- alivesonline.com : แม้เป็นเพียง “กระแสดรามา” ในวงแคบ ๆ บนโลกโซเชียลมีเดีย แต่อาจก่อตัวเป็นพายุลูกใหญ่ที่ “ส่งพลัง” ออกสู่โลกออฟไลน์จนสร้างความเสียหายในทุกมิติที่เกินกว่าจะคาดการณ์ได้
ประเด็นข้างต้นน่าจะเป็นเรื่องปริวิตกที่ เจ้าของธุรกิจ Seafood Buffet a la carte หรือธุรกิจอาหารทะเลตามสั่งแบบบุฟเฟต์ชื่อดังแห่งเดียวในเมืองไทย กำลังต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้ หลังจากที่จัด “โปรโมชัน” เสมือน “กลัวรวย” ลดราคากระหน่ำอย่างต่อเนื่องโดยไม่จำเป็นต้องมีเทศกาล แต่มีราคา “ล่อใจ” ให้ผู้บริโภคต้องควักกระเป๋าโดย “ไม่ต้องยั้งใจ หรือคิดมาก” เพราะจากราคาปรกติคนละ 888 บาทต่อหนึ่งรอบมื้ออาหารภายในเวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง ตั้งแต่ช่วงเวลา 11.30-21.00 น. เพราะแต่โปรโมชันที่ออกมาดึงดูดลูกค้ากลับมีราคาที่ “คุ้มเกินเชื่อ” อีกทั้งแต่ละช่วงเวลาก็มีราคาไม่เท่ากัน ไล่ระดับลงมาตั้งแต่ 777 บาท 666 บาท 555 บาท 399 บาท 299 บาท 199 บาท 129 บาท 89 บาท และในราคาเทียบเท่าข้าวราดแกง หรือก๋วยเตี๋ยวธรรมดา ๆ เพียง 55 บาท เท่านั้นเอง !
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจแม้เพียงกระผีกที่ธุรกิจอาหารทะเลตามสั่งแบบบุฟเฟต์ชื่อดังรายนี้จะสร้างปรากฏการณ์ “ความคลั่งไคล้” และ “อุปาทานหมู่” ของผู้บริโภคจนถึงต้อง “เข้าแถวต่อคิว” รอกันยาวนาน ดังที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วจากกรณีของ “โรตีบอย” ตามมาด้วยโดนัท “คริสปี้ ครีม” (Krispy Kreme) และข้าวโพดป๊อปคอร์น “การ์เร็ต” (garrett)
เพียงแต่ธุรกิจอาหารทะเลตามสั่งแบบบุฟเฟต์รายนี้มีความพิเศษกว่าตรงที่ “จองเดือนนี้ หกเดือนหน้าถึงจะได้กิน” !
ประเด็นที่กำลังเป็นที่วิพากษ์อย่างทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงหนีไม่พ้นเรื่อง “สำนึกและจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ” ที่ขาดความใส่ใจในเรื่องของ “ความรู้สึก” ผู้บริโภค ด้วยเหตุผลสำคัญคือ “ขาดระบบบริหารการจัดการที่ดี” ในแทบจะทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่อง ไม่มีทีมงาน Call Center รับโทรศัพท์ และไม่มีทีมงานแอดมินแฟนเพจและไลน์ตอบกลับคำถามผู้บริโภค!
ยังไม่รวมปัญหาความล่าช้าในการจัดระบบโปรโมชัน การจำกัดจำนวนผู้ซื้อโปรโมชัน การรับจองคิว การจัดคิว และอื่น ๆ อีกหลากหลายประเด็นที่มีการกล่าวขานถึงบนโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งแม้เจ้าของธุรกิจจะมีความพยายามในการสื่อสารกับลูกค้าและผู้บริโภคทั่วไป แต่เหตุผลที่ชี้แจงมานั้น กลับมีค่าเป็นเพียง “ลมปากเปล่าที่ผ่านเลยไป” และ “สร้างภาพ” เท่านั้น !
