Special Story » [ชมคลิป] ด้วยพระเมตตาของ “พ่อ” จึงก่อเกิด “สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์”

[ชมคลิป] ด้วยพระเมตตาของ “พ่อ” จึงก่อเกิด “สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์”

8 กันยายน 2018
0

alivesonline.com : จากพระราชปรารภและพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ที่มีพระราชประสงค์ให้มีสถานพยาบาล หรือโรงพยาบาลของรัฐขนาดใหญ่ระดับโรงเรียนแพทย์เกิดขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อให้การดูแลและให้บริการตรวจรักษาประชาชนในจังหวัดสมุทรปราการซึ่งส่วนใหญ่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อประกอบอาชีพในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในสมุทรปราการ รวมไปถึงประชาชนในจังหวัดชายฝั่งตะวันออก ตั้งแต่ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสระแก้ว เนื่องเพราะโรงพยาบาลในจังหวัดสมุทรปราการส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเอกชน ประชาชนซึ่งมีรายได้น้อยจึงไม่สามารถเข้าถึงบริการของโรงพยาบาลเอกชนเหล่านั้นได้

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2560

“สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์” คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเป็นโครงการที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 7 รอบ 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 เพื่อเพิ่มวิทยาลัยการแพทย์ในจังหวัดสมุทรปราการและข้างเคียง รวมทั้งเป็นการขยายโอกาสการเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์ของประชาชนในพื้นที่อีกด้วย

วันเวลาผ่านไปเป็นเวลาจวบ 6 ปี “สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์” จึงบังเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยมีอาคารต่าง ๆ ประกอบด้วย 1.โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ โรงพยาบาลและหอผู้ป่วยในขนาด 460 เตียง 2.ศาลาประชาคมและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี 3.ศูนย์การเรียนรู้และวิจัยเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ 4.หอพักนักศึกษาและบุคลากร 5.อาคารสันทนาการ 6.หอพักเจ้าหน้าที่ 7.พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 8.อาคารจอดรถ โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2560

  • เร่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์รองรับผู้ป่วย 1 ล้านรายต่อปี

แนวคิดหลักในการก่อสร้าง “สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์” นอกจากให้บริการรักษาผู้ป่วยในแต่ละปี ซึ่งได้ประมาณการจำนวนผู้ป่วยนอกไว้ที่ 1 ล้านรายต่อปี และผู้ป่วยใน 1.7 หมื่นรายต่อปีแล้ว ยังเป็นสถาบันการวิจัยและพื้นที่การศึกษา โดยเฉพาะในระดับปริญญาตรีของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งคาดว่าจะมีความพร้อมในการเปิดสอนอย่างเต็มรูปแบบในปี 2564 เพื่อผลิตบัณฑิตแพทย์ปีละ 212 คน บัณฑิตพยาบาลปีละ 250 คน และบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์อื่น ๆ ปีละ 750 คน โดยมุ่งจะให้เป็นสถาบันการศึกษาที่มีสิ่งแวดล้อมและภูมิสถาปัตยกรรมที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจและจินตนาการอย่างเต็มที่ ภายใต้กรอบแนวคิด 4E ดังนี้

1.Education Reform : เป็นการสร้างโอกาสที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จะปฏิรูประบบการศึกษาและปฏิรูปหลักสูตรใหม่ซึ่งจะสามารถทำได้มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในสถานที่ใหม่ร่วมกับกรอบแนวคิดใหม่

2.Environmental Friendly : คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของบุคลากร นักศึกษา และผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงานพร้อมสรรพ ทั้งศูนย์การเรียนรู้ที่ทันสมัยที่สุด มีระบบสารสนเทศ เครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบไร้สายครอบคลุมทั้งบริเวณ มีการออกแบบหอพักให้มีความน่าอยู่ โล่ง โปร่ง ไม่แออัดและใกล้ชิดกับธรรมชาติ มีอาคารนันทนาการเพื่อการพักผ่อนและออกกำลังกาย เพื่อให้ครูและศิษย์อาศัยอยู่ใกล้ชิดกันอย่างมีความสุข ก่อให้เกิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ เป็นชุมชนของปัญญาชน และเป็นแหล่งเพาะบ่มปัญญาและการเรียนรู้อย่างแท้จริง

