alivesonline.com : ภายใต้กรอบการจัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ตามแผนยุทธศาสตร์ภายใต้นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน โดยกำหนดให้จังหวัดชลบุรี เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ สุขภาพ การแพทย์ นันทนาการ และไมซ์ชั้นนำนั้น
ในฐานะที่ “เมืองพัทยา” เป็นหนึ่งในห้าพื้นที่ซึ่ง สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB ได้ศึกษาและยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนาและการแข่งขันเพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็น “ไมซ์ ซิตี้” (MICE City) อย่างเป็นรูปธรรมนั้น “เมืองพัทยา” จึงกำหนดแผนยุทธศาสตร์เมืองพัทยา 4 ปี (2561-2564) ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ พัฒนาสู่การเป็นเมืองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวระดับโลกและมหานครศูนย์กลางภูมิภาคพัฒนา หรือ Innovation โดยมีแนวทางการพัฒนาและกลยุทธ์สำคัญ คือเร่งรัดการพัฒนาเมืองพัทยาสู่การเป็น Smart City สร้างพลวัตรกิจกรรมและสถานที่ท่องเที่ยวที่ให้ประสบการณ์แปลกใหม่หลากหลาย รวมถึงส่งเสริมการจัดกิจกรรมนันทนาการและกีฬาทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ตลอดจนเสริมสร้างภาพลักษณ์เมืองพัทยาในฐานะแหล่งท่องเที่ยว สถานที่รองรับการจัดประชุมสัมมนา ที่พักอาศัย ศูนย์กลางด้านการแพทย์ หรือแหล่งลงทุนระดับ World Class พร้อมทั้งสื่อสารสาธารณะสู่สังคมไทย เพื่อสร้างทัศนคติที่ถูกต้องของความสำคัญของเมืองพัทยา
นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ รองนายกเมืองพัทยา เปิดเผยว่า เมืองพัทยา มีการทำงานร่วมกับ TCEB มานานมากกว่า 9 ปีในการพัฒนาเมืองพัทยาเพื่อยกระดับให้เป็น “ไมซ์ ซิตี้” อย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากแต่ละปีเมืองพัทยามีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ล่าสุดในปี 2560 มีทั้งสิ้นประมาณ 14 ล้านคน คิดเป็นชาวไทย 5 ล้านคนและต่างชาติ 9 ล้านคน มีรายได้หมุนเวียนจากการท่องเที่ยวประมาณ 2.3 แสนล้านบาท ส่วนโรงแรมที่พักมีประมาณ 2 พันแห่ง คิดเป็นจำนวนประมาณ 2 แสนห้อง ซึ่งยังคงเพียงพอต่อความต้องการทั้งของนักท่องเที่ยวและนักเดินทางกลุ่มไมซ์
พัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ทันสมัย หลากหลาย ทั้งยังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของภาคตะวันออกและประเทศไทย มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ สถานประกอบการ โรงแรม ศูนย์การค้าที่มีศักยภาพในการรองรับการประชุมสัมมนาขนาดใหญ่
“ล่าสุด เมืองพัทยา ร่วมกับ กรมเจ้าท่า ดำเนินงานเปลี่ยนภาพลักษณ์ชายหาดให้เป็นพื้นที่ปราศจากขยะ พร้อมปรับภูมิทัศน์ให้สอดรับกับโครงการ EEC สู่เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมยุคใหม่ตามแนวนโยบายที่กำหนดไว้ โดยใช้งบประมาณ 400 ล้านบาทในการเสริมทรายบริเวณชายหาดให้มีความกว้าง 35 เมตร ตั้งแต่พัทยาเหนือ-พัทยาใต้ ระยะทางประมาณ 2.85 กิโลเมตร เหมือนเมื่อครั้งที่เคยเป็นเมื่อปี 2514 หรือ 47 ปีมาแล้ว โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและพร้อมจัดกิจกรรมแรกคือเทศกาลลอยกระทงในวันที่ 22 พ.ย.ศกนี้ จากนั้นจะดำเนินงานในเฟสต่อไปคือบริเวณหาดจอมเทียม รวมระยะทางประมาณ 7-8 กิโลเมตร”
