Special Story » Thailand Friendly Design Expo 2018 รวมสุดยอดเทคโนโลยี-นวัตกรรม “อารยสถาปัตย์”

Thailand Friendly Design Expo 2018 รวมสุดยอดเทคโนโลยี-นวัตกรรม “อารยสถาปัตย์”

3 ธันวาคม 2018
0

alivesonline.com : ผ่านไปแล้วสำหรับ “Thailand Friendly Design Expo 2018” มหกรรมแสดงสินค้า เทคโนโลยี นวัตกรรม การออกแบบที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล (Friendly Design) เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย ตามแนวคิด “Smart Living for All : คุณภาพชีวิตที่นำสมัยเพื่อคนทั้งมวล” ที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ณ ฮอลล์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

การจัดงานครั้งนี้มี 5 โซนคุณภาพยกระดับทุกคุณภาพชีวิต ทั้งโซนคุณภาพชีวิตที่นำสมัย (Smart Living for All), โซนการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Design for All), โซนการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All), โซนอาหารเพื่อคนทั้งมวล (Food for All) และโซนสินค้า (Friendly Design) รวมถึงการบรรยายให้ความรู้และคุณค่าสาระมากมายในงาน สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดย ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ (Left No One Behind) คาดงานนี้ จะก่อให้เกิดเงินสะพัดกว่า 500 ล้านบาท

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า ประเทศไทยกำลังปรับตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โดยคาดว่าในปี 2564 ไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 20% เป็นการเข้าสู่สังคมคนสูงวัยอย่างสมบูรณ์ อีกทั้งประเทศไทยยังมีจำนวนผู้พิการเกือบ 2 ล้านคนซึ่งถือเป็นประชากรเกือบ 3% ของประเทศ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยตั้งแต่นี้เป็นต้นไป โดยเฉพาะเรื่องของ “อารยสถาปัตย์” หรือ “Friendly Design” ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้ดีขึ้น

“แนวคิดเรื่องอารยสถาปัตย์เพื่อสังคมและคนทั้งมวลจะเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 มากขึ้น สำหรับงาน Thailand Friendly Design Expo ครั้งนี้ กระทรวงฯ ได้จัดพื้นที่รวมรวบแนวความคิด Friendly Design จากทุกโซนในงานมาไว้ในพาวิลเลี่ยนของกระทรวงฯ เพื่อเป็นการจำลองสภาพแวดล้อมสังคมไทยในปัจจุบันและอนาคตที่มีนวัตกรรมอันหลากหลายซึ่งจะช่วยให้การดำเนินชีวิตของคนทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย โดยเฉพาะผู้พิการ และผู้สูงอายุมีความสะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้น” พลเอกอนันตพร กล่าว

ด้าน นายวีระ โรจนพจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม ได้เข้าร่วมขับเคลื่อนงานมหกรรมอารยสถาปัตย์ฯต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญในการออกแบบและสร้างทำสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เป็นอารยสถาปัตย์สำหรับคนสูงอายุ คนพิการ และคนที่ใช้รถเข็น โดย กระทรวงวัฒนธรรม ได้นำเสนอวัฒนธรรมเพื่อคนทั้งมวล ทั้งในแง่สิ่งปลูกสร้าง กิจกรรมการแสดงที่ส่งเสริมสิทธิความเสมอภาค ตลอดจนการเข้าถึงได้ของคนทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นเวทีสำคัญที่จะนำเสนอความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนเส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลของประเทศไทย และการต่อยอดขยายผลไปยังเส้นทางอื่น ๆ ให้คลอบคลุมทั้งประเทศต่อไป การจัดงานมหกรรมอารยสถาปัตย์ฯปีที่ 3 จึงเป็นสร้างโอกาสสำคัญให้ประเทศไทยพัฒนาสู่ความเป็นศูนย์กลางของการจัดแสดงสินค้า บริการ และธุรกิจที่เกี่ยวกับ Friendly Design ในภูมิภาคอาเซียนได้ในอนาคต

นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า อารยสถาปัตย์เป็นแนวคิดเชิงก้าวหน้า การเสริมสร้างความเป็นอารยสถาปัตย์เข้าไปในชีวิตประจำวัน เช่น ตึกอาคาร บ้านเรือน ห้างร้าน โรงงาน ตลอดจนสถานที่สาธารณะ หรือระบบขนส่งมวลชนต่าง ๆ จะทำให้คนทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย สามารถเข้าถึงการใช้งานได้ ใช้ประโยชน์ได้ สะดวก ปลอดภัย ก่อให้เกิดความเท่าเทียม และอิสระในการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งพิงผู้อื่น

นายกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล กล่าวถึงความสำคัญของการจัดงานในครั้งนี้ว่า จุดประสงค์ของงานในครั้งนี้คือการรวมพลังทุกภาคส่วนในสังคมให้มาร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็น “เมืองอารยสถาปัตย์” ที่คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย สามารถเข้าถึงได้ ใช้ประโยชน์ได้ สะดวก ทันสมัย ปลอดภัย  และเป็น ”เมืองท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล” ที่โดดเด่นชัดเจนในเวทีโลก

“หากเราบรรลุวัตถุประสงค์ของทั้ง 2 ข้อนี้ได้ย่อมส่งผลโดยตรงต่อคนพิการ รวมทั้ง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพักฟื้น มนุษย์ล้อ และครอบครัวที่มีเด็กเล็กที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ทั้งในการดำเนินชีวิตและการเดินทางท่องเที่ยว ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม การบริการ และการออกแบบที่เป็นอารยสถาปัตย์ ตามหลักการออกแบบที่เป็นมาตรฐานสากล และเป็นมิตรกับคนทั้งมวล หรือ Friendly Design ซึ่งเราได้รวบรวมมาจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อนำมาจัดแสดงให้ได้ชมกันภายในงานมหกรรมอารยสถาปัตย์ฯ ปีที่ 3 ในครั้งนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดเงินสะพัดจากธุรกิจเพื่อสังคมในงานนี้กว่า 500 ล้านบาท”

Thailand Friendly Design Expo 2018 : มหกรรมอารยสถาปัตย์และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 3 เป็นงานที่เกิดจากความร่วมมือทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจากทั่วโลก จัดขึ้นเพื่อแสดงถึงการสร้างสรรค์การออกแบบที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล (Friendly Design) อันเป็นปัจจัยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพักฟื้น ผู้พิการ และคนที่ใช้รถเข็น ให้ได้รับความสะดวกสบาย ทันสมัย และปลอดภัยมากยิ่งขึ้นในการดำเนินชีวิต รวมถึงได้รับความสะดวกสบายต่อการเดินทางพักผ่อนท่องเที่ยวมากขึ้น ด้วยการนำเสนอสินค้า, นวัตกรรม, เทคโนโลยี, การแพทย์, การออกแบบ และการบริการดูแลสุขภาพสำหรับคนทั้งมวล จากองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และบริษัทชั้นนำต่าง ๆ มากมายจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความเป็น “เมืองอารสถาปัตย์” ผ่านแนวความคิดหลักที่สอดคล้องกับสถานการณ์โลกยุคปัจจุบัน และเข้ากับยุคสมัยไทยแลนด์ 4.0 คือ “Smart Living for All : คุณภาพชีวิตที่นำสมัยเพื่อคนทั้งมวล”

ภายในงาน Thailand Friendly Design Expo 2018 ที่จัดขึ้นจึงมุ่งเน้นการดูแล รักษา ฟื้นฟู และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพักฟื้น ผู้พิการ และคนที่ใช้รถเข็น ให้ได้รับความสะดวก สบาย ทันสมัย และปลอดภัยมากยิ่งขึ้นในการดำเนินชีวิต รวมถึงการเดินทางพักผ่อนท่องเที่ยว

งาน Thailand Friendly Design Expo ครั้งนี้ เปี่ยมไปด้วยความสุขและสาระคุณค่ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นขบวนแห่รณรงค์สิทธิความเสมอภาค Friendly Design Carnival 2018 แห่งแรกและแห่งเดียวในโลก, การแสดงจากผู้สูงอายุ ผู้พิการ และมนุษย์ล้อจากหลายประเทศทั่วโลก, การบรรยายและเสวนาให้ความรู้โดยวิทยากรจากกลุ่ม Wellness Industry รวมไปถึงกิจกรรมส่งเสริมแนวคิดเพื่อคนทั้งมวล อย่าง Friendly Design Awards 2018 หรือการออกแบบที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวลของเยาวชน นิสิต นักศึกษาที่จะเป็นบันไดช่วยส่งเสริมหัวใจหลักของความสุขและความเท่าเทียม และยังเป็นกระบอกเสียงสำคัญให้คนทั่วไปได้รับรู้ ว่าทุกคนในสังคมพึงจะต้องปฏิบัติตามกติกาสังคมและกติกาโลกยุคใหม่ว่าทุกชีวิตเท่าเทียมกัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดย ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ (Left No One Behind) อีกต่อไป.