Special Story » ดำเนินธุรกิจวิศวกรรมก่อสร้างอย่างไรให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

ดำเนินธุรกิจวิศวกรรมก่อสร้างอย่างไรให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

19 พฤศจิกายน 2018
0

บทความโดย นายณัษฐา ประโมจนีย์

รองกรรมการผู้จัดการ

บริษัท อิตัลไทยวิศวกรรม จำกัด (ITALTHAI Engineering : ITE)

 

alivesonline.com : “ธุรกิจก่อสร้าง” นับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องด้วยการดำเนินธุรกิจขึ้นอยู่กับความสามารถในการส่งมอบงานที่มีคุณภาพภายในกำหนดเวลาตามสัญญา ความสามารถในการลดต้นทุนงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมไปถึงประสบการณ์ของเจ้าของกิจการและทีมงานซึ่งมีผลต่อความเสี่ยงที่ส่งผลต่อความสำเร็จของงานที่ได้รับ

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลทำให้ธุรกิจก่อสร้างเกิดความเสี่ยงสูง อาทิ การแข่งขันราคาในการประมูล, การผูกมัดในการทำงานด้วยสัญญาที่อาจไม่เป็นธรรม, เจ้าของงาน หรือลูกค้าเหนียวหนี้ หรือไม่ชำระหนี้, การถ่ายความเสี่ยงของโครงการลงทุนต่าง ๆ ของผู้ลงทุนให้กับผู้รับเหมารับภาระแทน, การถูกปรับเนื่องจากส่งงานล่าช้า หรือไม่ได้ผลงานตามสัญญา (Delay and Performance Liquidated Damages), การปรับราคา หรือเกิดความล่าช้าจากซัปพลายเออร์ หรือผู้รับเหมาช่วง, ทีมงานลุยทำงานอย่างเดียวไม่คำนึงถึงค่าใช้จ่าย หรือแม้แต่การขาดการบันทึกข้อมูลค่าใช้จ่ายโครงการ ฯลฯ โดยปัจจัยดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่ผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์ต่างเคยประสบปัญหาดังกล่าวมาแล้วแทบทุกราย

การแก้ปัญหานั้นโดยส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับขนาดของกิจการและตัวเจ้าของกิจการเป็นสำคัญ อาทิ หากเป็นกิจการขนาดเล็ก เจ้าของกิจการจะลงมาลุยแก้ปัญหาเอง ดูแลเกือบทุกขั้นด้วยตัวเองเพื่อป้องกันความผิดพลาด หากเป็นกิจการขนาดใหญ่ขึ้นมาจะดำเนินการสรรหาผู้จัดการโครงการที่มีฝีมือและประสบการณ์ที่น่าเชื่อถือและไว้ใจได้มาบริหารแทน เพื่อสร้างหลักประกันให้โครงการสำเร็จอย่างมีกำไรได้ซึ่งปัจจุบัน การหาผู้จัดการโครงการที่มีคุณสมบัติดังกล่าวค่อนข้างยาก จึงมีผู้รับเหมาหลายรายที่ต้องการเติบโตอย่างรวดเร็วและพร้อมที่จะเสี่ยงทั้งโดยยอมเสนอราคางานต่ำ ๆ โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงข้างหน้าเพื่อให้ได้งาน ทั้งที่ไม่ยังสามารถหาทีมงานทีมีความสามารถมาเสริมได้ ในขณะเดียวกันการบริหารภายในก็ขาดระบบ ผลก็คือ งานขาดทุน เงินสดหมุนเวียนไม่เพียงพอ ทำให้งานหยุดชะงักเพราะไม่มีเงินจ่ายคนงาน, ผู้รับเหมาช่วง รวมถึงซัปพลายเออร์ก่อให้เกิดความล้มเหลว ส่งงานล่าช้ากว่าสัญญาจนถูกปรับ ถูกฟ้องร้อง บังคับชำระหนี้และล้มละลายในที่สุด บางรายอาจเปลี่ยนชื่อทั้งของกิจการและตนเองเพื่อหลบเหลี่ยงและจัดตั้งกิจการใหม่เปลี่ยนชื่อใหม่ วนเวียนเช่นนี้ในธุรกิจก่อสร้าง