นายปรเมศวร์ กล่าวในตอนท้ายด้วยว่า การดำเนินงานดังกล่าวเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับทั้งในส่วนของนักท่องเที่ยวและนักเดินทางกลุ่มไมซ์ที่จะมาเยือนเมืองพัทยาและได้รับความประทับใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งพัฒนาสถานประกอบการให้ได้รับ มาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย หรือ Thailand MICE Venue Standards (TMVS) ตามที่ TCEB กำหนด เพื่อให้พัทยาเป็นเมืองในพื้นที่โครงการ EEC ที่มีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาให้เป็น “ไมซ์ซิตี้” และสามารถสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศที่จะมาใช้บริการและเลือก “เมืองพัทยา” เป็นสถานที่จัดงานในทุกระดับมากขึ้นด้วย
TCEB นำคณะสื่อชมพื้นที่สถานที่จัดงานเมืองพัทยา
ในโอกาสดังกล่าว TCEB จึงได้นำคณะสื่อมวลชนร่วมชมสถานประกอบการ 3 แห่งซึ่งได้รับมาตรฐาน TMVS ได้แก่ โรงแรมเคป ดารา รีสอร์ท พัทยา ซึ่งได้รับมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย ประเภทห้องประชุม ศูนย์ประชุมนานาชาติพีช พัทยา (Pattaya Exhibition And Convention Hall : PEACH) ซึ่งได้รับมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย ประเภทสถานที่จัดงานแสดงสินค้า และ ศูนย์ประชุมนานาชาตินงนุช พัทยา (Nongnooch Pattaya International Convention And Exhibition Center : NICE) ซึ่งยื่นขอรับมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย ประเภทห้องประชุม สถานที่จัดงานแสดงสินค้า และสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ
นางอรชร ว่องพรรณงาม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ TCEB กล่าวว่า มาตรฐาน TMVS ได้รับการพัฒนาโดยอ้างอิงจากมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจไมซ์ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมและยกระดับการให้บริการตลอดจนคุณภาพของสถานที่จัดงานไมซ์ในประเทศไทย โดย TCEB จะมีการประเมินสถานประกอบการที่ได้รับตราสัญลักษณ์ทุก 3 ปี
สำหรับในภาคตะวันออก พัทยาถือเป็นเมืองที่มีผู้ประกอบการ ผ่านการรับรองมาตรฐาน TMVS มากที่สุดจำนวน 26 แห่ง แบ่งเป็นประเภทห้องประชุม 25 แห่ง และประเภทสถานที่จัดงานแสดงสินค้า 1 แห่ง สามารถใช้เป็นจุดขายในการดึงการจัดงานไมซ์นานาชาติจากทั่วโลก เมื่อผนวกกับเทคโนโลยีและบริการที่น่าประทับใจของไทย ยิ่งเป็นปัจจัยเสริมให้การจัดงานไมซ์มีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี
พัทยาถือเป็นเมืองไมซ์ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว มีสถานประกอบการด้านไมซ์ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ศูนย์ประชุมเกิดขึ้นจำนวนมาก ดังนั้น TCEB จึงต้องเร่งผลักดันการสร้างมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้สถานประกอบการมีมาตรฐานในการรองรับการจัดงานไมซ์ได้อย่างมีคุณภาพทั้งในประเภทห้องประชุม ประเภทสถานที่จัดงานแสดงสินค้า และประเภทสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ
“TCEB ยังจะสานต่อการอบรมให้ความรู้ด้านการตรวจประเมินมาตรฐาน TMVS กับกลุ่มผู้ประกอบการ ไมซ์ในเมืองพัทยาและสำหรับสถานประกอบการที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน TMVS แล้วจะดำเนินการยกระดับการพัฒนาบุคลากรให้เกิดความเชี่ยวชาญด้านการบริหารสถานที่จัดงานโดยมีหลักสูตร Venue Management Course หรือ VMC) ซึ่งได้ทำการจัดอบรมรุ่นที่ 1 ไปแล้ว มีผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรนี้ทั้งหมด 30 คนในเมืองพัทยา และจะมีการจัดอบรมอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2565 เพื่อให้เมืองพัทยามีบุคลากรที่มีคุณภาพในการบริหารสถานที่การจัดงานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน”
