Special Story » [ชมคลิป] “เชียงใหม่ไมซ์เพื่อชุมชน” โมเดลใหม่ของ “ทีเส็บ” เพื่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานราก

[ชมคลิป] “เชียงใหม่ไมซ์เพื่อชุมชน” โมเดลใหม่ของ “ทีเส็บ” เพื่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานราก

10 ธันวาคม 2018
0

 

alivesonline.com : ถือเป็นก้าวสำคัญที่น่าจับตามอง “เชียงใหม่” ไม่น้อยสำหรับการพัฒนาจังหวัดให้มีความโดดเด่นครบทุกมิติ เมื่อมีการประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์จังหวัดเชียงใหม่ (2561-2564) เป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2561

ความเอาจริงเอาจังของ “เชียงใหม่” ครั้งนี้เป็นผลมาจาก การจัดอันดับการประชุมของ International Congress and Convention Association (ICCA) ในด้านสถิติการจัดอันดับ เมืองที่ไม่ใช่เมืองหลวงที่มีการประชุมมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน พบว่า ในปี 2559 เชียงใหม่มีการจัดประชุมนานาชาติเป็นอันดับที่ 2 โดยมีการประชุมถึง 20 ครั้ง โดยในปี 2560 เชียงใหม่ มีโอกาสต้อนรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์จากต่างประเทศ จำนวน 50,881 คน พร้อมรายได้ 4,700.38 ล้านบาท และมีนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในประเทศไทยเดินทางไปจัดกิจกรรม หรือเข้าร่วมงาน จำนวน 2,210,000 คน สร้างรายได้ 4,914.53 ล้านบาท

นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

เชียงใหม่ จึงเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการพัฒนาระดับสูงแทบจะรอบด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจการลงทุน การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม หัตถอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การบริการสุขภาพ การศึกษา และอื่น ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ ตามที่ นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์จังหวัดเชียงใหม่ว่า เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง จังหวัดเชียงใหม่, สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ”, คณะกรรมการส่งเสริมและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์จังหวัดเชียงใหม่ ตลอดจนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์เป็น “เชียงใหม่ นครที่เป็นที่สุดแห่งความสง่างามทางวัฒนธรรม จุดหมายปลายทางของกิจกรรมไมซ์ในเอเชีย” (Chiang Mai The Splendid City of Culture and Destination for MICE in Asia)

สำหรับพันธกิจในยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะมุ่งสนับสนุนการจัดงานไมซ์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ชุมชน พร้อมส่งเสริมภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยการบริการชั้นเลิศและมีอัตลักษณ์ของความเป็นวัฒนธรรม รวมถึงพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์บนฐานความรู้และพัฒนาผู้ประกอบการไมซ์ในพื้นที่ให้ได้มาตรฐานสากล ตลอดจนส่งเสริมแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืน เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาว โดยมีเป้าประสงค์เพิ่มจำนวนรายได้และนักเดินทางของกิจกรรมไมซ์ รวมถึงจำนวนนักเดินทางจากอุตสาหกรรมไมซ์จังหวัดที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจสมดุลและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์จะเน้นส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และการตลาดไมซ์แบบมุ่งเป้าตลาดเอเชีย พร้อมยกระดับการบริการและพัฒนาสินค้าท่องเที่ยวเพื่อสร้างโอกาสในกิจกรรมไมซ์โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรม รวมถึงพัฒนายกระดับบุคลากรที่มีส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่ ตลอดจนยกระดับและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการจัดกิจกรรมไมซ์

นายคมสัน ยังกล่าวด้วยว่า เชียงใหม่ มีพื้นที่ประมาณ 12.56 ล้านไร่ ประชากร 1.74 ล้านคน มีผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP) จำนวน 222,434 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากภาคบริการถึงร้อยละ 70.3 จึงมีการกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาจังหวัด โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาเป็น “นครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง” และกำหนดตำแหน่งการพัฒนา (Positioning) ให้เป็น “เมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวและบริการสากล” : “MICE CITY, Wellness City”