แม้ว่าธุรกิจก่อสร้างจะมีความเสี่ยงดังที่ได้นำเสนอข้างต้น แต่ก็มีกิจการจำนวนไม่น้อยที่สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ด้วยการลดการพึ่งพาความสามารถส่วนบุคคลและเพิ่มระบบการบริหารที่มีประสิทธิผล โดยใช้เทคโนโลยีในการบริหารงานโครงการและความคุมทรัพยากรมาช่วยตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างหลักประกันในการดำเนินโครงการให้เสร็จได้ทันตามกำหนดเวลา ด้วยผลงานที่สอดคล้องตามความต้องการของลูกค้า (Specification) ตามสัญญา

นอกจากนี้ การทำงานอย่างปลอดภัยไร้อุบัติเหตุ ยังสามารถควบคุมต้นทุนและกระแสเงินสดได้ตามเป้าหมาย ทำให้งานไม่หยุดชะงักได้ ทั้งยังมีระบบงานที่สามารถให้รายงานสถานการณ์ค่าใช้จ่ายเทียบกับงบประมาณ และกระแสเงินสดที่เป็นปัจจุบันทันต่อเหตุการณ์ ทำให้มีผลกำไรและกระแสเงินสดที่จะหล่อเลี้ยงกิจการให้เติบโตอย่างมั่นคง พร้อมไปกับการเพิ่มพูนความพึงพอใจให้กับลูกค้า สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าทั่วไปในการบริการที่มีคุณภาพ เสร็จทันเวลาอย่างสม่ำเสมอในทุก ๆ โครงการที่ได้รับมา ส่งผลให้มีโอกาสได้รับงานมากขึ้น ซึ่งเรียกว่า “ระบบการบริหารและเทคโนโลยีเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนดังกล่าว” ซึ่งได้แก่

1.ระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001 : 2015 มีเป้าหมายที่จะแสดงให้เห็นถึงความสามารถของกิจการในการส่งมอบผลงานให้ลูกค้าได้คุณภาพตามความต้องการตามสัญญาและสอดคล้องกับข้อกำหนด ข้อบังคับ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามสัญญาอย่างสม่ำเสมอในทุก ๆ สัญญาที่ได้รับ

2.ระบบบริหารอาชีวอนามัยและความปลอดภัย OHSAS 18001: 2007 และ ISO 45001:2018 มุ่งที่จะควบคุมให้การปฏิบัติงานก่อสร้างมีความปลอดภัยไร้อุบัติเหตุโดยที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคนมีสุขภาพอาชีวอนามัยที่ดี พร้อมในการทำงานสู่เป้าหมายทั้งร่างกายและจิตใจในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย

มาตรฐานทั้ง 2 ระบบนี้เป็นระบบบริหารที่เป็นสากลได้รับการรับรองทั่วโลก โดยใช้หลักการการจัดกระบวนการทำงานที่เหมาะสม พร้อมการกำหนดเป้าหมายในแต่ละกระบวนการ (Process Approach) เพื่อการทำงานให้บรรลุเป้าหมายของทั้งโครงการ ด้วยวงจรของ Deming หรือ PDCA คือการกำหนดเป้าหมายและวางแผน (Plan) การซักซ้อมแผนและการนำไปปฏิบัติ (Do) การตรวจสอบผลการทำงานเทียบกับเป้าหมายเป็นระยะ ๆ (Check) และการวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงการทำงานในรอบต่อไปให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง (Action) วงจร PDCA ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยสากลที่จะสามารถสร้างหลักประกันในการจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอ และการปรับปรุงพัฒนาการทำงานและผลงานของแต่ละกระบวนการอย่างต่อเนื่อง

ในขณะเดียวกันเพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้ผลงานเบี่ยงเบนจากเป้าหมายและเพิ่มโอกาส สร้างหลักประกันในการบรรลุผลงานให้ได้ตามเป้าหมายหรือดีกว่า ด้วยเหตุนี้ มาตรฐานทั้ง 2 จึงได้กำหนดให้มีการคำนึงถึงความเสี่ยงต่อการเบี่ยงเบนจากเป้าหมายในทุก ๆ ครั้ง ที่มีการวางแผนหรือที่เรียกว่า Risk – Based Thinking เหล่านี้คือหลักการสำคัญในการพัฒนาการดำเนินการโครงการสู่คุณภาพและความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง อันนำไปสู่การเพิ่มพูนความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้ในที่สุด