3.Energy Saving : ภูมิสถาปัตยกรรมของ “สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์” เน้นความเป็นมิตรและกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม เช่น มีการบำบัดน้ำเสียและนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ การจัดศูนย์ Power Plant ไว้อย่างเป็นสัดส่วนปราศจากเสียงรบกวนและควันพิษ การออกแบบทางคนเดินควบคู่กับถนน สนับสนุนให้มีการสัญจรโดยรถจักรยานและไม่อนุญาตให้มีการใช้จักรยานยนต์ เป็นต้น

4.Excellent Living and Working Condition : คำนึงถึงการประหยัดพลังงาน โดยมุ่งอาศัยพลังงานทางเลือกเข้ามาร่วมให้มากที่สุด

  • ย้อนที่มาโครงการทางการแพทย์ 5 หมื่นล้านบาท

กว่าจะถึงวันนี้ของ “สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์” โรงพยาบาลขนาดใหญ่ จำนวน 460 เตียง บนพื้นที่ 319 ไร่ ต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ นั้น ผู้ใช้เฟซบุ๊กนาม “เวหา จักรพยุหะ” ได้โพสต์ไว้ว่า

“…จากโครงการลูกพระดาบส ถ.สุขุมวิท ต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ที่ “พ่อ” ในหลวงรัชกาลที่ ๙ สร้างไว้บนเนื้อที่ 400 กว่าไร่ เพื่อให้ลูกหลานคนไทยที่ยากจนได้มาฝึกเรียนวิชาชีพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรไร่นาสวนผสม ช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างเชื่อม ช่างซ่อมบำรุง และเคหะบริบาล (ดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล) ทุกคนกินฟรี อยู่ฟรี มีเงินเดือน เมื่อเรียนจบแล้วสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ทันที

วันหนึ่งเมื่อประมาณสัก 10 ปีที่ผ่านมา วันนั้น พ่อนั่งดูผืนน้ำ ผืนดิน รอบ ๆ โครงการลูกพระดาบส พ่อเห็นภาพของลูกหลานที่เจ็บป่วย พ่อเห็นภาพของการจราจรที่คับคั่ง พ่อคงถามตัวเองว่า ลูกหลานของพ่อที่อยู่ในแถบนี้คงลำบากยากเย็นไม่น้อยต่อการที่จะหอบหิ้วกันไปหาหมอในโรงพยาบาลที่อยู่ในกรุงเทพฯ สิ่งนี้คงทำให้พ่อคิดและคิดว่า ต้องทำอย่างไรถึงจะมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่สักแห่ง เพื่อดูแลลูกหลานที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ ขณะที่ลูกหลานที่อยู่ที่แปดริ้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี และสระแก้ว ก็จะได้มาหาหมอกันที่นี่ด้วยโดยไม่ต้องเดินทางไปถึงกรุงเทพฯ

พ่อได้บอกกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า “ให้ไปลองคิดหาวิธี”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงเล่าเรื่องนี้ให้กับคณะแพทย์ พยาบาลและบุคคลากรของโรงพยาบาลรามาธิบดี แล้วให้นำไปคิดเป็นการบ้านว่า จะสร้างโรงพยาบาลรามาธิบดีอีกสักแห่งที่จังหวัดสมุทรปราการได้หรือไม่

ทุกคนใช้เวลาปรึกษาหารือกันเกือบหนึ่งปี จึงกราบทูลกับสมเด็จพระเทพฯ ว่า สามารถทำได้ จากนั้นจึงเริ่มจากการหาทุน หางบประมาณ ขอรับบริจาค ด้วยเป้าหมายค่าก่อสร้าง ค่าอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์กับงบประมาณที่ตั้งไว้ 7 พันล้านบาท เมื่อ 7-8 ปีก่อน โดยเริ่มจากการเช่าที่ดินราชพัสดุ ณ ต.บางปลา อ. บางพลี จ.สมุทรปราการ จึงเริ่มลงมือก่อสร้าง แต่ในที่สุดการดำเนินการทั้งปวงได้ทำให้เห็นว่า จะต้องใช้เงินมากเกือบ1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อจะได้โรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดของประเทศไทย และที่นี่จะเป็นโรงเรียนแพทย์สำหรับนักศึกษาแพทย์รามาธิบดีทั้งหมด

แต่ที่ผ่านมา คนสมุทรปราการเกือบทั้งหมดไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อนเลย…”

  • ให้ทุกครั้งของการกดโทรศัพท์มือถือ เป็นมากกว่าการติดต่อสื่อสาร

ล่าสุด มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมทั้ง 5 เครือข่าย ได้แก่ AIS, CAT, DTAC, TOT และ TRUE เปิดช่องทางใหม่ในการบริจาคผ่านโทรศัพท์มือถือ ผ่านโครงการ “กด=ต่อชีวิต” (กด เท่ากับ ต่อชีวิต) เพื่อนำรายได้จากการบริจาคทั้งหมดสมทบทุนการซื้อเครื่องมือแพทย์ “สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์”