“ในปี 2560 เชียงใหม่ มีรายได้จากการท่องเที่ยว จำนวน 95,899.6 ล้านบาท นักท่องเที่ยว จำนวน 10,084,521 คน โดยคาดว่าในปี 2561 จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 104,820.36 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้การพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์จึงเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัด ทั้งยังเป็นการสนับสนุนการดำเนินการด้านการท่องเที่ยวให้เกิดแรงดึงดูดในการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน”

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ “ทีเส็บ”

 แนวทางการพัฒนาเมือง “เชียงใหม่” สู่การเป็น “ไมซ์เพื่อชุมชน”

ด้าน นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ “ทีเส็บ” กล่าวว่า “ทีเส็บ” มีแนวทางในการผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์ให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นตามนโยบายรัฐบาล โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2561-2564) ในยุทธศาสตร์ที่ 9 การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจนั้น มีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือให้เป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง เชียงใหม่ จึงเป็นหนึ่งในพื้นที่หลักตามแนวทางของ “ทีเส็บ” ในการพัฒนาเมืองสู่การเป็น “ไมซ์เพื่อชุมชน”

เนื่องเพราะ เชียงใหม่ จัดเป็นหนึ่งในห้าของ “ไมซ์ ซิตี้” ซึ่งมีสถานประกอบการประเภท ห้องประชุมและประเภทสถานที่จัดงานแสดงสินค้า เป็นจำนวนถึง 18 แห่ง รวม 51 ห้องที่ผ่าน “มาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย” (Thailand MICE Venue Standard :TMVS) ที่ใช้เป็นเกณฑ์การประเมินสถานประกอบการไมซ์

ขณะเดียวกันในปี 2561 ยังได้มีการยกระดับงานไมซ์ของจังหวัดให้เป็นระดับนานาชาติมากขึ้น พร้อมทั้งขยายขอบเขตของผู้เข้าร่วมงานและรูปแบบกิจกรรมที่จะส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดทางธุรกิจได้เพิ่มขึ้น อาทิ งาน Chiang Mai Bloom 2018 มีผู้เข้าร่วมงาน 183,569 คน และงาน Lanna Expo มีผู้เข้าร่วมงาน 253,504 คน

นอกจากนี้ ยังมีการประมูลสิทธิ์การจัดงานในระดับนานาชาติเข้ามาจัดที่เชียงใหม่อย่างต่อเนื่องทุกปี อาทิ งาน World Robot Olympaid 2018 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 มีผู้เข้าร่วมงาน 10,000 คน งาน Chiangmai Design Week 2018 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2561 คาดว่ามีผู้เข้าร่วมงาน 400,000 คน งาน Endoscopic and Laparoscopic Surgeons of Asia 2019 คาดว่ามีผู้เข้าร่วมงาน 1,500 คน และงาน Route Asia 2020 คาดว่ามีผู้เข้าร่วมงาน 1,200 คน

เพิ่มรายได้อุตสาหกรรมไมซ์เชียงใหม่ผ่าน 6 เส้นทางหลัก

นายจิรุตถ์ กล่าวด้วยว่า จากวิสัยทัศน์ “นครที่เป็นที่สุดแห่งความสง่างามทางวัฒนธรรม จุดหมายปลายทางของกิจกรรมไมซ์ในเอเชีย” ของเชียงใหม่นั้น “ทีเส็บ” จะดำเนินการสร้างโปรแกรมหลังการประชุมที่เป็นมาตรฐาน ตลอดจนการพัฒนากิจกรรมและการบริการที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ซึ่งถือเป็นรูปแบบสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อให้เป้าหมายการกระจายรายได้ผ่านอุตสาหกรรมไมซ์นั้นบรรลุผล ใน 6 เส้นทางหลัก ได้แก่

