่เราจับจากทะเลเพื่อนำมาบริโภค ถ้าเราไม่ช่วยกันอนุรักษ์และพื้นฟูทรัพยากรปูม้า อนาคตก็จะไม่ความอุดมสมบูรณ์ เพราะปูม้าเป็นสัตว์ที่ต้องเติบโตตามธรรมชาติและไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ การปล่อยพันธุ์ลูกปูจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยทำให้ห่วงโซ่อุปทานอาหารมีความยั่งยืนมากขึ้น เพราะปูม้าถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างรายได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่ชาวประมง ห้องเย็น การจัดซื้อจัดส่งและลอจิสติกส์ ผู้ผลิตอาหาร ตลอดจนถึงผู้บริโภค ความมั่นคงของห่วงโซ่ทั้งหมดนี้จึงสร้างคุณค่าและความมั่นคงให้เศรษฐกิจโดยรวมอย่างมาก”
สมกับเจตนารมย์ของ “ซีพีแรม” ที่ให้ความสำคัญในเรื่องการจัดการห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมอาหารว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงอาหารอย่างยั่งยืน เนื่องด้วยตลอดห่วงโซ่อุปทานประกอบด้วยผู้ประกอบการรายย่อยและรายใหญ่มากมายตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ การพัฒนาและนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปใช้อย่างเหมาะสม จึงย่อมสร้างความมั่นใจให้คู่ค้าในแต่ละห่วงโซ่ถัดไปได้ทั้งปริมาณที่ส่งมอบและคุณภาพที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับด้านความปลอดภัยอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทานได้.