นางอรชร กล่าวด้วยว่า สำหรับแผนการดำเนินงานเพื่อช่วยส่งเสริมการตลาดให้กับสถานประกอบการไมซ์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน TMVS นั้น ได้จัดทำหนังสือ (Directory) รวบรวมรายชื่อสถานประกอบการที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเพื่อสื่อสารไปยังหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อนำหนังสือรายชื่อนี้ไปทำการตลาดในต่างประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำป้ายตราสัญลักษณ์มาตรฐาน TMVS โดยได้จัดให้มีพิธีมอบตราสัญลักษณ์แก่สถานประกอบการที่ผ่านการรับรอง เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ การส่งเสริมการตลาด และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่สถานประกอบการในเมืองพัทยาด้วยเช่นกัน
สำหรับปี 2562 TCEB ยังคงวางแผนการพัฒนาเมืองไมซ์พัทยาอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับ EEC ในการขับเคลื่อนไมซ์ผ่าน 6 โครงการไฮไลท์ ประกอบด้วย
1.โครงการพัฒนาความพร้อมของพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ สามารถรองรับอุตสาหกรรมไมซ์แห่งใหม่ของประเทศไทย หรือ Eastern MICE Corridor
2.โครงการส่งเสริมการดึงงานประชุม สัมมนา งานแสดงนิทรรศการ และงานมหกรรมนานาชาติเข้ามาจัดในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ Thailand 4.0
3.โครงการจัดตั้งสถาบันไมซ์แห่งอาเซียน เพื่อเป็นศูนย์ประเมินมาตรฐานอุตสาหกรรมไมซ์ ศูนย์กระจายองค์ความรู้ และศูนย์ทดสอบฝีมือแรงงานไมซ์
4.โครงการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ อันประกอบด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจและสถาบันการศึกษา
5.โครงการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมไมซ์
6.โครงการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยนำแหล่งท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ของชุมชนมารองรับอุตสาหกรรมไมซ์
“เคป ดารา รีสอร์ท” รับกลุ่มลูกค้าไมซ์ 70%
น.ส.อรวิลาสินี สืบจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายขาย โรงแรมเคป ดารา รีสอร์ท พัทยา กล่าวว่า การได้รับมาตรฐาน TMVS สามารถยืนยันได้ว่า ห้องประชุมสัมมนานั้นมีความเหมาะสมตามมาตรฐานการจัดงานในระดับสากล เป็นการเพิ่มความมั่นใจในคุณภาพของผู้ประกอบธุรกิจไมซ์ในไทยให้กลุ่มนักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขยายตลาดการจัดประชุมและการท่องเที่ยว เน้นตลาด เอเชีย ยุโรป อเมริกา และโอเชียเนีย ตามลำดับ ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะเป็นจุดหมายของการจัดงานไมซ์ ทั้งในระดับประเทศและในระดับพื้นที่
“เคป ดารา รีสอร์ท มีความภูมิใจและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับการตรวจสอบคัดเลือกและผ่านการรับรองตรา TMVS เพื่อตอบรับนโยบายของรัฐบาลไทยในการดึงกลุ่มนักเดินทางไมซ์จากตลาดต่างประเทศมายังประเทศไทย สำหรับห้องประชุมที่ เคป ดารา รีสอร์ท พัทยา สามารถให้การบริการอย่างเต็มรูปแบบ มีห้องประชุมที่สามารถรองรับได้ตั้งแต่ 10–700 คน มีอุปกรณ์ครบครันที่ใช้สำหรับสัมมนาแก่ผู้ร่วมงาน ทั้งระบบเสียง อุปกรณ์ รวมถึงทีมงานที่มีความเป็นมืออาชีพไว้คอยให้บริการ