1.เส้นทางกิจกรรม CSR และการประชุมเชิงอนุรักษ์ อาทิ สหกรณ์นิคมแม่แตงจำกัด อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก รวมถึงการเปิดประสบการณ์ผู้เข้าร่วมประชุมให้ได้สัมผัสกับวิถีชุมชนท้องถิ่น ณ ชุมชนบ้านออนใต้ ซึ่งได้รับการพัฒนาให้เป็น “ต้นแบบโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” (Creative Industry Village : CIV) ซึ่งถือเป็นการนำทุนวัฒนธรรม วิถีชีวิตดั้งเดิม มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ โดยการออกแบบและสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าที่ระลึกและผลิตภัณฑ์ ตลอดจนบริการต่าง ๆ ในชุมชน ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมจะได้เรียนรู้ ชมการสาธิตขั้นตอนการสร้างสรรค์ชิ้นงานต่าง ๆ และทดลองลงมือทำด้วยตนเอง

2.เส้นทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม การเยี่ยมชมสถานที่ที่มีประวัติความเป็นมาและมีความผูกพันทางจิตใจของคนรุ่นหลัง อาทิ บ้านถวาย, กิจกรรรมบวชต้นยางนา อ.สารภี ซึ่งเป็นประเพณีโบราณของชาวจังหวัดเชียงใหม่ และการประดิษฐ์โคมและทดลองประดิษฐ์โคมโดยปราชญ์ชาวบ้าน “แม่ครูโคมล้านนา” หรือ“แม่ครูบัวไหล คณะปัญญา” แห่งชุมชนเมืองสาตรหลวง ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มงานหัตถกรรมการทำโคมล้านนาโดยประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุพื้นบ้าน

3.เส้นทางการสร้างทีมเวิร์ค ผ่านกิจกรรมที่ระดมความคิดแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน อาทิ ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า และปันผลฟาร์ม เป็นต้น

4.เส้นทางการผจญภัย ที่มีกิจกรรมทางกายภาพ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ อาทิ อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก

5.เส้นทางกิจกรรมนำเสนออาหารไทย ในทุกการจัดงานที่หลากหลาย เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเดินทาง อาทิ บ้านหัวฝาย ชุมชนบ้านดงบัง เป็นต้น

6.เส้นทางการจัดงานและกิจกรรมหรูหรามีระดับ ซึ่งเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นในระยะหลังเพื่อมอบประสบการณ์สุดพิเศษในกับนักเดินทางกลุ่มไมซ์

 

 

 

ผนึกชุมชนสหกรณ์ทั่วประเทศขับเคลื่อน “ไมซ์เพื่อชุมชน”

นายจิรุตถ์ กล่าวด้วยว่า หลังจากที่ “ทีเส็บ” ร่วมมือกับ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดตัวโครงการ “ไมซ์เพื่อชุมชน” เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2561 เพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชนให้เป็นจุดหมายปลายทางใหม่รองรับการจัดงานไมซ์ในรูปแบบใหม่ซึ่งจะเป็นการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค พร้อมสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นที่มีความพร้อมได้พัฒนาสู่การรองรับธุรกิจการจัดงานไมซ์ โดยเฉพาะในเรื่องของการเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับชุมชน หรือจัดกิจกรรมพิเศษตามวาระโอกาสขององค์กรธุรกิจต่าง ๆ ด้วยจุดแข็งด้านความคิดสร้างสรรค์บนพื้นฐานทรัพยากรและอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน ซึ่งจะสามารถเป็นช่องทางใหม่ด้านรายได้แก่สหกรณ์ได้

“การส่งเสริมให้เกิดการศึกษาดูงานในชุมชน นับเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะสร้างรายได้ให้ชุมชน โดยมีสหกรณ์การเกษตรเป็นศูนย์กลางของชุมชนเป็นตัวกลางประสานงานรวบรวมสินค้าพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ทั้งสินค้าประเภทอาหาร ขนมพื้นบ้าน สินค้าเกษตรแปรรูปและอื่น ๆ ที่ชุมชนภาคภูมิใจมาเล่าสู่ผู้ที่เข้าไปศึกษาดูงาน ขณะเดียวกันจากการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแข็งแกร่ง ถือเป็นการส่งเสริมให้การพัฒนาเชียงใหม่เป็นเมืองไมซ์ซิตี้ศูนย์กลางของภาคเหนืออย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ”

นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์

“แม่แตง-ดอยสะเก็ดพัฒนา” 2 สหกรณ์นำร่อง “เชียงใหม่ไมซ์ชุมชน”

นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการ “ไมซ์เพื่อชุมชน” ว่า ปัจจุบันมีสหกรณ์ทั่วประเทศ 8,171 แห่ง และกลุ่มเกษตรกรอีก 4,924 แห่ง สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรรวมกว่า 12 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 5.5 ของประชากรประเทศไทย โดยเฉพาะสหกรณ์ในภาคการเกษตรที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมเกษตรกรที่เป็นสมาชิกผลิตสินค้าการเกษตรที่สำคัญหลากหลายชนิด ทั้งสินค้าเพื่อการบริโภค ได้แก่ ข้าว ผัก ผลไม้ นม กาแฟ ไข่ไก่ โคเนื้อ รวมถึงสินค้าทางเศรษฐกิจระดับประเทศ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และอ้อย ซึ่งหากสหกรณ์ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม ย่อมส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชน และส่งผลต่อการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้กับชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

โครงการ “ไมซ์เพื่อชุมชน” ถือเป็นการบูรณาการความร่วมมือทั้งหน่วยงานราชการ องค์กรธุรกิจ มูลนิธิ และภาคประชาสังคม โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานราก ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการส่งเสริมการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และนับเป็นโอกาสอันดีสำหรับสหกรณ์ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในด้านการผลิตสินค้าและบริการ จะได้เปิดพื้นที่ต้อนรับตัวแทนของภาคเอกชนซึ่งเป็นคณะผู้เข้าร่วมประชุมกับ “ทีเส็บ” ได้เข้ามาศึกษาดูงาน และนำไปสู่การแลกเปลี่ยนประสบการณ์องค์ความรู้ด้านธุรกิจระหว่างสหกรณ์กับภาคเอกชน

เบื้องต้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ คัดเลือกสหกรณ์ 35 แห่งใน 27 จังหวัดเข้าร่วมโครงการ “ไมซ์เพื่อชุมชน” โดยมีเป้าหมายเพิ่มเป็น 235 แห่งในปี 2562 ในขณะที่ เชียงใหม่ มีสหกรณ์และชุมชนมากกว่า 100 แห่ง โดยในระยะแรกสหกรณ์ที่มีความพร้อมดำเนินงานดังกล่าว ได้แก่ สหกรณ์นิคมแม่แตงจำกัด และ สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด ซึ่งถือเป็นพื้นที่นำร่องในการนำงานเพื่อสังคมของภาคเอกชนเข้าไปจัดกิจกรรมไมซ์

“กรมส่งเสริมสหกรณ์ มีการทำงานร่วมกับ ทีเส็บ ในการพัฒนาสหกรณ์และชุมชนต่าง ๆ ให้มีความพร้อมและปรับตัวในด้านต่าง ๆ ทั้งบุคลากร สถานที่ สินค้าและบรรจุภัณฑ์ และอื่น ๆ เพื่อต้อนรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์ โดยเน้นใน 5 กิจกรรมหลักคือ กิจกรรมเกษตรปลอดภัย กิจกรรมฟาร์มปศุสัตว์สุขใจ กิจกรรมประมงสัตว์น้ำไทย กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ท้องถิ่น และกิจกรรมตามรอยพ่อเศรษฐกิจพอเพียง โดยคาดว่าหลังเทศกาลสงกรานต์ 2562 จะมีสหกรณ์ 5-6 แห่งทั่วประเทศที่สามารถดำเนินงานได้ครบทั้ง 5 กิจกรรม จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 70-90 แห่งภายในปี 2562”

จากนี้ไป “เชียงใหม่ไมซ์เพื่อชุมชน” จึงเป็นที่น่าติดตามว่าจะสัมฤทธิ์ผลตามเป้าประสงค์ของ “ทีเส็บ” และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการมุ่งพัฒนาเมืองให้เป็น “ไมซ์ ซิตี้” ได้อย่างยั่งยืนดั่งเจตนารมย์ในเร็ววันเกินคาดหรือไม่.