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวว่า ปัจจุบัน “สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์” เปิดให้บริการในส่วนคลินิกในเวลาและนอกเวลา อาทิ กุมารเวชกรรม จิตเวช จักษุวิทยา หน่วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู หน่วยโรคกระดูกและข้อ อายุรกรรม เป็นต้น พร้อมกันนั้นยังเปิดให้บริการในส่วนคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ สูติ-นรีเวช โดยมีผู้ป่วยนอกเข้ารับบริการเฉลี่ยวันละ 300–350 ราย

ขณะนี้ได้มีการย้ายผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องนอนพัก (Admit) จากแผนกอุบัติเหตุและเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลรามาธิบดี (พระราม 6) ไปรับการรักษาที่ “สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์” จำนวนหนึ่ง โดยมีแผนที่จะนำผู้ป่วยที่รอคิวนานในการผ่าตัด หรือผู้ป่วยที่รอคิวทำอัลตราซาวด์, CT Scan (ซีที สแกน) และ MRI Scan (เอ็มอาร์ไอ) ไปที่ “สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์” เช่นกัน โดยคาดว่าเมื่อเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบกลางปี 2562 จะสามารถดูแลผู้ป่วยได้มากกว่า 1 ล้านรายต่อปี

ทางด้าน นางสาวพรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวว่า มูลนิธิรามาธิบดีฯ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการระดมทุน โดยได้รับความร่วมมือและน้ำใจจากภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปมาตลอดระยะเวลากว่า 49 ปี โดยมูลนิธิฯ ได้นำเงินบริจาคที่ได้ไปช่วยเหลือผู้ป่วยผ่านโครงการ ๆ ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี อาทิ ทุนค่ารักษา ทุนซื้อเครื่องมือแพทย์ งบสร้างอาคารสถานที่ เป็นต้น

ในขณะนี้ ยังมีรายการจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ที่จำเป็นและสำคัญต่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การดำเนินโครงการนี้สามารถไปสู่เป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์ โดยในส่วนของการระดมทุนเพื่อก่อสร้างโครงการ “สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์” นั้น มูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 ผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นภายใต้แนวคิด ‘คำว่าให้…ไม่สิ้นสุด’ โดยมีกิจกรรมและช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่น่าสนใจ ทันสมัย และเข้าถึงประชาชนในวงกว้าง โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน และศิลปินดาราจิตอาสามากมาย เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ให้มาร่วมบริจาค ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์ กิจกรรมการกุศลหลากหลายรูปแบบบนสื่อต่าง ๆ การจำหน่ายของที่ระลึกที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ผู้มีชื่อเสียง รวมถึงสติกเกอร์ไลน์ฝีมือศิลปินระดับประเทศเพื่อให้การบริจาคเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย

สำหรับโครงการ “กด=ต่อชีวิต” (กด เท่ากับ ต่อชีวิต) เป็นความร่วมมือครั้งสำคัญจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ 5 ค่าย ได้แก่ AIS, CAT, DTAC, TOT และ TRUE ที่พร้อมใจกันสนับสนุนมูลนิธิรามาธิบดีฯ เปิดช่องทางใหม่ในการบริจาคผ่านทางมือถือ เพียงกดรหัส *948*1111*100# แล้วกดโทรออกก็สามารถร่วมบริจาคครั้งละ 100 บาท ได้ทั้งระบบรายเดือนและเติมเงิน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

นอกจากนี้ยังสามารถบริจาคสมทบทุนได้ที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ บัญชีกระแสรายวัน สาขารามาธิบดี เลขที่บัญชี 026-3-05216-3  ธนาคารกรุงเทพ บัญชีกระแสรายวัน สาขาศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (รพ.รามาธิบดี) เลขที่บัญชี 090-3-50015-5 เข้าชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ramafoundation.or.th หรือ โทร. 02 201 1111

ณ วันนี้ “สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์” จึงมิได้เป็นเพียง “การเติมเต็มความหวัง” ของประชาชนไทยที่จะได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่ยังเป็น “โอกาสทอง” ของบุคลากรรามาธิบดีที่จะใช้ความสามารถและศักยภาพที่มีอยู่ร่วมกันเป็นพลังที่จะก่อให้เกิดคุณูปการแก่สังคมไทยอย่างเต็มภาคภูมิ