หนำซ้ำกลับได้รับปฏิกริยาตอบกลับที่ “ส่งผลลบ” แทบจะทุกด้าน ดังนี้
ต้องยอมรับว่า “ชื่อเสียงและความโด่งดัง” ของธุรกิจอาหารทะเลตามสั่งแบบบุฟเฟต์ชื่อดังรายนี้ ได้มาเพราะความตั้งใจในการปลูกปั้นธุรกิจด้วยโมเดลใหม่ที่ไม่เหมือนใครจากชายหนุ่มทายาทรุ่นที่ 2 ผู้จบการศึกษาด้านรัฐศาสตร์แต่กลับมีความครีเอทเป็นเลิศ ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์สื่อหลายแขนงว่า
“การทำธุรกิจร้านอาหาร ถ้าแต่ละวันมีลูกค้า 100 คน ขายอย่างไรก็ไม่รวย แต่ถ้าขายได้วันละ 400 คน จ่ายคนละ 555 บาท เท่ากับว่าจะขายได้ถึง 2 แสนบาทต่อวัน”
สิ่งที่เขาคิดยังทำได้จริงด้วย “อาหารทะเลชั้นดีรสเลิศ” แบบบุฟเฟต์มากกว่า 20 รายการ ทั้งหอยนางรมสดตัวโต ๆ ปลากะพงทอดน้ำปลาตัวเขื่อง ต้มยำกุ้ง กรรเชียงปูผัดผงกะหรี่ และอื่น ๆ อีกมากมาย ในขณะที่สถานที่ร้านอาหารยังถูกตบแต่งอย่างวิจิตรให้ละม้ายคล้าย “โรงละคร” ที่ยังสามารถเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วยการให้เช่าใช้เป็นสถานที่จัดงานต่าง ๆ
คำถามที่ผู้บริโภคที่ไม่เคยทราบพื้นฐานธุรกิจของเขามาก่อนจึงคาใจว่า “เขาทำได้อย่างไร?” เพราะไม่ทราบว่าแท้จริงแล้วครอบครัวของเขามีธุรกิจฟาร์มหอยนางรมและร้านอาหารทะเลชื่อดังติด 1 ใน 5 ของ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี มายาวนานกว่า 30 ปี ก่อนที่จะปิดตัวลงเมื่อปี 2550
แต่ด้วยเหตุที่เขา “มีและเข้าถึง” แหล่งวัตถุดิบอาหารทะเลราคาถูกได้เป็นจำนวนมาก จึงตัดสินใจ “รีแบรนด์ธุรกิจ” พร้อมกับรุกเข้ามายังกรุงเทพฯ โดยเลือกทำเลย่านสุขุมวิทเป็นที่ตั้งแรกเมื่อประมาณปี 2556 ก่อนที่จะย้ายไปยังซอยพหลโยธิน 11 และเพิ่มอีกสาขาที่ซอยอารีย์ สะพานควาย เมื่อปี 2557 ก่อนที่จะยุบรวมทุกสาขามาให้บริการเพียงแห่งเดียวย่านสวนจตุจักร เมื่อประมาณปี 2559
การ “รับไม้ต่อ” ธุรกิจอาหารทะเลตามสั่งแบบบุฟเฟต์ชื่อดังรายนี้ ยังมี “จุดพีค” ที่น่าสนใจคือ จากช่วงต้นที่เริ่มโมเดลรูปแบบใหม่ทำให้ต้องประสบภาวะปัญหาขาดทุนเฉลี่ยเดือนละประมาณ 5-6 แสนบาท เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง รวมเป็นเงิน 9 ล้านบาท แต่ไม่นานนักกลับพลิกลำทำยอดขายรวมได้ถึง 100 ล้านบาท !
กล่าวได้ว่ามีความน่าเชื่อถือจนถึงขั้นที่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA เคยนำเสนอเป็นบทความเผยแพร่บนเว็นไซต์ www.etda.or.th เมื่อปี 2559
แต่ทว่า ความน่าเชื่อถือของธุรกิจอาหารทะเลตามสั่งแบบบุฟเฟต์รายนี้กำลังต้องตกอยู่ในอาการ “สั่นคลอน” จากแรงโถมของนานาคอมเมนต์ของลูกค้าผู้บริโภคกลุ่มใหญ่บนโซเชียลมีเดียที่ไม่พอใจเพราะไม่ได้รับคำตอบกลับจากทีมงานถึงรายละเอียดในการใช้โปรโมชัน ทั้งยังเริ่มมีความเห็นคล้อยตามกันว่า ธุรกิจนี้กำลังนำเงินรายได้จากการขายโปรโมชันไปใช้ผิดประเภทในทางมิชอบในลักษณะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการหมุนเงิน การเล่นแชร์ลูกโซ่ หรือแม้แต่การฟอกเงิน จนถึงขั้นมีการชักชวนกันรวมตัวเพื่อจะไปแจ้งความร้องทุกข์กับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
ต้องยอมรับ “กุญแจแห่งความสำเร็จ” หรือ Key Success ที่ทำให้ธุรกิจอาหารทะเลตามสั่งแบบบุฟเฟต์รายนี้มีชื่อขึ้นมาได้คือ การใช้ “โซเชียลมีเดีย” และ “โลกออนไลน์” เป็นเครื่องมือสำคัญในการ “สร้างเรื่องราว” (Story Telling) ที่น่าสนใจผ่านภาพอาหารและบรรยากาศร้านที่มีความสวยงามและคุณภาพในระดับโปรดักชันมืออาชีพ รวมไปถึงการใช้ “อินฟลูเอนเซอร์” (Influencer) มากหน้าหลายตา ทั้งเซเลบริตี้และศิลปินดาราทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนมีการนำเสนอคลิปวิดีโอคุณภาพเยี่ยมที่เผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะเฟซบุ๊กแฟนเพจยังมีการถ่ายทอดสด (Live) อย่างต่อเนื่องจนมีผู้ติดตามมากถึง 2.2 แสนคน
นั่นคือ “แง่บวก” ที่แบรนด์ต่าง ๆ มองเห็นประโยชน์และคาดหวังที่จะได้รับจากการใช้โซเชียลมีเดีย เพราะถือเป็นสื่อที่ทรงพลังมหาศาลในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหมู่มากโดยใช้งบประมาณอันจำกัด
แต่หากขาดความตระหนักถึง “แง่ลบ” และขาดการจัดการแก้ไขในเวลาอันรวดเร็วเมื่อเกิดความผิดพลาด หรือมีปัญหาเร่งด่วน โดยไม่มีการสื่อสารและเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วม หรือ Engagement ในการร่วมกันช่วยคลี่คลายวิกฤตนั้น ๆ
ปัญหาเล็ก ๆ เพียง “หยิบปลายมือ” อาจเป็น “มหันตภัย” ที่เกินกว่าจะตั้งรับ เฉกที่ ธุรกิจอาหารทะเลตามสั่งแบบบุฟเฟต์รายนี้กำลังประสบก็เป็นได้ !