3.เทคโนโลยีการวางแผนและควบคุมโครงการด้วย PERT / CPM ในปัจจุบันมีซอฟต์แวร์ในการวางแผนและควบคุมโครงการเช่นนี้อยู่หลายรายที่เป็นที่ยอมรับในการนำมาใช้บริหารโครงการตามขนาดของโครงการนั้น ๆ ซอฟต์แวร์เหล่านี้จะเป็นแก่นและเครื่องมือสำคัญเพื่อกำหนดทิศทางให้แก่การบริหารงานโครงการตามมาตรฐานการบริหารข้างตน ช่วยทำให้ผู้บริหารโครงการทราบถึงกระบวนการ หรืองานต่าง ๆ ที่จะต้องดำเนินการตามลำดับพร้อมทั้งความสัมพันธ์ในแต่ละงาน และกำหนดเวลาการเริ่มและเสร็จ รวมถึงทรัพยากรที่ใช้ในแต่ละงานของโครงการ สามารถทราบถึงสถานะความก้าวหน้า หรือความล่าช้าในงานต่าง ๆ และผลการทบต่อความสำเร็จของงานทั้งหมด พร้อมทั้งทราบถึงการจัดการเพื่อการเร่งรัดให้โครงการเสร็จตามเป้าหมาย ด้วยการจัดสรรทรัพยากรทั้งแรงงานและเครื่องจักรให้เพียงพอโดยเฉพาะงานที่เป็นจุดชี้เป็นชี้ตายของโครงการ หรือ Critical Path ได้ทันเวลา

4.การใช้ระบบงบประมาณ (Budgeting) และระบบการวางแผนทรัพยากร (Enterprise Resource Planning-ERP) ระบบนี้จะทำให้ผู้บริหารโครงการทราบถึงสถานะเงินสดหมุนเวียนและค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปในโครงการตลอดเวลา ทำให้สามารถความคุ้มค่าใช้จ่ายและพิจารณาในการเพิ่มทรัพยากร เพื่อแลกกับกับผลลัพธ์ที่ได้ในการเร่งรัดงานให้ได้ตามเป้าหมาย ทำให้สามารถสร้างประโยชน์สูงสุดในการบริหารโครงการตามสัญญาได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ระบบการบริหารดังกล่าว นอกจากจะสามารถใช้ในการบริหารภายในแล้ว เจ้าของงาน, ผู้ลงทุน หรือที่ปรึกษาโครงการในปัจจุบัน โดยเฉพาะที่เป็นเงินลงทุนจากนานาชาติ หรือการลงทุนที่มีธนาคารสนับสนุน ก็มักจะกำหนดให้เป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้เข้าร่วมประมูลงานก่อสร้างโครงการ เพื่อเป็นหลักประกันความสำเร็จของงานอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การนำระบบและเทคโนโลยีใหม่มาใช้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น เจ้าของกิจการอาจจะต้องใช้เวลาในการปรับใช้ระบบและเทคโนโลยีใหม่ ให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมขององค์กรอย่างแยบยล (Customization) ด้วยความความเชื่อมั่นและศรัทธาในระบบ เทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ จากผู้บริหารระดับสูง หรือเจ้าของกิจการเอง ตลอดจนความร่วมมือจากผู้ปฏิบัติงานในองค์กรทุกคน ในขณะเดียวกันก็ต้องอดทนกับการปรับตัวขององค์กรเพื่อให้เข้ากับระบบเทคโนโลยีและวัฒนธรรมใหม่ขององค์กรอีกด้วย

ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทุกธุรกิจก็ต้องแข่งขันกันมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจก่อสร้าง แม้ว่าจะมีโครงการก่อสร้างในประเทศเราเกิดขึ้นอย่างมากในอนาคต แต่ก็มีผู้แข่งขันหน้าใหม่ที่แข็งแกร่งจากต่างประเทศเข้ามารับงานในประเทศเรามากขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้นผู้รับเหมาไทยควรจะต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ หรือบริบททางธุรกิจในปัจจุบันจึงสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน

ถึงเวลาตัดสินใจแล้วหรือยังที่จะพัฒนานำระบบและเทคโนโลยีใหม่ที่ให้ประสิทธิผลมากกว่า มาใช้ในการทำงานก่อนที่จะสายเกินไป.