New Issues » เตือนหยุดเลี้ยงกุ้งในภาวะวิกฤติ COVID-19

เตือนหยุดเลี้ยงกุ้งในภาวะวิกฤติ COVID-19

6 เมษายน 2020
0

alivesonline.com : อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรฯ รัฐบาลประยุทธ์ 1 ออกโรงเตือนผู้เลี้ยงกุ้ง “ต้องเอาตัวให้รอด” ชะลอ หรือหยุดเลี้ยงกุ้งในสถานการณ์วิกฤติ COVID-19 และปัจจัยลบรอบด้าน เตือนยุคทองการเลี้ยงกุ้งที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมีผลผลิตประมาณ 4-5 แสนตันจะไม่กลับมาอีกแล้ว โดยเฉพาะตลาดส่งออกหลักยังคงเป็นอเมริกาและญี่ปุ่นที่ลดการนำเข้า แนะทางออกลดขนาดโรงเพาะฟักให้มีขนาดเล็ก พร้อมลดปริมาณการผลิตลูกกุ้งเหลือเดือนละ 500-700 ล้านตัว

นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมัยนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 1 เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ขณะนี้ผู้เลี้ยงกุ้งอาจได้รับผลกระทบซึ่งจะเลวร้ายยิ่งกว่ายุคเศรษฐกิจล่มสลายจากฟองสบู่แตก ปี 2540 รวมถึงการระบาดของโรค EMS และยิ่งกว่าทุก ๆ เรื่องที่มีผลต่อการเลี้ยงกุ้ง เนื่องจากสถานการณ์นี้ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร ตลอดจนปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริโภคชะลอตัว อาทิ สายการบินหยุดการบิน โรงแรม ร้านอาหาร และภัตตาคารปิด การท่องเที่ยวหยุดชะงัก กีฬาโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นเลื่อน ธนาคารชาติออกแถลงเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ว่า GDP ของประเทศไทยจะติดลบ 5.3% ตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ถ้าขายกุ้งเนื้อไม่ได้ก็จะส่งผลกระทบมายังผู้เพาะลูกกุ้ง ดังนั้นจึงขอเตือนและแจ้งไปยังผู้ผลิตลูกกุ้งต้องลดปริมาณการผลิตลงมากกว่า 50% จากเดิมที่เคยใช้ลูกกุ้งในแต่ละเดือนเฉลี่ยประมาณ 2 พันล้านตัว ให้เหลือแค่ 500-700 ล้านตัว โดยลดขนาดโรงเพาะฟักให้มีขนาดเล็กลดลงพอเลี้ยงตัวเองและลูกจ้างได้ ยกเว้นหากผู้เลี้ยงกุ้งที่มีตลาดอยู่แล้วก็สามารถทำสัญญาสั่งซื้อลูกกุ้งได้

สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้คือผู้เลี้ยงกุ้งต้องเอาตัวให้รอด โดยต้องชะลอหรือหยุดการเลี้ยงกุ้ง เพราะการขายกุ้งทำได้ลำบาก ยุคการเลี้ยงกุ้งที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมีผลผลิตประมาณ 4-5 แสนตันจะไม่กลับมาอีกแล้ว ประเทศไทยปีนี้มีผลผลิตถึง 1 แสนตันก็เก่งมากแล้ว เนื่องจากตลาดสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น น่าจะหายไปอย่างมาก ส่วนตลาดจีนยังพอมีความหวังบ้าง แต่ก็มีเปอร์เซ็นต์การนำเข้ากุ้งจากไทยเพียง 10-20% ดังนั้น ตลาดหลักเรายังเป็นสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ขณะที่ความต้องการภายในประเทศก็มีแนวโน้มลดลง เราต้องเข้าใจกันว่ากุ้งไม่ใช้อาหารที่จำเป็น เพราะมีสินค้าโปรตีนประเภทอื่นที่ทดแทนได้ กุ้งเป็นสินค้า สำหรับเศรษฐกิจที่ดี คนต้องมีเงินถึงจะกินกุ้งได้ การบริโภคกุ้งภายในประเทศ เดิมมีประมาณ 6-7 หมื่นตันต่อปี เราปิดเมือง ปิดการท่องเที่ยว คนซื้อกุ้งจากจังหวัดต่าง ๆ จึงมีปริมาณลดลงอย่างมาก

“ผมเป็นผู้ผลักดันให้สร้างชมรมการเลี้ยงกุ้ง สมาพันธ์การเลี้ยงกุ้งในทุกภูมิภาค ซึ่งมีอุปสรรคมากมาย เราเคยล้มและเราก็สามารถลุกขึ้นมาได้ เรากลับมาจากปัญหา EMS ด้วยระบบจุลินทรีย์ ด้วยระบบการปรับปรุงพันธุ์กุ้ง ด้วยระบบความสมดุลแร่ธาตุเพื่อสุขภาพของกุ้ง ด้วยระบบพ่อแม่พันธุ์ปลอดโรค เรามีระบบคลัสเตอร์ ซึ่งทำให้เข้าใจถึงต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มาสู่การมีข้อมูลอย่างสมบูรณ์ มีการผลิตลูกกุ้งเท่าไรในแต่ละเดือน มีแหล่งผลิตอยู่ที่ไหน แต่ละเดือนมีผลผลิตกุ้งเท่าไร ตามรายงานของ FMD มีการขายกุ้งเนื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยระบบ MD ข้อมูลการส่งออกจากศุลกากร ทราบว่ามีการส่งออกเท่าไร มีการประเมินการบริโภคภายในประเทศ ทราบถึงราคา มีการแจ้งราคาของแพกุ้ง มีการพูดคุยของคณะกรรมการฯ ที่พูดถึงความสำเร็จและความล้มเหลวของแต่ละกิจกรรม ผมกล้าพูดได้เลยว่าไม่มีสินค้าเกษตรตัวอื่นที่จะทำข้อมูลได้สมบูรณ์เท่ากับกุ้ง ผมยังนำหลักการการบริหารโดยใช้ข้อมูลในสินค้าตัวอื่น เช่น ลำไย และทุเรียน ในสมัยที่เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คนเลี้ยงกุ้งในทุกภูมิภาคให้ความร่วมมือกันทำให้ฝ่าฟันอุปสรรคได้เสมอ โดยเฉพาะท่านประธานชมรมการเลี้ยงกุ้งในทุกจังหวัด และสมาพันธ์ฯ”นายนิวัติ กล่าว

ทั้งนี้ จากข้อมูลการผลิตลูกกุ้งของกรมประมงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ประเทศไทยสามารถผลิตลูกกุ้งได้ 2.5 พันล้านตัว ส่วนใหญ่มาจากภาคตะวันออก มากกว่า 1 พันล้านตัว ภาคใต้มาจากจังหวัดสงขลา และภูเก็ตประมาณ 400 ล้านตัว ส่วนกุ้งเนื้อในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีผลผลิต 1.5 หมื่นตัน ส่วนใหญ่มาจากภาคตะวันออก มากกว่า 4 พันตัน โดยเฉพาะจังหวัดฉะเชิงเทรา และตราด ส่วนภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย มีผลผลิต 4 พันตัน ส่วนใหญ่มาจากสุราษฎร์ธานี และสงขลา ส่วนภาคใต้ฝั่งอันดามัน มีผลผลิต 3 พันตัน ส่วนใหญ่มาจากตรัง