น.ส.อรวิลาสินี กล่าวในตอนท้ายว่า จุดเด่นของห้องประชุม “เคป ดารา รีสอร์ท”คือห้อง Vela Grand Ballroom มีขนาดห้องกว้างถึง 577 ตารางเมตร และ เพดานสูงถึง 7.2 เมตร เป็นห้องประชุมแบบ Day Light ซึ่งจะได้รับแสงธรรมชาติและวิวทะเลที่สวยงามของอ่าวไทยในขณะที่ได้มาประชุมสัมมนา รวมถึงการเดินทางมาสัมมนาจากทั้งในและประเทศเพื่อนบ้านก็สะดวกสบายมากขึ้น เพราะมีเที่ยวบินที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองต่าง ๆ ในประเทศไทยไปยังไมซ์ซิตี้ เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ และพัทยา (อู่ตะเภา) อีกด้วย
หลังจากที่ “เคป ดารา รีสอร์ท พัทยา” ได้รับตราสัญลักษณ์ TMVS แล้ว จะเห็นได้ว่ามีกลุ่มลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติ และกลุ่มนักธุรกิจ รวมถึงหน่วยงานท่องเที่ยวประเทศต่าง ๆ เข้ามาใช้บริการมากขึ้น โดยปัจจุบันมีลูกค้ากลุ่มไมซ์ประมาณ 70% ส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชน 80% ภาครัฐ 20% ส่วนอีก 30% เป็นนักท่องเที่ยวทั่วไป ต่อปีมีอัตราเข้าพักเฉลี่ยประมาณ 80% แสดงให้เห็นว่าตราสัญลักษณ์ TMVS เป็นองค์ประกอบในการสร้างความมั่นใจและมีผลต่อการตัดสินใจใช้บริการของลูกค้ามากขึ้น
PEACH เตรียมความพร้อมรับการจัดงานรูปแบบใหม่
น.ส.มาลิสา ลุทซี ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขาย รอยัล คลิฟ โฮเต็ล กรุ๊ป และศูนย์ประชุมนานาชาติพีช พัทยา (PEACH) กล่าวว่า PEACH ถือเป็นศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ที่โดดเด่นและสำคัญที่สุดนอกเขตกรุงเทพฯ มีพื้นที่ 2.35 หมื่นตารางเมตร เพดานสูงถึง 9.5 เมตร ไม่มีเสา ความสูง 6 ชั้น สามารถรองรับผู้เข้าร่วมประชุมได้มากกว่า 1 หมื่นราย โดยมีห้องประชุมที่หลากหลาย ตั้งแต่ห้องโถงขนาดใหญ่ไปจนถึงห้องประชุมขนาดย่อม 18 ห้อง ที่ได้รับการออกแบบพิเศษสำหรับการจัดงานที่หลากหลาย เช่น งานแต่งงาน งานแสดงคอนเสิร์ต งานแสดงสินค้า การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ การจัดนิทรรศการ การประชุมนานาชาติ และอื่น ๆ อีกมากมาย
“หลังจากที่เมืองพัทยาได้รับการส่งเสริมให้เป็นหนึ่งในพื้นที่ของ 3 จังหวัดในโครงการ EEC เนื่องจากตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของภูมิภาคอาเซียน ทำให้เรามีการพัฒนาไปพร้อม ๆ กันแบบเต็มรูปแบบกับธุรกิจทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นทางด้านขนส่ง คมนาคม อาหาร สายการบิน ที่พัก บุคลากร และอื่น ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างรูปแบบการจัดงานใหม่ ๆ ที่น่าประทับใจและดึงดูดนักธุรกิจกลุ่มไมซ์ที่จะเดินทางมาเมืองพัทยาในอนาคต”
น.ส.มาลิสา กล่าวอีกว่า มาตรฐาน TMVS ถือเป็นสัญลักษณ์ที่การันตีสถานที่จัดงานว่าได้มาตรฐานสากล เหมาะสมกับการจัดงานประเภทต่าง ๆ เพื่อพัฒนาธุรกิจไมซ์ให้ประสบความสำเร็จก้าวไกลในระยะยาวและเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก การที่ PEACH ได้รับการรับรองมาตรฐานนี้ จึงแสดงถึงมาตรฐานและการบริการที่โดดเด่นของศูนย์ประชุม รวมถึงการเป็นที่รู้จักในฐานะสถานที่ยอดนิยมในการจัดการประชุมชั้นนำระดับโลก ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงความสามารถของทีมงานทุกคนที่เป็นมืออาชีพในการตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายได้อย่างดีเยี่ยม พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย และครบครัน ทำให้ลูกค้ามีความมั่นใจในคุณภาพระดับสากลของศูนย์ประชุมมากยิ่งขึ้นเมื่อได้มีการรับรองด้วยมาตรฐาน TMVS
“สวนนงนุช” ยื่นขอรับมาตรฐาน 3 ด้าน
น.ส.มยุรี สมบูรณ์ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป “สวนนงนุช” ฝ่ายธุรกิจไมซ์ กล่าวว่า “นงนุช เทรดดิชั่น เซ็นเตอร์” (Noongnooch Tradition Hall : NTH) เป็นอาคาร 2 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 7.5 พันตารางเมตร โถงนิทรรศการมีพื้นที่ใช้สอยรวม 3,168 ตารางเมตร เพดานสูง 8 เมตร สามารถรองรับผู้ร่วมงานได้มากกว่า 5 พันคน สามารถแบ่งห้องประชุมย่อยได้จำนวน 5 ห้อง มีพื้นที่ใช้สอยห้องละ 144 ตารางเมตร พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน และทันสมัย ประกอบด้วยห้องสำหรับจัดเลี้ยง ห้องประชุมที่รองรับการจัดงานทุกประเภท ทั้งในระดับชาติ รวมถึงระดับนานาชาติ ออกแบบให้มีความสะดวกสบายทันสมัย ถ่ายถอดออกมาสไตล์โมเดิร์นลอฟท์ ลานจอดรถสามารถรองรับผู้มาใช้บริการได้มากกว่า 600 คัน ทั้งยังสามารถดัดแปลงเพื่อสร้างสรรค์รูปแบบกิจกรรมกลางแจ้งลักษณะอื่น ๆ ได้อีกด้วย
“NTH ได้รับมาตรฐาน TMVS เมื่อต้นปีที่ผ่านมาพร้อม ๆ กับการเปิดใช้งานในช่วงปลายปี 2560 จากสถิติการมาใช้บริการหลังจากที่ได้รับมาตรฐาน TMVS แสดงให้เห็นว่ามีลูกค้ามาใช้บริการเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากครึ่งปีแรก โดยมีจำนวนงานเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วงครึ่งปีหลัง ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 จนถึงปัจจุบัน”
น.ส.มยุรี กล่าวอีกว่า สำหรับศูนย์ประชุมนานาชาตินงนุชพัทยา หรือ NICE เป็นหนึ่งในศูนย์ประชุมและแสดงนิทรรศการที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก โดยมีพื้นที่ใช้สอยกว่า 1.8 หมื่นตารางเมตร สามารถรองรับรูปแบบการจัดงานทุกประเภท ทั้งระดับชาติและนานาชาติ ตัวอาคารมีขนาดใหญ่ใช้สำหรับการประชุม และแสดงสินค้า อาคารศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าเป็นอาคาร 3 ชั้นขนาดใหญ่ แบ่งพื้นที่ให้บริการออกเป็น 3 ส่วนคือ โถงนิทรรศการ มีพื้นที่ใช้สอย รวมกว่า 5,760 ตารางเมตร รองรับผู้ร่วมงานได้มากถึง 1 หมื่นคน นอกจากนี้ยังมีห้องประชุม A, B มีพื้นที่ใช้สอยห้องละ 240 ตารางเมตร และห้องประชุมชั้นใต้ดิน (ห้องประชุม C, D) ที่พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัย
NICE ถูกออกแบบให้มีความสะดวกสบาย ทันสมัย ผสานความโมเดิร์น ถ่ายทอดรูปแบบอาคารออกมาในสไตล์ลอท์ฟได้อย่างสวยงามและมีความลงตัว ลานจอดรถสามารถรองรับผู้มาใช้บริการได้มากกว่า 1 พันคัน ทั้งยังสามารถดัดแปลงพื้นที่เพื่อสร้างสรรค์รูปแบบการจัดกิจกรรมกลางแจ้งลักษณะต่างๆ ได้ด้วย
“ในปี 2561 NICE ได้ยื่นขอมาตรฐาน TMVS พร้อมกันทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทห้องประชุม สถานที่จัดงานแสดงสินค้า และสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ แสดงให้เห็นว่าต้องมีความพร้อมในทุกด้านจึงจะทำได้ ประกอบกับการวางนโยบายแผนงานในอนาคต ตลอดจนพนักงานของ NICE สามารถดำเนินการตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้จนประสบความสำเร็จ”